ส.ว.ผนึก 3 องค์กร จับตาเงินกู้ 1 ล้านล้าน

ส.ว.ผนึก 3 องค์กร จับตาเงินกู้ 1 ล้านล้าน

ส.ว.ไฟเขียว 3 พ.ร.ก.กู้เงิน ผนึก 3 องค์กรตรวจสอบ ขณะที่นายกฯปัดตอบรอยร้าว พปชร. ยันอำนาจตัดสินใจปรับ ครม.

ในการประชุมวุฒิสภา วานนี้ (2มิ.ย.) ที่ประชุมให้ความเห็นชอบพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ที่เกี่ยวข้องกับการกู้เงินจำนวน 3 ฉบับวงเงิน 1.9 ล้านล้าน

ทั้งนี้ มีประเด็นเป็นข้อเสนอแนะที่น่าสนใจ อาทิ นายสมชาย แสวงการ ส.ว. อภิปรายสนับสนุนให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการภาคประชาชนเพื่อตรวจสอบการใช้จ่ายเงินกู้โดยมีผู้เชี่ยวชาญเข้าร่วม เพราะจากประสบการณ์ในสภาฯ ของตน 14 ปี พบว่ามีการทุจริตและการกินหัวคิว โดยเป็น ส.ส. อย่างปี 2556 พบว่า ส.ส. จะได้รับค่าหัวคิว 20 เปอร์เซ็นต์ แม้จะไม่ใช่ผู้เสนอโครงการ ส่วนกรณีที่สภาฯ ตั้งกรรมการตรวจสอบนั้น ส.ว. ต้องได้สิทธิตั้งกรรมการตรวจสอบและติดตามได้เช่นเดียวกัน

ขณะที่นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า รัฐบาลตั้งใจออก พ.ร.ก. เพื่อเร่งเยียวยาให้ทั่วถึงและไม่ให้สถานการณ์วิกฤตของไวรัสโควิด-19 บานปลาย ทั้งนี้รัฐบาลตระหนักถึงการบริหารงาน ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด และตามหลักวินัยการเงินการคลัง รวมถึงระเบียบที่ถูกต้อง ส่วนข้อห่วงใยต่างๆของส.ว.นั้น รัฐบาลขอรับไปใช้ประโยชน์ด้วยความละเอียดรอบคอบ จะส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาชนให้มีส่วนร่วมอย่างทั่วถึงตลอดการดำเนินการ

นอกจากนี้ จะประเมินประสิทธิผลทุกโครงการตามมาตรฐานสากล รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลเพื่อป้องกันการทุจริต ทำให้การใช้งบประมาณก้อนนี้เป็นไปอย่างคุ้มค่าที่สุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับข้อทักท้วงของวุฒิสภานั้น ล่าสุดคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการองค์กรอิสระ ตามรัฐธรรมนูญ ที่มี นายยกล้านรงค์ จันทิก ส.ว. เป็นประธานกมธ. เตรียมแถลงถึงแนวทางการติดตามการใช้เงินกู้ เบื้องต้นนั้นมี 3 องค์กรที่พร้อมร่วมตรวจสอบ คือ ป.ป.ช., ผู้ตรวจเงินแผ่นดิน และ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ในวันที่ 5 มิ.ย.

วันเดียวกัน น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ว่า ที่ประชุม ครม. มีมติแต่งตั้งกมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย ในสัดส่วนรัฐบาลไม่เกิน 10 คน ประกอบด้วย นายอุตตม นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง ส่วนอีก 7 คน ครม. จะได้พิจารณาตามความเหมาะสมต่อไป

ส่วนความเคลื่อนไหวพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เกี่ยวกับกระแสรอยร้าวภายในพรรค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าว ว่าเรื่องการเมืองตนไม่อยากพูด เป็นเรื่องในพรรคคุยกัน ส่วนการปรับ ครม. มีกลไกทั้งระดับพรรค ระดับพรรคร่วม และระดับรัฐบาล

ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานยุทธศาสตร์พปชร. กล่าวว่า กรณีถูกวางตัวเป็นหัวหน้าพรรคเป็นเรื่องของพรรคจะไปตอบได้อย่างไรว่าจะเป็นหรือเปล่า