'สมศักดิ์' ชี้เหตุจำเป็นทางการเมือง คาดวางฐานแค่ 5 ปี

'สมศักดิ์' ชี้เหตุจำเป็นทางการเมือง คาดวางฐานแค่ 5 ปี

เคลียร์ปม "สมคิด" สัมพันธ์ ไม่เกี่ยว "กลุ่มสามมิตร" อีกต่อไป

ความจำเป็นทางการเมือง คือ คำตอบ ที่ชัดเจนและตรงไปตรงมา ในการผลักดัน “บิ๊กบราเธอร์" แห่ง คสช. ขึ้นมาเป็นผู้นำพรรคพลังประชารัฐ แกนนำรัฐบาล เพื่อไปต่อทางการเมืองได้อย่างมั่นคง 

ทว่าการตัดสินใจของนักการเมืองในพรรคนี้ จะตอบโจทย์การเมือง และกระแสสังคม มากน้อยแค่ไหน และเป็นไปตามความคาดหวังหรือไม่

หนึ่งในแกนนำกลุ่มสามมิตรคนสำคัญ สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ในฐานะแกนนำพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ออกโรงเคลียร์ประเด็นความขัดแย้งภายในพรรค กรณีความเคลื่อนไหวในการเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระทั่งล่าสุด กรรมการบริหารพรรค พปชร.เกินครึ่ง 18 คน ยื่นใบลาออก จนส่งผลให้พรรคต้องปรับโครงสร้าง เลือกผู้นำและคณะผู้บริหารพรรคชุดใหม่

“สมศักดิ์” เปิดแถลง ที่ร้านกินเส้น ย่านสนามบินน้ำ กทม. แม้จะยืนยันว่าการปรับเปลี่ยนกรรมการบริหารพรรคไม่มีความขัดแย้งหรือการทะเลาะกันในพรรค แต่เหตุผลที่สำคัญกว่า​ คือการปรับเปลี่ยนพรรคให้มีความกระฉับกระเฉง เพื่อก้าวไปสู่การเป็นพรรคการเมืองอันดับหนึ่ง จากปัจจุบันที่พลังประชารัฐ เป็นพรรคการเมืองอันดับ 2 และเพื่อเตรียมความพร้อมไปสู่การเลือกตั้งในอีก 3 ปีข้างหน้า

“พรรคพลังประชารัฐ เป็นพรรคการเมืองใหม่ แม้ที่จริงยังไม่ใช่พรรคที่มีเสียง ส.ส. มากที่สุดในสภา แต่เมื่อได้รับโอกาสเป็นส่วนหนึ่งในการจัดตั้งรัฐบาล พรรคต้องมีกิจกรรมทางการเมืองที่กระฉับกระเฉง และมุ่งมั่นเพื่อที่จะเป็นหลักในทางการเมือง การปรับปรุงองค์ประกอบของพรรค คือการปรับพื้นฐานของพรรคให้มีความหนักแน่น มั่นคงมากขึ้น จะนำพาพรรคไปสู่การเป็นเสาหลักที่มั่นคงของประเทศต่อไป โดยความสามารถในการรองรับการเปลี่ยนแปลง เป็นคุณสมบัติของพรรคการเมืองที่ดี” สมศักดิ์ เกริ่นถึงทิศทางพรรค

เขาระบุด้วยว่า “ดังนั้นการปรับปรุงพรรคจะเกิดขึ้นไปได้เรื่อยๆ ซึ่งเป็นธรรมชาติของพรรคที่มีโครงสร้างที่ยืดหยุ่นสามารถรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ได้ ดังตัวอย่างของพรรคการเมืองในอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็นพรรคอนุรักษนิยมหรือพรรคแรงงาน ก็จะเห็นการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารพรรคอยู่ตลอดเวลา เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในทางการเมือง”

      

สมศักดิ์ ระบุว่า “การปรับโครงสร้างทางการเมือง ไม่ได้หมายความว่า ผู้บริหารเดิมจะไม่สามารถกลับมาได้อีก บุคคลที่เข้าใจชาวบ้าน เข้าใจชาวชนบท เข้าใจ ส.ส. ย่อมได้รับคะแนนนิยมในพรรค ทั้งท่านหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค หรือท่านประธานยุทธศาสตร์ของพรรค ก็สามารถกลับเข้ามาเป็นผู้บริหารสูงสุดของพรรคได้อีกเช่นกัน”

การลาออกของกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ เพื่อให้มีการเลือกตั้งกรรมการชุดใหม่ เปรียบเสมือนแก้วที่ตกผลึกแล้ว และกำลังจะถูกเจียระไนให้มีมูลค่าสูงขึ้น นายสมศักดิ์ ระบุเหตุผล

สมศักดิ์ ตอบคำถามถึงจำนวนกรรมการบริหารพรรคที่ยื่นลาออก ในความเป็นจริงแล้วมีมากกว่า 18 คนหรือไม่ ว่า เป็นเรื่องเทคนิคทางกฎหมาย เพราะกึ่งหนึ่งคือ 17 คน ดังนั้นแค่ 18 คนก็เพียงพอแล้ว ซึ่งถ้าออกเกือบหมด ก็ดูเหมือนไม่ให้กำลังใจกัน เพราะแต่ละคนที่บริหารมา ก็มีทั้งคนชอบและไม่ชอบ ดังนั้นขออย่านำตัวเลขไปวิเคราะห์ เพราะผิดหมด” 

สำหรับตัวของเขาเอง สมศักดิ์ ยืนยันว่าความสัมพันธ์ของเขา ดีกับทุกคน ไม่มีปัญหาอะไร 

