'เทรดวอร์' กระทบซ้ำโควิด สรท.ผวาฉุดส่งออกปีนี้ลบ 8%

'เทรดวอร์' กระทบซ้ำโควิด  สรท.ผวาฉุดส่งออกปีนี้ลบ 8%

สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) รายงานสถานการณ์การส่งออกเดือน พ.ค.2563 รวมทั้งประเมินการส่งออกทั้งปีที่จะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า เข้ามาซ้ำเติมกับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธาน สรท.เปิดเผยว่า การส่งออกของไทย 4 เดือนแรกของปี 2563 (ม.ค.-เม.ย.) ขยายตัว 1.19 % แต่ สรท.ยังกังวล เพราะมูลค่าการส่งออกที่ขยายตัวเป็นผลมาจากการส่งออกทองคำ จากการที่นักลงทุนเห็นสัญญาณการชะลอตัวและความผันผวนของเศรษฐกิจโลก จึงเปลี่ยนมาถือสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งเป็นสินค้าที่มีความเสี่ยงน้อย 

รวมถึงปัจจัยบวกจาการส่งออกอาวุธยุทธปัจจัยในการซ้อมรบกลับประเทศต้นทาง โดยถ้าหักทองคำ น้ำมันและอาวุธยุทธปัจจัยแล้ว การส่งออกของไทย 4 เดือนแรกติดลบ 0.96% ซึ่งคงต้องจับตาการส่งออกในเดือน พ.ค.นี้ ที่ไม่มีเรื่องของการอาวุธจะเป็นอย่างไร

159110505899

สรท.คงประมาณการณ์การส่งออกปี 2563 ไว้ที่ติดลบ 8 % บนสมมติฐานค่าเงินบาทอยู่ที่ 30.5 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งโอกาสดีขึ้นและแย่ลงขึ้นกับสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ที่หลายประเทศเริ่มปลดล็อคดาวน์อาจส่งผลให้มีการระบาดมากขึ้น 

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการส่งออกในปี 2563 คือ

1.ความไม่แน่นอนของการระบาดของโควิด-19 ระยะต่อไป ทำให้หลายประเทศยังคงมาตรการล็อคดาวน์อย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและอาจส่งผลให้ความต้องการสินค้าของตลาดโลกลดลง โดยเฉพาะสินค้าคงทนและสินค้าอุตสาหกรรม เช่น ยานยนต์และเครื่องปรับอากาศ รวมถึงผลจากกระบวนการงานด้านเอกสารที่ล่าช้าเนื่องจากจำนวนพนักงานลดลงช่วง work from home

2.ค่าเงินบาทที่เริ่มมีแนวโน้มกลับมาแข็งค่าขึ้นตลอดเดือน พ.ค.2563 อันเนื่องมาจากของสถานการณ์การแพร่ระบาดในไทยดีกว่าหลายประเทศ ทำให้ถูกมองว่าเป็น Safe heaven อีกครั้ง กอปรกับตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาซึ่งต่ำกว่าคาดการณ์ กลายเป็นปัจจัยกดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง อาจส่งผลกระทบกับความเปราะบางของเศรษฐกิจ และซ้ำเติมผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา

3.ราคาน้ำมันที่เริ่มกลับมาสู่ขาขึ้นได้อีกครั้งหลังจากสถานการณ์ระบาดโควิด-19 ในหลายประเทศเริ่มคลี่คลาย และมีการผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันดิบเริ่มกลับมาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีแรงหนุนจากข้อตกลงของกลุ่มโอเปกและพันธมิตร เพื่อปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบลง 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งอาจส่งผลต่อต้นทุนของผู้ประกอบการส่งออกที่เพิ่มสูงขึ้น

4.ความขัดแย้งที่เริ่มกลับมาปะทุอีกครั้งระหว่างสหรัฐและจีน จากการที่สหรัฐกล่าวหาว่าจีนเป็นต้นเหตุของการแพร่ระบาดและมีแนวโน้มที่จะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน รวมถึงการเพิกถอนการจดทะเบียนของบริษัทสัญชาติจีนในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ และการกดดันจีนผ่านการสนับสนุนผู้ประท้วงในฮ่องกง ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกได้