จากแอร์ โฮสเตส สู่เจ้าของแบรนด์‘โอซาก้า เบค’

‘โอซาก้า เบค’ แบรนด์ขนมเค้กญี่ปุ่นสัญชาติไทย ท่ามกลางกระแสความนิยมขนมหวานสไตล์ญี่ปุ่นในหมู่คนไทยสายขนมหวานที่‘ต่อยอด’โนวฮาว์จากแฟรนไชส์ขนมเค้กญี่ปุ่นนำมาผสมผสานกับกลิ่นอายความเป็นไทย รวมถึงรสสัมผัสที่คุ้นลิ้นคนไทยมากขึ้น
หลายปีที่ผ่านแบรนด์ขนมเค้กญี่ปุ่นเป็นอีกหนึ่งแฟรนไชส์มาแรง จากผลสำรวจในการลงทุนแฟรนไชส์ ประเภทต่างๆ ทั้งหมด พบว่า ‘ขนมเค้กญี่ปุ่น’ ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆ นั่นเพราะเป็นผู้บริโภคไทยนิยมบริโภคสินค้าญี่ปุ่น
‘นุชจรี สิงห์พลกุล’ อดีตแอร์ โฮสเตส สายการบินเจแปน แอร์ไลน์ เป็นหนึ่งในนั้น และจากความชื่นชอบจนถึงขั้นหลงใหล ทำให้เธอตัดสินใจควักกระเป๋าซื้อแฟรนไชส์ขนมเค้กแบรนด์ โกโคคุ (Gokoku) จากประเทศญี่ปุ่น มาทำตลาดในเมืองไทย เนื่องจากมองเห็น “โอกาส”หลายคนเคยไปกินที่ญี่ปุ่นรู้จักสามารถช่วยสร้างกระแสได้เป็นวงกว้าง ด้วยการซื้อแฟรนไชส์เข้ามาไม่ต้องเสียเวลาสร้างแบรนด์เอง
นุชจรี ผู้ก่อตั้งแบรนด์โอซาก้า เบค เล่าว่า ย้อนกลับ 4-5 ปีที่ผ่านมาเค้กครีมสไตล์ญี่ปุ่นเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นจากเดิมมักจะเป็นเค้กฝรั่งที่เน้นแป้งหนา ๆ ครีมน้อย ๆ กลายเป็นเค้กสไตล์ญี่ปุ่นเนื้อเด้งดึ๋ง นุ่มเนียน ละลายในปาก แต่หวานน้อย แม้ว่าหน้าตาดูไม่สอดรับกับไลฟ์สไตล์รักสุขภาพ ทำให้ลูกค้ามักรู้สึกว่าจะต้องเป็นเค้กที่เลี่ยนและหนัก แต่เมื่อรับประทานแล้วจะสัมผัสได้ถึงความอร่อย และไม่ต้องกลัวอ้วนเพราะเน้นการใช้ครีมในสัดส่วนมากกว่าแป้ง และใช้วัตถุดิบคุณภาพ จึงสอดคล้องกับกระแสรักสุขภาพ
โดยช่วงระหว่างที่เธอยังเป็นแอร์ โฮสเตส สายการบินเจแปน แอร์ไลน์ ได้มีโอกาสไปตามร้านเค้กต่างๆในเมืองโอซาก้า ระหว่างเวลาพักเพื่อรอบิน ด้วยการเสิร์ชหาข้อมูลก่อนออกไปชิมเค้กตาม ร้านเบเกอรี่ชื่อดังที่คนไทยและคนญีปุ่นนิยม เนื่องจากพื้นฐานเป็นคนชอบรับประทานขนมเค้กหลังจากลองชิมติดใจในรสชาติของแบรนด์ แบรนด์ ‘โกโคคุ’ เป็นโรลเค้กแบรนด์ที่มีชื่อเสียงที่อยู่ในเมืองโอซาก้า ซึ่งมีสาขาอยู่ตามสถานีรถไฟฟ้าหลายแห่ง เช่น ในย่านชินไซบาชิ นัมบะ คล้ายแถวสยามในเมืองไทยเพราะเป็นแหล่งช้อปปิ้งที่หลากหลาย
เธอจึงตัดสินใจซื้อแฟรนไชส์แบรนด์นี้มาทำตลาดในไทย เนื่องจากเป็นขนมเค้กที่รสชาติหวานน้อย มีผลิตภัณฑ์หลากหลายและเป็นแบรนด์ที่นิยมทั้งคนไทยและคนญี่ปุ่น โดยก่อนเข้าไปเจรจากับผู้บริหารได้ทำการบ้านเกี่ยวกับสภาพตลาดเบเกอรี่ในประเทศไทยว่ามี ดีมานด์เป็นอย่างไร คู่แข่ง เป็นอย่างไร จากนั้นบินไปพรีเซนต์ ที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งช่วงนั้นลาออกจากแอร์โฮสเตส ทำงานเอเจนซี่มาระยะหนึ่งแล้ว
