ถอดรหัส 'เสียวหมี่' เบียดชิง เบอร์ 1 สมาร์ทโฟนไทย

ถอดรหัส 'เสียวหมี่' เบียดชิง เบอร์ 1 สมาร์ทโฟนไทย

‘เสียวหมี่’ แบรนด์เทคโนโลยีจาก ‘จีน’ ยังคงสร้างแรงกระเพื่อมให้ตลาดสมาร์ทดีไวซ์โลก และในไทยอย่างต่อเนื่อง การก้าวขึ้นบัลลังก์เบอร์ 1 สมาร์ทโฟนในไตรมาสที่ 1 ปีนี้ เป็นบทพิสูจน์ของความ “ไม่ธรรมดา” ในเชิงกลยุทธ์

แม้จะเริ่มเข้ามาทำตลาดในไทยได้แค่ราวๆ 4-5 ปี แต่กลับสามารถสร้างปรากฏการณ์ใหม่ เก็บส่วนแบ่งการตลาดสมาร์ทโฟนไว้มากที่สุดในประเทศ ท่ามกลางวิกฤติโควิดที่ทุกแบรนด์ต่าง “เจ็บหนัก”

‘โจนาธาน คัง’ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท เสียวหมี่ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึง ความสำเร็จจากการสร้างยอดขายสมาร์ทโฟน และมีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับหนึ่งในประเทศไทย จากการสำรวจของการ์ทเนอร์ ที่ระบุ เสียวหมี่ มีส่วนแบ่งการตลาดในประเทศไทยไตรมาสแรก ปี 2563 ด้วยสัดส่วน 16.2% มียอดขายกว่า 691,000 เครื่อง เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ธุรกิจสมาร์ทโฟนของเสี่ยวหมี่ ได้รับการยอมรับในตลาดเป็นอย่างดี และมีจำนวน หมี่ แฟน (Mi Fans) เพิ่มขึ้น

การ์ทเนอร์ ระบุว่า ผลจากความผันผวนทางเศรษฐกิจ ที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ยอดจำหน่ายของกลุ่มผู้ผลิตสมาร์ทโฟนทั่วโลกลดลงในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 มีเพียงเสียวหมี่เท่านั้นที่มียอดขายเพิ่มขึ้น เสียวหมี่มียอดขายสมาร์ทโฟนทั่วโลกช่วงไตรมาสแรก ปี 2563 เพิ่มขึ้น ก้าวสู่อันดับ 4 ของตลาดโลก ด้วยส่วนแบ่งการตลาด 9.3% คิดเป็นจำนวนเครื่อง 27,817,000 ยูนิต เพิ่มขึ้น 1.4% เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2562 มีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 7.3%

“ปีนี้ เราจะนำเสนอสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ มากขึ้น รวมถึงกลุ่มสินค้าสมาร์ทโฮมที่หลากหลาย เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคชาวไทยที่มีมากขึ้น ล่าสุด เสียวหมี่ได้เปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ เรดหมี่ โน้ต 9 โปร และเรดหมี่ โน้ต 9 ร่วมด้วย หมี่ โน้ต 10 ไลท์ และนี่เป็นเพียงการเริ่มต้นเท่านั้น” คัง กล่าว

จากข้อมูลของ Canalys ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยตลาด เสียวหมี่ประสบความสำเร็จในการฝ่าฟันอุปสรรคจากการชะลอตัวของตลาดและสามารถมีการเติบโตของยอดการจัดส่งเมื่อเทียบปีต่อปีสูงสุดในบรรดาบริษัทสมาร์ทโฟนชั้นนำในอันดับ 5 ของโลก ในขณะเดียวกันอัตราการเข้าถึง 5จี ของสมาร์ทโฟนของเสียวหมี่ในประเทศจีนอยู่ที่ระดับ 25.9% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นผู้นำในตลาดสมาร์ทโฟน 5จี และการใช้กลยุทธ์ Dual-Engine “สมาร์ทโฟน + AIoT” ที่มีประสิทธิภาพอีกด้วย

เจาะกลยุทธ์ “ไม่ธรรมดา”

ไทยเป็นตลาดที่มีการเปลี่ยนเครื่องสมาร์ทโฟนสูงมาก เป็นโอกาสที่ดีของเสียวหมี่ในการนำเสนอสมาร์ทโฟนที่มีนวัตกรรมใหม่ๆ ปัจจุบันไทยเป็นฮับของตลาดสมาร์ทโฟนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากอินโดนีเซีย

