'ไอบีเอ็ม' ชี้ ‘วิกฤติไวรัส’ จุดเปลี่ยนโลก-ธุรกิจ

'ไอบีเอ็ม' ชี้ ‘วิกฤติไวรัส’ จุดเปลี่ยนโลก-ธุรกิจ

“ไอบีเอ็ม” เปิดมุมมองพลิกวิกฤติไวรัส สู่การสร้างโอกาสใหม่ให้โลกและธุรกิจ' ชูเทคโนโลยีหลัก ‘คลาวด์ เอไอ’ หัวใจขับเคลื่อน แนะธุรกิจมองบวก ปรับตัว สร้างความต่างรับโลกใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม ชี้ “ไทย” ตลาดใหญ่ความพร้อมใช้เทคโนโลยียังสูง

ในวันที่ทั้งโลกยังต้องเผชิญความท้าทายอย่างใหญ่หลวง ทั้งจากวิกฤติโรคระบาด การขัดแย้งทางความคิด “เทคโนโลยี” กลายเป็นหัวใจหลักที่มีบทบาทในทุกๆ ความเป็นไปของสังคมโลก ดันธุรกิจก้าวสู่ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นแบบฉับพลันชนิดไม่ทันตั้งตัว

‘ปฐมา จันทรักษ์’ รองประธานด้านการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีนและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด ให้สัมภาษณ์พิเศษ “กรุงเทพธุรกิจ” ระบุว่า  การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็น “จุดเปลี่ยน” ของหลายองค์กร ทั้งเป็นตัวขับเคลื่อนดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นที่ทรงพลัง และโศกนาฏกรรมที่ไม่มีใครคาดคิด จึงถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่องค์กรต้องสร้างธุรกิจและเครือข่ายให้ยืดหยุ่นพร้อมรับความท้าทายที่คาดไม่ถึง

พลิกวิกฤติดันเทคฯสร้างโอกาส 

"ไอบีเอ็ม มองว่า เทคโนโลยีไฮบริดคลาวด์ และ ปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ จะเป็นพลังหลักขับเคลื่อนดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น ซึ่งแพลตฟอร์มเทคโนโลยีที่ยืดหยุ่น จะเป็นพื้นฐานสำคัญของการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในศตวรรษที่ 21 เพราะจะเป็นเครื่องตัดสินว่าองค์กร จะตั้งหลักเพื่อคว้าโอกาสใหม่ๆ ในตลาดได้เร็วแค่ไหน และจะตอบสนองต่อวิกฤติอย่างที่เรากำลังเผชิญอยู่ทุกวันนี้ได้เร็วเพียงใด" 

ปฐมา บอกว่า ความท้าทายครั้งนี้ ทำให้โลกใบเดิมเปลี่ยนไป เทคโนโลยี จะกลายเป็น Different Normal หรือความปกติที่แตกต่างไปจากเดิม หรือ เทคโนโลยีที่เราใช้อยู่ก่อนแล้ว แต่วันนีี้จะเป็นการใช้ที่มากขึ้น เข้มข้นขึ้น และแตกต่างจากเดิมมากขึ้นหลายเท่า

เช่น การเข้าถึงลูกค้าหรือประชาชน แบบเวอร์ชวล โควิด-19 ทำให้รูปแบบการทำธุรกิจที่เปลี่ยนไป ลูกค้าหรือประชาชนจะสอบถามข้อมูลผ่านทางช่องทางออนไลน์หรือเวอร์ชวลมากขึ้น องค์กรหรือแม้แต่ภาครัฐ จึงต้องพร้อมรับมือกับการบริหารจัดการทีมงานและระบบให้สามารถให้คำตอบที่ถูกต้องและสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปได้อย่างทันท่วงที ด้วยการใช้ “เอไอ” หรือปัญญาประดิษฐ์เข้ามาเป็นแกนสำคัญ 

เอไอ-คลาวด์เขย่าโครงสร้างธุรกิจ

ยกตัวอย่าง การพัฒนา “ไอบีเอ็ม วัตสัน แอสซิสแทนท์ ฟอร์ ซิติเซ็นส์” (IBM Watson Assistant for Citizens) ช่วยหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานด้านดูแลสุขภาพ และสถาบันการศึกษา ได้ถ่ายทอดข้อมูลที่เชื่อถือได้ให้ประชาชนได้อย่างทั่วถึงและทันท่วงที ด้วยระบบอัจฉริยะของเอไอ ผนวกความสามารถการประมวลผลภาษาธรรมชาติ จากศูนย์วิจัยไอบีเอ็ม เข้ากับความสามารถขั้นสูงของ วัตสัน ดิสคัฟเวอรี่  