“ก่อนหน้านี้มีแผนที่จะออกมาทำธุรกิจเป็นของตัวเองอยู่แล้ว เพราะตนเองมีพื้นฐานภาษาญี่ปุ่น และมีประสบการณ์การทำงานกับลูกค้าญี่ปุ่น จึงติดต่อเข้าไปเพราะตั้งใจจะเปิดร้านขนมเค้ก ใช้เวลาเจรจา 2 -3 ครั้งก่อนผู้บริหารโกโคคุ เห็นว่าเรามีความตั้งใจอยากทำและเชื่อมั่นจึงได้สินค้ามาจำหน่ายในประเทศไทยในรูปของแฟรนไชส์ทำมาได้ 3 ปีหมดสัญญา”
นุชจรี กล่าวว่า จากประสบการณ์ในการทำธุรกิจพบว่า การทำแฟรนไชส์ ไม่ความคล่องตัวเท่าที่ควรจึงตัดสินใจลงทุนทำแบรนด์ “โอซาก้า เบค” (Osaka baked) ขึ้นมาโดยยังคงคอนเซ็ปต์ขนมเค้กสไตล์ญี่ปุ่น ใช้วัตถุดิบนำเข้าจากญี่ปุ่น และทักษะโนฮาวต่างๆที่สะสมมาจากการทำงานร่วมกับญี่ปุ่นมาประยุกต์ใช้ ในระดับราคาที่จับต้องได้ง่าย จากเดิมชิ้นละ 130-160 บาท เป็น 60 กว่าบาท พร้อมกับใส่ความเป็นไทยเข้าไปกลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ อาทิ ขนมเค้กโอซาก้ามะพร้าวอ่อน ปรากฏว่า ได้รับผลตอบรับดีมากผลิตแทบไม่ทันกับความต้องการของลูกค้าทำให้ลูกค้าต้องสั่งล่วงหน้า
"ธุรกิจอาหารทุกอย่างต้องใส่ใจในรายละเอียดในทุกกระบวนการผลิต เพราะมีผลต่อรสชาติสินค้าซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้ารสชาติถูกปากลูกค้าจะติดใจและบอกต่อแบบปากต่อปาก (Word of Mouth) ช่วยเพิ่มโอกาสในการขายสินค้าได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ"
ไม่น่าเชื่อว่า ช่วงรอยต่อระหว่างที่ทำแบรนด์ใหม่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ขึ้นมานั้น กลับทำให้แบรนด์ “โอซาก้า เบค” ได้รับความสนใจและการตอบรับจากลูกค้าดีว่าที่คิด ทั้งนี้เนื่องจากไลฟ์สไตล์การดำเนินชีวิตของผู้คนช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านเปลี่ยนไปจากมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ทำให้คนทำงานที่บ้าน (Work from Home) มากขึ้น พฤติกรรมการซื้อเปลี่ยนไปจากเดิมที่ต้องไปห้างสรรพสินค้า ร้านค้าเปลี่ยนมาใช้บริการผ่านช่องทางดิลิเวอรี่ ด้วยการใช้แอพลิเคชั่นมือถือได้โดยตรง
“ช่วงนี้ถือเป็นจังหวะเวลาที่เหมาะสมในการนำเสนอสินค้าให้กับลูกค้าในช่วงเวลานี้ เพราะสามารถลดต้นทุนค่าเช่าพื้นที่แถมยังสามารถติดต่อกับลูกค้าได้โดยตรงทำให้ลูกค้าเกิดแบรนด์รอยัลตี้เร็วขึ้น”
