ธปท.ห่วง บาทแข็ง สวนทาง ดุลบัญชีเดินสะพัด

ธปท.ห่วง บาทแข็ง สวนทาง ดุลบัญชีเดินสะพัด

ธปท.เศรษฐกิจไทยระยะถัดไป มีความไม่แน่นอนสูง สั่งจับตาค่าเงินใกล้ชิด ชี้แนวโน้มดุลบัญชีเดินสะพัดส่อเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น เชื่อไม่ใช่แรงกดดันเงินบาทในระยะข้างหน้า

    นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย และเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจในระยะถัดไปยังมีความไม่แน่นอนสูงภายใต้สภาพแวดล้อมของเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกในปัจจุบัน และมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้

   และการประชุม กนง. ในครั้งก่อน คณะกรรมการฯ มีความกังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่อาจกลับมาแข็งค่าขึ้นและอาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จึงเห็นควรให้ติดตามและดูแลสถานการณ์ในตลาดการเงินและตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด

    ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดล่าสุดเดือนเมษายน 2563 ขาดดุล 0.7 พันล้านดอลลาร์ สรอ. และหากไม่รวมทองคำ ดุลบัญชีเดินสะพัดจะขาดดุลสูงถึง 3.1 พันล้านดอลลาร์ สรอ. นับเป็นมูลค่าการขาดดุลสูงสุดในช่วงกว่า 2 ทศวรรษ โดยในระยะถัดไป คาดว่าราคาน้ำมันที่อาจปรับสูงขึ้นและข้อจำกัดในการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติจากการปิดประเทศจะทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงต่อเนื่อง

   “ดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเดือนในช่วงที่เหลือของปีจะเข้าใกล้สมดุลมากขึ้นจนกว่าสถานการณ์ของนักท่องเที่ยวต่างชาติจะฟื้นตัว ซึ่งลดลงจากที่เคยเกินดุลถึงประมาณ 3-4 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ต่อเดือนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

   ซึ่ง แนวโน้มดังกล่าวสะท้อนทิศทางของดุลบัญชีเดินสะพัดและพลวัตของค่าเงินบาทที่เปลี่ยนแปลงไปหลังเกิด COVID-19 ซึ่งทำให้คาดว่าการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดจะไม่ใช่แรงกดดันค่าเงินบาทที่สำคัญในระยะถัดไป

   คณะกรรมการฯ จะเผยแพร่ประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และดุลบัญชีเดินสะพัดใหม่ในการประชุมครั้งถัดไปวันที่ 24 มิถุนายน 2563