กองทุน 'บัตรทอง' คัดกรองโควิด-19 ดูแลคนไทยทุกสิทธิ์

กองทุน 'บัตรทอง' คัดกรองโควิด-19 ดูแลคนไทยทุกสิทธิ์

สิทธิประโยชน์บัตรทอง "คัดกรองโควิด-19" ครอบคลุมคนไทยทุกสิทธิ 3 เดือน บริการคัดกรองแล้ว 1.71 แสนครั้ง สิทธิ "ประกันสังคม" รับการคัดกรองมากที่สุด 9 หมื่นครั้ง รองลงมาสิทธิ "บัตรทอง" 4.9 หมื่นครั้ง และสวัสดิการข้าราชการ 2.5 หมื่นครั้ง

เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.63  นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การคัดกรองและตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด -19 เป็นมาตรการสำคัญเพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดตามหลักวิชาการ ในการค้นหาผู้ติดเชื้อเร็วที่สุดและนำเข้าสู่การรักษา ช่วยลดการแพร่ระบาดของเชื้อได้อย่างมีประสิทธิผล ที่ผ่านมา สปสช. ได้บรรจุเป็นสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2563 จากข้อมูลผลดำเนินการถึงวันที่ 22 พฤษภาคม ที่ผ่านมา มีห้องปฏิบัติการตรวจเชื้อโควิด-19 ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจากกรมวิทยาการแพทย์และร่วมขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้านเทคนิคการแพทย์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจำนวน 148 แห่ง โดยเป็นหน่วยบริการภาครัฐ 104 แห่ง และภาคเอกชน 44 แห่ง

ทั้งนี้ ช่วงระยะเวลาเกือบ 3 เดือนที่ผ่านมา มีประชาชนเข้ารับบริการตรวจคัดกรอง และตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยัน (RT-PCR) จำนวน 171,440 ครั้ง รวมเป็นค่าบริการจ่ายชดเชยจำนวน 418.22 ล้านบาท และเมื่อแยกข้อมูลผู้รับบริการตามสิทธิหลักประกันสุขภาพ พบว่าเป็น

  • ผู้มีสิทธิ "ประกันสังคม" ที่เข้ารับบริการคัดกรองโควิด-19 มากที่สุดจำนวน 90,035 ครั้ง หรือ ร้อยละ 52.31
  • ผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) จำนวน 49,533 ครั้ง หรือร้อยละ 28.86
  • ผู้มีสิทธิสวัสดิการข้าราชการจำนวน 25,220 ครั้ง หรือร้อยละ 14.88
  • สิทธิหลักประกันสุขภาพอื่นๆ อีกจำนวน 6,652 ครั้ง หรือร้อยละ 3.95

นอกจากนี้เมื่อดูบริการตรวจคัดกรองฯ โดยจำแนกตามเขต ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ กทม. เข้าถึงบริการมากที่สุดจำนวน 63,193 คน รองลงมาเขต 4 สระบุรีจำนวน 62,139 คน และเขต 6 ระยองจำนวน 12,445 คน    

จากจำนวนการตรวจคัดกรองดังกล่าว เมื่อรวมกับจำนวนการตรวจคัดกรองที่กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการก่อนหน้านี้ในช่วงที่เริ่มแพร่ระบาดและทำการเฝ้าระวัง ทำให้มีประชาชนได้รับบริการคัดกรองและตรวจทางห้องปฏิบัติการ RT-PCR แล้วจำนวน 375,453 ครั้ง และเพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และมาตรฐานการเฝ้าระวังสถานการณ์แพร่ระบาดขององค์การอนามัยโลก (WHO) และมั่นใจต่อมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของประเทศไทยได้ดำเนินการมา ว่าสามารถควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิผลหรือไม่

โดย สปสช.ได้ตั้งเป้าหมายการตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 ในปี 2563 อีกจำนวน 1.4 ล้านครั้ง พร้อมต่อเนื่องการตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 ในปี 2564 อีกจำนวน 3.25 ล้านครั้ง ซึ่ง สปสช.ได้นำเสนอภายใต้แผนการขอรับงบประมาณเพิ่มเติมสำหรับปี 2563-2564 ตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้เห็นชอบในการประชุมเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ที่ผ่านมา

“การตรวจคัดกรองโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 เป็นสิทธิประโยชน์ที่ สปสช.มอบให้กับคนไทยทุกคน เพื่อให้เข้าถึงการรักษาโดยเร็ว ซึ่งที่ผ่านมาไม่เพียงแต่ประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทองได้รับการดูแล แต่ยังมีผู้มีสิทธิประกันสังคมที่มีสัดส่วนรับการรตรวจคัดกรองมากที่สุด และผู้มีสิทธิสวัสดิการข้าราชการที่เข้ารับบริการ นอกจากนี้ยังเป็นกลไกสำคัญในการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสนี้” 

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า นอกจากนี้ในส่วนของวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เนื่องจากที่ผ่านมามีความคืบหน้าของการวิจัยและเตรียมการผลิตวัคซีนแล้ว สปสช.จึงต้องมีการจัดเตรียมงบประมาณรองรับ เบื้องต้นคาดว่าด้วยจำนวนการผลิตวัคซีนที่ยังจำกัด ในการฉีดจึงต้องเน้นที่กลุ่มเสี่ยงก่อน โดยในปี 2563 และปี 2564 สปสช.ได้ตั้งเป้าจัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ปีละ 4 ล้านโด๊ส เป็นงบประมาณปีละ 1,320 ล้านบาท

159126493394