'PTTGC' ลุ้นดีลซื้อกิจการ คาดสรุปแผนชัดเจนปีนี้

'PTTGC' ลุ้นดีลซื้อกิจการ คาดสรุปแผนชัดเจนปีนี้

พีทีทีจีซี คาด สรุปแผน M&A ในปีนี้ ชี้โควิด-19 หนุนโอกาสในวิกฤติ ด้านที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นฯ ไฟเขียว ออกหุ้นกู้ 4 พันล้านดอลลาร์ กรอบ 5 ปี เสริมสภาพคล่อง

นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด(มหาชน) หรือ PTTGC เปิดเผยภายหลังการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2563 ของ PTTGC วานนี้(2 มิ.ย.) ว่า บริษัท อยู่ระหว่างทบทวนแผนการลงทุนโครงการใหม่ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปหลังโควิด-19 โดยในส่วนของการควบรวมหรือซื้อกิจการ (M&A) แม้ว่าจะมีการทบทวน แต่ก็ยังมีโอกาสความเป็นไปได้อยู่ เนื่องจากโควิด-19 ทำให้อาจเห็นภาพของการขายธุรกิจมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงรักษาสภาพคล่อง ซึ่งก่อนหน้านี้ บริษัท ได้ศึกษาโอกาส M&A ในกลุ่มเคมีภัณฑ์เกรดพิเศษ (Specialty) ที่ตลาดทั่วโลกน่าจะเปิดกว้างขึ้น

“เราตั้งเป้าปีนี้ จะมีความชัดเจนการตัดสินใจแผน M&A ซึ่งก็มีการคัดเลือกไว้บ้างแล้ว แต่อยากดูผลการดำเนินงานของธุรกิจนั้นๆ หลังผ่านพ้นโควิด-19 ให้ชัดเจนอีกไตรมาส เพื่อลดความเสี่ยง โดยจะเน้นพวกที่มี Value สูง ๆ พวก Advance Material โดยจะศึกษาในทุกประเทศที่มีศักยภาพ”

ทั้งนี้ บริษัท ได้เตรียมความพร้อมบริหารสภาพคล่องเพื่อรองรับโอกาสการลงทุนใหม่ และชำระคืนหนี้ หลังจากที่ออกหุ้นกู้วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาทในปีนี้ และมีวงเงินกู้จากธนาคารอีกราว 3 หมื่นล้านบาท

นายคงกระพัน กล่าวว่า สำหรับการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2563 มีมติอนุมัติแผนออกหุ้นกู้วงเงิน 4,000 ล้านดอลลาร์ หรือ ประมาณ 1.28 แสนล้านบาท ภายในกรอบระยะเวลา 5ปี (ปี 2563-2567) เพื่อรักษาสภาพคล่องและระดับกระแสเงินสด โดยหุ้นกู้ดังกล่าวส่วนใหญ่เกือบ 3 พันล้านดอลลาร์จะใช้สำหรับชำระคืนหุ้นกู้เดิมที่ครบกำหนด และอีก 1 พันล้านดอลลาร์ จะใช้สำหรับลงทุนในโครงการที่ได้รับอนุมัติแล้ว

โดยในช่วง 5 ปีข้างหน้า บริษัท มีการชำระคืนเงินกู้ยืมระยะยาว รวมประมาณ 8.57 หมื่นล้านบาท หรือ ราว 2.78 พันล้านดอลลาร์ และมีแผนการลงทุนที่ได้รับอนุมัติแล้ว 3.24 หมื่นล้านบาท หรือ คิดเป็น 1.05 พันล้านดอลลาร์

สำหรับแผนการชำระคืนเงินกู้ ปี 2563 อยู่ที่ 8.16 พันล้านบาท , ปี 64 อยู่ที่ 2.21 หมื่นล้านบาท , ปี 65 อยู่ที่ 3.49 หมื่นล้านบาท , ปี 66 อยู่ที่ 5.96 พันล้านบาท และปี 67 อยู่ที่ 1.47 หมื่นล้านบาท โดย ณ สิ้นธ.ค.62 บริษัท มีภาระเงินกู้ยืม 1.05 แสนล้านบาท แบ่งเป็น หนี้สกุลเงินบาท 6.92 หมื่นล้านบาท และสกุลต่างประเทศ 3.58 หมื่นล้านบาท มีต้นทุนเฉลี่ยต่ำกว่า 3.5%