หนึ่งในกลยุทธ์เสียวหมี่ที่ถูกกล่าวขานมานาน คือ คณะกรรมการเสียวหมี่ อนุมัติมติของบริษัท ระบุว่า อัตรากำไรสุทธิโดยรวมต่อปีของเสียวหมี่ต่อผลิตภัณฑ์ฮาร์ดแวร์ไม่ควรเกินกว่า 5% นั่นแปลว่า เสียวหมี่จะไม่เอากำไรเกิน 5% จากผลิตภัณฑ์ฮาร์ดแวร์ของตัวเองเพื่อทำให้ราคาขายสินค้าต่ำลง ผลิตภัณฑ์ของเสียวหมี่ จึงมักถูกเยินยอว่า ของถูกและดีมีอยู่จริง รวมถึง กลยุทธ์‘ 5จี + AIoT’ ที่จะเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับสมาร์ทโฟน และสมาร์ทดีไวซ์ของเสียวหมี่ เพื่อให้ทุกคนในโลกมีความสุขกับชีวิตที่ดีขึ้นจากเทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรม

เสียวหมี่ ไม่ได้มีแค่สมาร์ทโฟน แต่ยังมีผลิตภัณฑ์ที่มีความสมาร์ทอีกมากมาย ผลจากการศึกษาตลาดถึงความต้องการลูกค้าในช่วงเวลานั้นๆ และพัฒนาสมาร์ทดีไวซ์ตอบโจทย์ให้ทันท่วงที กลายเป็น หนึ่งในจุดแข็งของเสียวหมี่ เราจึงได้เห็นเครื่องฟอกอากาศเสียวหมี่ ที่ขายดีอย่างมากในช่วงวิกฤติฝุ่น รวมไปถึง สมาร์ททีวี หมี่ บ็อกซ์ (Mi Box) และผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีกมากมาย

ทั้งยังมองการณ์ไกล มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีระบบเชื่อมโยงถึงกัน มีแอพพลิเคชั่นกลางในการจัดการ ทำให้เสี่ยวหมี่สามารถต่อยอดบริการในอนาคตได้อีกมากมาย แกนเทคโนโลยีที่สำคัญของเสียวหมี่ คือ การดึงเอาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ และอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ หรือไอโอที ฝังลงในผลิตภัณฑ์เกือบทุกตัวของเสียวหมี่

แต่เดิมเสียวหมี่ ใช้วิธีขายผ่านออนไลน์เป็นหลัก เพื่อความสะดวกในการเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภควงกว้าง จนเมื่อแบรนด์เริ่มกลายเป็นที่รู้จักจึงขยายช่องทางในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซมากขึ้น และทำยอดขายได้สูงสุดทั้งในลาซาด้า และช้อปปี้ เมื่อแบรนด์กลายเป็นที่รู้จัก เสียวหมี่ จึงใช้วิธีการสร้างตัวแทนจำหน่าย (Authorized Dealer) ขึ้นมาในแต่ละพื้นที่ของกลุ่มลูกค้า เพื่อเพิ่มการตัดสินใจและยังให้ลูกค้าได้มีตัวเลือกที่มากขึ้นจากหน้าร้าน ปัจจุบันเสียวหมี่มีตัวแทนจำหน่ายในไทยมากกว่า 50 สาขา ในชื่อ หมี่ สโตร์ ( Mi Store)

"เราไม่ใช่บริษัทฮาร์ดแวร์แบบดั้งเดิม และเราไม่ได้พึ่งพาผลกำไรจากฮาร์ดแวร์เพียงอย่างเดียวสำหรับความยั่งยืนของบริษัท Xiaomi เป็นบริษัทอินเทอร์เน็ตที่มีสมาร์ทโฟน ผลิตภัณฑ์ระบบนิเวศ และแพลตฟอร์มไอโอที เป็นแกนหลักเสียวหมี่ เชื่อว่า การสัมผัสชีวิตของผู้ใช้และการให้ความสำคัญต่อราคา เป็นปัจจัยสองอย่างที่แยกออกไม่ได้ แต่เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการได้รับความไว้วางใจจากผู้ใช้ของเสียวหมี่" เหลย จวิน ผู้ก่อตั้ง ประธานกรรมการ และซีอีโอของ เสียวหมี่ เคยกล่าวไว้

รายรับรวมครึ่งหนึ่งมาจากตลาดต่างประเทศ

ข้อมูลจากเสียวหมี่ ระบุด้วยว่า รายรับจากต่างประเทศของเสียวหมี่เพิ่มขึ้น 47.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น 24.8 พันล้านหยวน ในไตรมาสแรกของปี 2563 ซึ่งคิดเป็น 50.0% ของรายรับทั้งหมด ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่รายรับจากต่างประเทศคิดเป็นครึ่งหนึ่งของรายรับทั้งหมด

