อุปสรรควัคซีนโควิด ‘ติดเชื้อลด-ทดลองยาก’

อุปสรรควัคซีนโควิด ‘ติดเชื้อลด-ทดลองยาก’

ผู้นำโลกมองว่าวัคซีนเป็นหนทางเดียวเท่านั้นที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจบอบช้ำให้ฟื้นคืนมาได้ และจะช่วยหยุดยั้งการแพร่ระบาดของไวรัส แต่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดที่มีความรุนแรงลดลงแล้วนั้น กลับกลายเป็นเรื่องปัญหาและความท้าทายสำหรับนักพัฒนาวัคซีนอย่างมาก

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกแรกอาจอ่อนกำลังลง นับว่าเป็นข่าวดีสำหรับทุกๆ คน แต่ในมุมของนักพัฒนาวัคซีนแล้วนี่กลับเป็นปัญหา บรรดานักวิทยาศาสตร์ในยุโรปและสหรัฐต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การที่หลายประเทศและหลายพื้นที่ประสบความสำเร็จในการใช้มาตรการล็อกดาวน์และรักษาระยะห่างทางสังคมอย่างเข้มงวด เท่ากับว่าอัตราการแพร่เชื้อไวรัสอาจอยู่ในระดับต่ำจนไม่เพียงพอต่อการทดสอบว่าที่วัคซีนก็เป็นได้ จึงจำเป็นต้องไปหาจุดศูนย์กลางการแพร่ระบาดใหม่ในแอฟริกาและละตินอเมริกา เพื่อให้ได้ผลที่น่าเชื่อถือ

“ย้อนแย้งมากเลย ถ้าเราใช้มาตรการสาธารณสุขได้ประสบความสำเร็จ ขจัดศูนย์กลางการแพร่ระบาดของไวรัสได้ ก็จะยิ่งทดสอบวัคซีนได้ยาก” ฟรานซิส คอลลินส์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐโอดครวญ

เป็นที่ทราบกันดีว่า วัคซีนเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับหยุดยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสที่คร่าชีวิตประชาชนไปแล้วไม่น้อยกว่า 3.7 แสนคน ติดเชื้อกว่า 6 ล้านคน ผู้นำโลกมองว่าวัคซีนเป็นหนทางเดียวเท่านั้นที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจบอบช้ำให้ฟื้นคืนมาได้ แต่การทดลองวัคซีนทางคลินิกในวงกว้างแข่งกับโรคใหม่ที่กำลังระบาดอย่างรวดเร็วถือเป็นเรื่องซับซ้อน

การทดลองวัคซีนให้ได้ประสิทธิภาพในช่วงที่โรคระบาดหนักนั้นยากเย็นเป็นพิเศษ และเมื่อการระบาดลดลงก็ยากไม่แพ้กัน

อายเฟอร์ อาลี ผู้เชี่ยวชาญด้านการปรับใช้ยา จากวิทยาลัยธุรกิจวอร์วิคของอังกฤษ กล่าวว่า การทำงานให้ได้ผล ประชาชนจำเป็นต้องมีความเสี่ยงติดเชื้อในชุมชน หากไวรัสหายไปแล้วชั่วคราว การทดลองก็ไร้ผล

“ทางออกคือต้องย้ายไปยังพื้นที่อื่นที่ยังมีการติดเชื้อกระจายเป็นวงกว้างในชุมชน ณ เวลานี้ คือประเทศอย่างบราซิลและเม็กซิโก” ผู้เชี่ยวชาญกล่าว

ในการทดลองวัคซีนจะสุ่มแบ่งกลุ่มประชาชนออกเป็นกลุ่มทดลองกับกลุ่มควบคุม กลุ่มทดลองได้รับวัคซีนที่ต้องการทดลอง ส่วนกลุ่มควบคุมได้รับวัคซีนหลอดที่ไม่มีฤทธิ์ทางยา จากนั้นทุกคนกลับเข้าชุมชนที่เชื้อโรคกำลังแพร่กระจาย แล้วนำอัตราการติดเชื้อมาเปรียบเทียบกัน ด้วยหวังว่าการติดเชื้อภายในกลุ่มควบคุมจะสูงกว่า แสดงว่าวัคซีนทดลองปกป้องอีกกลุ่มหนึ่งได้

เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในอังกฤษ แผ่นดินใหญ่ยุโรปและสหรัฐเลยจุดสูงสุดมาแล้ว อัตราการแพร่เชื้อลดลง หน้าที่หลักของนักวิทยาศาสตร์ขณะนี้คือไล่หาจุดระบาดรุนแรงแห่งใหม่ และหาอาสาสมัครจากประชากรที่ประเทศที่โรคยังระบาดหนัก