ปัจจุบันลูกค้าที่สั่งซื้อเค้กกลับมาซื้อซ้ำ 80% กลายเป็นกลุ่มลูกค้าประจำที่เป็นเสมือนแฟนคลับส่วนที่เหลือ 20% เป็นลูกค้าขาจร ซึ่งอาจกลายเป็นกลุ่มลูกค้าประจำในที่สุด ซึ่งทุกอย่างไม่ได้เกิดโดยบังเอิญแต่เป็นความตั้งใจและใส่ใจในการพัฒนาสินค้า รวมถึงการเก็บข้อมูลในการให้บริการแก่ลูกค้าทุกครั้ง เพื่อติดตามฟีดแบคจากลูกค้าว่า ชื่นชอบสินค้าหรือบริการมากน้อยแค่ไหน และนำคำแนะนำติดชมนั้นมาปรับปรุงสินค้าและบริการเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ทำให้ลูกค้ามีรอยัลตี้กับแบรนด์สินค้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
“ยิ่งการแข่งขันในตลาดรุนแรงเราต้องสร้างความแตกต่างและความประทับใจให้กับลูกค้ามากที่สุด เพราะตลาดเค้กถือเป็นอีกหนึ่งตลาดที่การแข่งขันรุนแรง มีแบรนด์ใหม่เข้ามาเยอะมาทั้งต่างประเทศและในประเทศ”
นุชจรี กล่าวว่า ข้อดีของการทำแบรนด์เองคือมีความคล่องตัวในการทำงานทำให้สามารถพัฒนาขนมใหม่ๆ ออกมานำเสนอได้ตลอดเวลาไม่ถูกจำกัดให้คิดตามกรอบซึ่งกว่าจะขออนุมัติในการออกสินค้าใหม่ ต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน บางครั้งทำให้เสียโอกาสในการทำตลาด ไปอย่างน่าเสียดาย
ปัจจุบันมีสินค้าหลากหลาย อาทิ โรลเค้ก ซึ่งถือเป็นเมนูที่เป็นเอกลักษณ์ (Signature) ส่วนขายขนมไดฟูกุ ใช้แป้งนำเข้าจากญี่ปุ่น นอกจากนี้มีการพัฒนาสินค้าเข้ากระแสเทรนด์ความต้องการของลูกค้าในตลาด เช่น ชูครีม เค้กนมโอซาก้ามะพร้าวอ่อน ชีสเค้ก เป็นต้น หลังจากโควิด คลี่คลายจะเข้าไปเปิดร้านในห้างสรรพสินค้า อาทิ เซ็นทรัล อีสต์วิลล์ ,ไอคอนสยาม ,เซ็นทรัลเวิลด์ และดองกี้ มอลล์ ทองหล่อ และในอนาคตมีแผนลงทุนทำร้านสแตนอโลน
“จากวันที่เข้าไปเรียนรู้ ขั้นตอนการทำงานจากญี่ปุ่นเป็นระยะเวลา 1 เดือนก่อนที่จะมาเปิดร้านที่เมืองไทยวันนั้น มีส่วนสำคัญที่ทำให้สามารถทำแบรนด์โอซาก้า เบค ได้ในวันนี้เพราะทุกขั้นตอนในการทำงานมีความละเอียดอ่อน เข้มงวด ตามมาตรฐานของญี่ปุ่น ทำให้คุณภาพ รสชาติสินค้าเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง”
‘เราชนะ’ วันนี้ลุ้น! ครม. อนุมัติหลักเกณฑ์จ่าย 'เงินเยียวยา' 31 ล้านคน
'คนละครึ่ง' ลงทะเบียน 20 ม.ค.นี้ ใครไม่มีสิทธิ์รับเงิน 3,500 บาทบ้าง?
‘เราชนะ’ ลุ้นวันนี้! เงื่อนไขสำคัญ ลงทะเบียน www.เราชนะ.com รับเงินเยียวยาโควิดรอบใหม่
'คนละครึ่งเฟส 2' รอบเก็บตก เคยถูกตัดสิทธิ 14 วัน ลงได้อีกหรือไม่?
'ตลาดหุ้น' ที่ไหนจะรุ่ง ที่ไหนจะร่วง ในปี 2021
เปิดเหตุผล 'เราชนะ' จ่ายเยียวยา โควิดรอบใหม่กระทบพื้นที่เศรษฐกิจ 75%