ในไตรมาสแรกของปี 2563 สมาร์ทโฟนของเสียวหมี่ครองส่วนแบ่งตลาดประมาณ 31.2 % ของยอดการจัดส่งในอินเดียและเป็นอันดับที่ 1 ติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 11 จากข้อมูลของ IDC โดยเสียวหมี่ได้ยกระดับความเป็นผู้นำในตลาดอินเดีย และมีการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในตลาดประเทศใกล้เคียง จากข้อมูลของ Canalys เสียวหมี่เป็นอันดับที่ 1 ในยอดการจัดส่งสมาร์ทโฟนในประเทศเนปาลในไตรมาสแรกของปี 2563 โดยมีส่วนแบ่งการตลาดถึง 30.9 % ซึ่งเทียบเท่ากับส่วนแบ่งการตลาดของ บริษัท สมาร์ทโฟนอันดับ 2 และอันดับ 3 รวมกัน

นอกจากนี้ เสียวหมี่ยังมีการเติบโตที่โดดเด่นในตลาดต่างประเทศที่สำคัญ จากข้อมูลของ Canalys ในไตรมาสแรกของปี 2563 เสียวหมี่มียอดขายสมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้น 58.3 % เมื่อเทียบปีต่อปี ในตลาดยุโรป โดยคิดเป็นสัดส่วน 14.3 % ของส่วนแบ่งตลาดและติดอยู่ในท็อป 4 นอกจากนั้นเสียวหมี่ยังติดอยู่ในท็อป 4 ในประเทศอิตาลี ฝรั่งเศส และเยอรมนี จากข้อมูลของ Canalys ยอดการจัดส่งสมาร์ทโฟนของเสียวหมี่ในยุโรปตะวันตกเพิ่มขึ้น 79.3 % เมื่อเทียบปีต่อปี ในประเทศสเปน เสียวหมี่กลายเป็นบริษัทสมาร์ทโฟนอันดับ 1 ด้วยยอดการจัดส่งที่มีส่วนแบ่งตลาดถึง 28.0 % ในละตินอเมริกา เสียวหมี่มีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ในอันดับที่ 5 จากยอดการส่งมอบสมาร์ทโฟนที่เพิ่มขึ้น 236.1 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่ตลาดโดยรวมกำลังถดถอย นอกจากนี้ยอดการส่งมอบสมาร์ทโฟนในตะวันออกกลางและแอฟริกาของเสียวหมี่ยังเพิ่มขึ้น 55.2 % และ 284.9 % ตามลำดับ

เสียวหมี่ เชื่อมั่นว่าการแสวงหาประสบการณ์จากผลิตภัณฑ์ คือสิ่งที่สำคัญมากกว่าการหาผลกำไรจากการขายฮาร์ดแวร์เพียงครั้งเดียว และเชื่อว่าการกำหนดราคาที่เหมาะสมเป็นที่นิยมมากขึ้นเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่เพิ่มขึ้นตามระดับชั้นของผลิตภัณฑ์

"เราเชื่อว่าผลิตภัณฑ์มวลชนควรได้รับการควบคุมอย่างแข็งขัน โดยมีผลกำไรที่สมเหตุสมผล และนี่จะกลายเป็นแนวโน้มที่ไม่อาจปฏิเสธได้ในอนาคต การเคลื่อนไหวใด ๆ ที่ต้องตามมาเพื่อหาอัตรากำไรที่สูงขึ้นจะเป็นหนทางที่จะทำให้ผู้บริโภคไม่กลับคืนมา"

"ภารกิจของเราคือการนำนวัตกรรมสู่ทุกคน เราต้องการให้ทุกคนในโลกเพลิดเพลินไปกับความสุขและผลประโยชน์ที่เทคโนโลยีสามารถนำมาสู่ชีวิตของเราได้ นอกเหนือจากเทคโนโลยีสมาร์ทโฟนแล้ว เราได้จำลองรูปแบบธุรกิจของเราให้มีผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานภายในบ้านมากกว่า 100 รายการ โดยให้ความสำคัญเท่าๆกับสมาร์ทโฟนที่ เสียวหมี่ มี สิ่งนี้ช่วยให้สามารถเจาะตลาดบ้านอัจฉริยะได้อย่างรวดเร็วและสร้างแพลตฟอร์มไอโอที สำหรับผู้บริโภครายใหญ่ที่สุดในโลก" ผู้ก่อตั้ง ประธานกรรมการ และซีอีโอของ เสียวหมี่ กล่าว