'9 บจ.' ยืดหนี้หุ้นกู้ไร้ผลกระทบ 'ไทยบีเอ็มเอ' ชี้มูลค่าแค่ 0.17% ของตลาด

'9 บจ.' ยืดหนี้หุ้นกู้ไร้ผลกระทบ 'ไทยบีเอ็มเอ' ชี้มูลค่าแค่ 0.17% ของตลาด

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เผยมีหุ้นกู้ไฮยิลด์บอนด์ “9 บจ.” ขอเลื่อนเวลาไถ่ถอน คิดเป็นมูลค่ารวม 3-4 พันล้านบาท โดยขอยืดไปอีก 6 เดือนถึง 1 ปี หวังรอสภาพคล่องกลับสู่ปกติหลังคลายล็อกดาวน์ มั่นใจไร้ปัญหา เหตุคิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.17% ของหุ้นกู้ทั้งระบบ

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาเริ่มเห็นสัญญาณผู้ออกหุ้นกู้ประเภทไฮยิลด์บอนด์ (ตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่า Investment Grade หรือกลุ่มที่ไม่มีการจัดอันดับเครดิตเรทติ้งที่ให้ผลตอบแทนสูง) ขอยืดระยะเวลาไถ่ถอนหุ้นกู้แล้วจำนวน 9 บริษัท ซึ่งคิดเป็นมูลค่าประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาท โดยมีการยืดระยะเวลาออกไปเฉลี่ยประมาณ 6 เดือน ถึง 1 ปีเพื่อรอให้สภาพคล่องกลับเข้าสู่ภาวะปกติ หลังคลายล็อกดาวน์จากการระบาดของโควิด-19 รวมถึงมีบริษัทที่ผิดนัดชำระหนี้ไปแล้ว 1 ราย ได้แก่ บริษัท เอเชีย แคปปิตอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ACAP ส่วนกรณีของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)หรือ THAI ตอนนี้อยู่ในกระบวนการของศาลฯ ซึ่งต้องรอผู้เกี่ยวข้องในการชี้แจงแผนกระบวนการชำระหนี้

อย่างไรก็ตามเชื่อว่าผลกระทบจากการขอยืดการชำระหุ้นกู้ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ทั้ง 9 บริษัทนั้นค่อนข้างน้อย เพราะคิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.17% เมื่อเทียบกับมูลค่าหุ้นกู้ของภาคเอกชนทั้งหมดที่มีอยู่กว่า 3.8 ล้านล้านบาท ประกอบกับนักลงทุนที่ถือครองหุ้นกู้ของบริษัทดังกล่าวทั้งหมดล้วนเป็นกลุ่มผู้ลงทุนรายใหญ่ (ไฮเน็ตเวิร์ค) จึงเชื่อว่าหากเกิดปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ผู้ลงทุนกลุ่มดังกล่าวน่าจะสามารถรองรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้

ขณะที่ในส่วนของภาพรวมหุ้นกู้ภาคเอกชนโดยรวมยังไม่น่ากังวลโดยเฉพาะหุ้นกู้ที่มีเรทติ้งกลุ่มระดับลงทุน (Investment Grade) เนื่องจากที่ผ่านมาแบงก์ชาติมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้(BSF) แต่พบว่าปัจจุบันยังไม่มีบริษัทไหนขอใช้เงินกองทุนดังกล่าวและบริษัทส่วนใหญ่ที่ออกเสนอขายหุ้นกู้ในช่วงที่ผ่านมาก็สามารถขายหุ้นกู้ได้ครบตามจำนวน จึงเชื่อว่าหุ้นกู้กลุ่มดังกล่าวไม่น่าจะเกิดปัญหาหรือเป็นห่วงเหมือนกลุ่มไฮยิลด์บอนด์

“ตอนนี้สมาคมฯกำลังจับตามองสภาพคล่องของบริษัทที่ออกหุ้นกู้อยู่ โดยเชื่อว่าหากสถานการณ์โควิด–19 จบลงสภาพคล่องของบริษัทต่างๆน่าจะกลับมาดีขึ้น เพราะช่วงที่ผ่านมาหลายบริษัทมีปัญหาเนื่องจากธุรกิจโดนปิดหรือยังไม่สามารถกลับมาเปิดดำเนินการได้ จึงทำให้ไม่มีสภาพคล่องเข้ามา แต่หากทุกอย่างจบลงก็น่าจะเห็นกระแสเงินสดเข้ามาเพิ่มมากขึ้น”

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนประจำเดือนมิ.ย.2563 พบว่าอยู่ในเกณฑ์ทรงตัว(Neutral) โดยเพิ่มขึ้น 21% มาอยู่ที่ระดับ 96.93 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบปี 2563 จากระดับ 80.40 ในการสำรวจครั้งก่อน นักลงทุนคาดหวังการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศเป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด 

รองลงมาคือนโยบายภาครัฐและผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในไตรมาสสอง รวมถึงการคลี่คลายของสถานการณ์โควิด-19 และการค้นพบวัคซีนป้องกันโควิด-19 อย่างไรก็ตามความกังวลต่อผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนเป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด รองลงมาคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศและภาคการท่องเที่ยว รวมถึงความกังวลหากโควิด-19 เกิดการแพร่ระบาดรอบสอง

ด้านผู้สื่อข่าวกรุงเทพธุรกิจรายงานว่าจากการตรวจสอบข้อมูลในช่วงต้นปีถึงปัจจุบัน พบว่ามีบริษัทจดทะเบียนจำนวน 9 รายที่แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ขอผู้ถือหุ้นกู้ขยายระยะเวลาครบกําหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ออกไป ได้แก่ บริษัท เจ. เอส. พี. พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ JSP,บริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PACE,บริษัท เอเชีย แคปปิตอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ACAP,บริษัท พีพี ไพร์ม จำกัด (มหาชน) หรือ PPPM,บริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) หรือ NUSA,บริษัท ไมด้า แอสเซ็ท จำกัด (มหาชน) หรือ MIDA,บริษัท ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CWT,บริษัท เอเพ็กซ์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ APEX และบริษัท พรีเชียส ชิพปิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ PSL