ช่วยให้ระบบสามารถทำความเข้าใจและตอบคำถามเกี่ยวกับโควิด-19 ในรูปแบบของข้อความ ผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อช่วยหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานด้านการดูแลสุขภาพ และสถาบันการศึกษา ให้สามารถถ่ายทอดข้อมูลที่เชื่อถือได้ให้แก่ประชาชนได้อย่างทั่วถึงและทันท่วงที โดยใช้เวลาระบบพัฒนาเพียงข้ามวัน บนระบบคลาวด์ และรองรับการใช้งานใน 25 ประเทศทั่วโลกอย่างยืดหยุ่น

ขณะที่ เราจะเห็นการเข้าถึงทุกอย่างได้จากระยะไกลเป็นเรื่องปกติ แต่มีการใช้งานมากขึ้น ซึ่งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมและองค์กร และเมื่อทุกอย่างกลับมาสู่ภาวะปกติ ก็จะเป็นความปกติที่แตกต่างไปจากเดิม เช่น ความท้าทายที่ผู้บริหารด้านไอที (Chief Information Officer หรือ CIO) ต้องเผชิญในทุกวันนี้ก็จะมีความซับซ้อนและยุ่งยากกว่าเดิม โดยเฉพาะเมื่อต้องทำหน้าที่ช่วยองค์กรของตนให้ฟื้นตัวและเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง

ยกตัวอย่าง ไอบีเอ็มได้นำ วัตสัน เอไอโอเปอเรชั่น (Watson AIOps) เทคโนโลยีเอไอ เข้ามาช่วยบริหารจัดการระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีอัตโนมัติ เช่น การตรวจจับความปกติของระบบ การวิเคราะห์สาเหตุการณ์ล่มของระบบ เป็นต้น ช่วยให้องค์กรมีความยืดหยุ่นและพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงช่วยองค์กรลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ลง

หรือการนำเทคโนโลยีคลาวด์เอสเพอรา (Aspera) มาช่วยรับส่งไฟล์ขนาดใหญ่ เช่น ฟิล์มเอ็กซเรย์ ไฟล์วิดีโอข่าว ช่วยให้องค์กรสามารถส่งไฟล์ระดับกิกะไบต์ได้แม้ใช้เน็ตมือถือ

ปฐมา กล่าวว่า การปรับองค์กรให้มีความอไจล์ (Agile) และมีประสิทธิภาพ พร้อมยืดหยุ่นปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลง เป็น อีกหนึ่ง Different Normal ที่จะเกิดขึ้น ซึ่ง “คลาวด์” จะเป็นเทคโนโลยีสำคัญที่ทำให้การทำงานอไจล์ คล่องตัว และยืดหยุ่น

"โลกยุคใหม่ องค์กรต้องการเทคโนโลยีคลาวด์ที่โอเพ่น และความสามารถในการบริหารมัลติคลาวด์ได้จากช่องทางเดียว ให้องค์กรสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอื่นๆ ที่อยู่บนแพลตฟอร์มคลาวด์ เช่น เอไอ บล็อกเชน หรือแม้แต่การเตรียมตัวรองรับเอดจ์ คอมพิวติ้ง และ 5จี ได้อย่างเต็มที่"

‘ไซเบอร์ซิเคียวริตี้’ เป็นอีกหนึ่งความตระหนักที่สำคัญนับจากนี้ ผนวกกับความเข้มข้นของการบังคับใช้กฏหมายด้านไซเบอร์การทวีความสำคัญยิ่งขึ้นของคลาวด์ ยิ่งทำให้องค์กรต้องมั่นใจว่า ระบบที่ใช้มีความปลอดภัยสูงสุด และสอดคล้องต่อกฎระเบียบต่างๆ

ขณะที่ การลดต้นทุนการดำเนินการและระบบซัพพลายเชน จะเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากขึ้นจากนี้ โดยในสถานการณ์ปัจจุบัน ระบบซัพพลายเชนได้รับผลกระทบอย่างมาก ข้อมูลที่ไม่เชื่อมโยงกันหรือตรวจสอบได้ยากกลายเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นขององค์กร

