เทคโนโลยี IoT ทางออก 'ชาวสวนทุเรียน' ยุคใหม่

เทคโนโลยี IoT ทางออก 'ชาวสวนทุเรียน' ยุคใหม่

เทคโนโลยี IoT ถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจที่เข้ามาช่วยปลดล็อกอุปสรรคจากวิกฤติสภาพอากาศแปรปรวน โดยเทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้แก่เกษตรกรชาวสวนทุเรียนไทย ซึ่งเป็นพืชที่สร้างรายได้จากการส่งออกมากถึงปีละ 1 พันล้านดอลลาร์

ปัจจุบันภาคเกษตรกรรมทั่วโลกล้วนเผชิญกับสภาพอากาศที่มีความแปรปรวนและรุนแรงขึ้นกว่าแต่ก่อน สะท้อนจากปรากฏการณ์เอลนิโญ่ ในระหว่างปี 2010-2019 ที่ทวีความรุนแรงและเกิดบ่อยครั้งขึ้นเมื่อเทียบกับช่วง 10 ปีก่อนหน้า สอดคล้องกับจำนวนครั้งที่เกิดภัยพิบัติที่เพิ่มขึ้นกว่า 30 เท่าในช่วงเวลาไม่ถึงหนึ่งศตวรรษ หรือเฉลี่ย 600-700 ครั้งต่อปี และมีโอกาสที่สภาพอากาศโลกในปี 2050 จะรุนแรงขึ้นกว่าในปัจจุบันอีก 4 ถึง 5 เท่า

ขณะที่องค์การสหประชาชาติ (United Nations) ก็ยืนยันอีกเสียงว่า ในช่วงปี 2011-2050 ผลผลิตทางการเกษตรทั่วโลกคาดว่าจะลดลงเฉลี่ยปีละ 1.1% โดยเฉพาะผลผลิตในประเทศเขตร้อนอย่างประเทศไทย

ไม่เว้นแม้แต่พืชเศรษฐกิจที่สำคัญในพื้นที่อีอีซีอย่าง “ทุเรียน” ซึ่งให้ผลผลิตต่อปีถึงกว่า 5 แสนตัน หรือคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของผลผลิตทุเรียนทั่วประเทศ ทั้งยัง เป็นผลไม้เศรษฐกิจที่สำคัญของไทย ที่สร้างรายได้จากการส่งออกมากถึงปีละ 1 พันล้านดอลลาร์ ก็ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่แปรปรวนเช่นกัน

IoT ถือเป็นตัวเลือกที่เข้ามาช่วยปลดล็อกอุปสรรคจากวิกฤติอากาศแปรปรวน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกรณีที่ฝนทิ้งช่วงตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ประกอบกับภัยแล้งที่รุนแรงสุดในรอบ 10 ปี ส่งผลให้ปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของทุเรียน จึงทำให้ต้นไม้เหี่ยวเฉาและผลผลิตเริ่มร่วงหล่น สร้างความเสียหาย ทั้งปริมาณและคุณภาพของทุเรียนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เทคโนโลยีทางการเกษตรที่เรียกว่า “อินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง” (Internet of Things : IoT) จึงน่าจะเป็นตัวช่วยที่มาใช้แก้ปัญหาดังกล่าว โดยมีเทคโนโลยี “เซ็นเซอร์” เป็นหัวใจสำคัญในการติดตามและตรวจสอบสถานะข้อมูลที่จำเป็นในการเพาะปลูกแบบเรียลไทม์ เพื่อช่วยผู้ประกอบการในการตัดสินใจและการบริหารจัดการการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ซึ่งแน่นอนว่าจะช่วยตอบโจทย์เกษตรกรชาวสวนทุเรียน ในการคาดการณ์สภาพอากาศล่วงหน้า ช่วยวางแผนการเพาะปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังสามารถควบคุมปริมาณน้ำได้อย่างพอเหมาะ ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักของการปลูกทุเรียน

ยิ่งกว่านั้นยังมีภาพถ่ายดาวเทียม ที่จะทำให้สามารถติดตามสุขภาพพืชได้อย่างทั่วถึง โดยไม่ต้องลงไปตรวจสอบพื้นที่ด้วยตัวเอง พร้อมทั้งมีฟังก์ชันแจ้งเตือนหากเกิดความผิดปกติ ทำให้เกษตรกรสามารถแก้ไขได้อย่างทันท่วงที

โดยสรุปแล้ว เทคโนโลยี IoT ถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจที่เข้ามาช่วยปลดล็อกอุปสรรคจากวิกฤติสภาพอากาศแปรปรวน รวมทั้งเพิ่มความสามารถ ในการแข่งขันให้แก่เกษตรกรชาวสวนทุเรียนไทย

นอกจากนี้ ภาครัฐก็ได้ให้การสนับสนุน IoT สำหรับภาคการเกษตร ซึ่งเป็นหนึ่งอุตสาหกรรมเป้าหมายในกลุ่ม S-Curve ทำให้ในอนาคต IoT จะกลายเป็นจุดตั้งต้นสำคัญที่จะถูกนำมาพัฒนาร่วมกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) ที่จะทำหน้าที่คิด วิเคราะห์ วางแผน และตัดสินใจในกระบวนการเพาะปลูกแทนมนุษย์มากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ การส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยี IoT สำหรับธุรกิจเกษตรอย่างจริงจัง ย่อมส่งผลให้ต้นทุนด้านเทคโนโลยีมีแนวโน้มถูกลง และสามารถจับต้องได้มากขึ้น ทำให้การนำเทคโนโลยีด้านการเกษตร เพื่อขจัดปัญหาสภาพอากาศแปรปรวนไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวอีกต่อไป