ส่วนการปรับเปลี่ยนครั้งนี้ อาจส่งผลต่อคนบางกลุ่มในพรรค จนมีกระแสข่าวว่า อาจนำไปสู่การแยกตัวออกไปตั้งพรรคการเมืองใหม่นั้น สมศักดิ์ มองว่า คงขาดใจตายก่อน เพราะรัฐบาลเดินมา 1 ปี ดังนั้นกว่าจะเลือกตั้งก็อีก 3 ปี เชื่อว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จะอยู่ครบ 4 ปี เนื่องจากกระแสความนิยมดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง” 

“ผมมองว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ที่สามารถชี้แจงและตอบถึงปัญหาของประชาชนและส.ส.ในสภาได้ดีที่สุด รวมถึงเป็นนายกรัฐมนตรี ที่ขยันที่สุด ตั้งแต่ผมทำงานการเมืองมา” 

ส่วนความเคลื่อนไหวของส.ส.ในพรรค ที่พยายามผลักดัน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ ขึ้นเป็นผู้นำพรรคคนใหม่ สมศักดิ์ ระบุว่า “ผมเชื่อว่า พล.อ.ประวิตร อาจไม่อยากเป็นหัวหน้าพรรค แต่อาจถูกสมาชิกร้องขอ ทำให้คนที่ไม่อยากเป็น ต้องจำเป็นรับตำแหน่ง พล.อ.ประวิตร คงไม่เป็นตลอดไป อาจเป็น 5 ปี เพื่อสร้างบรรทัดฐานทางการเมืองให้เกิดขึ้น แต่การเลือกกรรมการบริหารพรรค อาจมีคนไม่สมหวังทั้งหมด

ขณะเดียวกัน แรงเสียดทานการเมืองที่กลายเป็นชนัก ของ พล.อ.ประวิตร โดยเฉพาะกรณี “นาฬิกาหรู” ยืมเพื่อน กำลังถูกตั้งคำถามถึงความเหมาะสม สมศักดิ์ บอกว่า เป็นสิ่งที่สมาชิกพรรคจะเป็นผู้ที่พิจารณาในภาพรวม ผมกำลังฟังว่า พล.อ.ประวิตร จะตอบสนองต่อความต้องการของสังคม และประชาชนได้หรือไม่ แต่ส่วนตัวก็มองว่า พล.อ.ประวิตร มีจุดแข็งที่สามารถนำเสนอนโยบายพรรคให้กับรัฐบาลได้โดยตรง

สมศักดิ์ ยังตอบคำถามถึงความสัมพันธ์กับ รองนายกรัฐมนตรี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ 

ในความเป็นกลุ่มสามมิตร ที่เคยประกาศสลายกลุ่มไปแล้วว่า “เหมือนเดิมไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง” 

ส่วนความเชื่อมโยงระหว่างรองนายกฯ สมคิด กับกลุ่มสามมิตรนั้น สมศักดิ์ อธิบายความสัมพันธ์ขณะนี้ว่า ที่ผ่านมาท่านสมคิด เคยพูดในสภาฯ และอีกหลายๆ ที่ โดยยืนยันว่า ไม่เกี่ยวข้องและไม่ใช่คนในกลุ่มสามมิตร ดังนั้นจะเอามาเกี่ยวข้องได้อย่างไร ไม่เกี่ยวข้องกัน รวมถึงกลุ่มสามมิตร ก็ไม่คิดเป็นกลุ่มก้อน เพราะเราได้สลายสามมิตรไปแล้ว” 

ส่วนกรณีที่การปรับเปลี่ยนโครงสร้างกรรมการบริหารพรรค จะถูกโยงกับการปรับคณะรัฐมนตรีหรือไม่นั้น เขายอมรับว่า เเน่นอน เพราะนายกรัฐมนตรีได้แบ่งโควตาให้กับพรรคการเมืองแต่ละพรรค ซึ่งพลังประชารัฐเอง ก็จะต้องดูกระทรวงให้เป็นประโยชน์กับประชาชน” 

 

 

ส่วนกรณีแกนนำคนสำคัญในกลุ่มสามมิตร อนุชา นาคาศัย ส.ส.ชัยนาท ที่ถูกคาดหมายว่า

จะขึ้นเป็นเลขาธิการพรรคคนใหม่นั้น สมศักดิ์ สงวนคำตอบไว้เพียงสั้นๆว่า  “ก็เป็นตัวเลือกหนึ่ง แต่ก็ขึ้นอยู่กับการสนับสนุนของสมาชิกทั้งหมด” 

อย่างไรก็ตาม สมศักดิ์ ยังสื่อสารไปยังสมาชิกของพรรคพลังประชารัฐด้วยว่า อยากให้หยุดในสิ่งที่อาจจะทำให้สังคมเข้าใจผิด จากการสัมภาษณ์ พูดคุย หรือสร้างเครื่องมือการสื่อสารทางสังคมซึ่งอาจทำลายข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน หรือบ้านเมือง และอาจจะเป็นการทำลายพรรคในทางอ้อม 

โดยปกติแล้ว ส.ส.ของพรรคจะมีข้อมูลของประชาชนในพื้นที่อยู่มากแล้ว เราสามารถใช้โอกาสนี้ไปรับฟังเพิ่มเติมว่า ข้อมูลที่มีอยู่มีการเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน อย่างไร แล้วนำกลับมาช่วยกันสร้างนโยบายพรรค ที่ส่งผลดีต่อประชาชนอย่างแท้จริง 

ในห้วงเวลาของการปรับเปลี่ยนผู้บริหารนี้ จะทำให้เราได้นโยบายเก่าผสมใหม่ที่ดี ถูกใจพี่น้องประชาชน และสิ่งที่เราต้องการคือการเป็นพรรคการเมืองอันดับหนึ่งของประเทศ ก็จะอยู่ไม่ไกล” 

สมศักดิ์ มองถึงเป้าหมายต่อไป