ตอนทดลองวัคซีนอีโบลาที่ระบาดใหญ่ในแอฟริกาตะวันตกเมื่อปี 2557 ก็เกิดปัญหาแบบเดียวกันนี้ ตอนนั้นบริษัทยาจำเป็นต้องลดแผนการทดลองวัคซีนขนานใหญ่ เนื่องจากวัคซีนที่ได้พร้อมทดลองช่วงปลายของการแพร่ระบาดที่ยอดผู้ติดเชื้อลดลงแล้ว

วัคซีนโควิด-19 ชุดแรกๆ ที่ทดลองในเฟส 2 หรือระยะกลาง ได้แก่ วัคซีนของโมเดอร์นา บริษัทไบโอเทคจากสหรัฐ และวัคซีนที่พัฒนาโดยคณะนักวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด โดยมีบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า บริษัทยาสัญชาติอังกฤษ-สวีเดนเป็นผู้สนับสนุน ส่วนเดือน ก.ค.นี้ สหรัฐมีแผนเปิดการทดลองวัคซีนในวงกว้างกับอาศัยสมัคร 2 หมื่น-3 หมื่นคนต่อวัคซีน 1 ตัว

คอลลินส์เผยว่า หน่วยงานสาธารณสุขสหรัฐจะใช้เครือข่ายแวดวงอุตสาหกรรมยาและรัฐบาลทดลองในสหรัฐก่อน แล้วใช้แผนที่ตรวจจับว่าไวรัสเคลื่อนไหวที่ไหนมากที่สุด ถ้าอัตราการติดเชื้อในประเทศน้อยมากก็อาจพิจารณาทดลองในต่างแดนด้วย รัฐบาลสหรัฐเคยทดลองวัคซีนป้องกันเอชไอวี มาลาเรีย และวัณโรคในแอฟริกามาแล้ว

ด้านแอเดรียน ฮิลล์ ผู้อำนวยการสถาบันเจนเนอร์ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดของอังกฤษ ที่จับมือกับแอสตร้าเซนเนก้าเริ่มทดลองระยะกลางเมื่อเดือนก่อน กล่าวว่า ตั้งใจรับอาสาสมัครราว 1 หมื่นคนในอังกฤษ

แต่เนื่องจากอัตราการติดต่อของโรคของโควิด-19 ในอังกฤษลดลง จึงเป็นไปได้ว่าการทดลองอาจต้องระงับไปเพราะไม่มีผู้ติดเชื้อมากพอทำให้การทดลองได้ผล

อีกประเด็นหนึ่งที่แวดวงอุตสาหกรรมยากำลังกังวล ปาสคาล โซเรียต ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหารแอสตร้าเซนเนก้า เผยว่า ทีมวิจัยของเขากำลังพิจารณาทำการทดลอง “ท้าทาย” ให้ผู้มีส่วนร่วมรับวัคซีนแล้วจงใจให้ติดเชื้อโควิด-19 เพื่อดูว่าวัคซีนได้ผลหรือไม่ การทดลองแบบนี้ไม่ค่อยมีใครทำ เสี่ยงสูง และยากจะผ่านการรับรองด้านจริยธรรม

ส่วนทางเลือกที่เป็นจริงและนุ่มนวลกว่า โซเรียตและคนอื่นๆ กำลังเล็งบราซิลและประเทศอื่นๆ ในอเมริกาใต้ รวมทั้งบางส่วนของแอฟริกา ที่โควิด-19 กำลังระบาดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเข้าสู่ระดับสูงสุด ใช้เป็นที่ทดลองยาและวัคซีน

การหาคนมาทดลองวัคซีนในระยะกลางในประเทศที่โควิด-19 ระบาดน้อยลง เคยเกิดขึ้นแล้วตอนที่องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) ทำการทดลองร่วมหลายประเทศ หายารักษาโควิด-19 เช่น ยาสามัญไฮดรอกซีคลอโรควิน และเรมเดซิเวียร์ของบริษัทจีเลียดส์

“เราได้ผู้ป่วยบางส่วนในศูนย์ทดลองแห่งหนึ่งที่เมืองโลซานน์ แต่เมื่อทุกศูนย์พร้อม น่าเสียดายที่ผู้ป่วยหายไปหมดแล้ว” โอริออล มานูเอล ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ และผู้ประสานงานการทดลองในสวิตเซอร์แลนด์เล่าประสบการณ์