ดีมานด์เทคโนโลยีเกิดขึ้นสูงมาก 

ปฐมา กล่าวว่า วิกฤติโควิดที่ผ่านมา เกิดดีมานด์ด้านเทคโนโลยีสูงมาก ทั้งในระดับบุคคล และองค์กรธุรกิจ ที่เห็นความสำคัญของเทคโนโลยีในการเข้าไปช่วยขับเคลื่อน วิกฤติครั้งนี้ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในสังคม ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด คือ การรักษาพยาบาล การสาธารณสุขที่เทคโนโลยีเข้าไปมีบทบาทสำคัญมาก รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยน เป็นโอกาสให้ธุรกิจได้ปรับตัว และสร้างบริการเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าให้ได้

เธอ ย้ำว่า เทคโนโลยีที่มีความสำคัญ และจะเป็นหัวใจหลักนับจากนี้  คือ "คลาวด์" แพลตฟอร์มสำคัญในการเก็บข้อมูลที่มีอย่างมหาศาล และเมื่อข้อมูลมีมหาศาล มนุษย์วิเคราะห์ไม่ทัน “เอไอ” จึงต้องเข้ามาช่วยวิเคราะห์ ด้วยผลลัพธ์เที่ยงตรง และแม่นยำ

“ปัจจุบันเอไอ ของไอบีเอ็ม พัฒนาไปอีกขั้น สามารถฟังเสียง มองภาพ แล้ววิเคราะห์ ตรวจจับความผิดปกติได้แล้ว ยกตัวอย่างการฟังเสียงของไก่ในฟาร์ม เอไอสามารถวิเคราะห์เสียงของไก่ได้ว่า อาจมีความเสี่ยงเป็นโรคหรือไม่ เราเริ่มไปนำเสนอให้กับลูกค้าของเราบ้างแล้ว”  

+++เดินหน้าซัพพอร์ตลูกค้าฝ่าวิกฤติ

ปฐมา กล่าวว่า หนึ่งในปัญหาที่ใหญ่สุดของผู้บริหารวันนี้ คือ การจัดการกับอนาคตทางการเงินที่ไม่แน่นอน ท่ามกลางวิกฤติที่ยังดำเนินอยู่ และเป็นอุปสรรคสำคัญของธุรกิจยุคปัจจุบันที่จะต้อง “ข้ามผ่าน” ให้ได้ 

ไอบีเอ็ม เข้าไปสนับสนุนการทำงานของลูกค้า และพาร์ทเนอร์ในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมเจ้าหน้าที่ เพื่อดูแลระบบให้ลูกค้า หรือเตรียมความพร้อมระบบภายใน เพื่อให้พนักงานองค์กรทำงานแบบทางไกล รวมถึงแผนจัดการการลงทุนหรือต้นทุนต่างๆ ให้ลูกค้าในระยะยาว

“เราอาจขายซอฟต์แวร์ไม่ได้ อาจขายเครื่องใหญ่ๆ ไม่ได้ในช่วงนี้ แต่เราพยายามมองโอกาส พัฒนาโซลูชั่นที่ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าในช่วงวิกฤติ ซึ่งเรายังเห็นโอกาสที่มีมหาศาล โดยเฉพาะไอบีเอ็ม สตอเรจ ยังเติบโตดีมาก เพราะในวันที่มีดาต้ามหาศาล สตอเรจคือสิ่งสำคัญ นี่เป็นโอกาสของเรา ในทุกวิกฤติ ผู้บริหารองค์กรต้องพยายามมองหาโอกาสแบบนี้ให้เจอ” 

ปฐมา กล่าวว่า ปัจจุบัน ไทยเป็นตลาดใหญ่ 1 ใน 3 ของภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก และอันดับ 1 ในอินโดจีน โดยไทยเป็นประเทศที่พร้อมใช้เทคโนโลยีมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และเป็นตลาดใหญ่ในภูมิภาคนี้ เป็นรองแค่สิงคโปร์เท่านั้น  

"ในวันที่ทุกอย่างมืดมิด แต่เรากลับมองว่าเป็นวันที่เราในฐานะผู้นำของคนที่อยู่ในองค์กร นี่คือโอกาสที่จะ Make a different in the world เราสามารถสร้างความแตกต่าง เราเลือกได้ว่า จะนั่งเฉยๆ แล้วตายไป หรือเลือกที่จะลุกขึ้นมาแล้วปรับ ไม่ต้องทำทุกอย่าง แต่เลือกที่มีประโยชน์คุ้มค่า ดูว่าจะนำเทคโนโลยีอะไร มาปรับใช้ในกระบวนการบริหารในภาวะวิกฤติเช่นนี้"