'คมนาคม' ชงของบเยียวยาโควิด 7.69 พันล้านบาท

'คมนาคม' ชงของบเยียวยาโควิด 7.69 พันล้านบาท

"คมนาคม" ชงขอรับเงินเยียวยาผลกระทบโควิด-19 กว่า 7.69 พันล้านบาท “ศักดิ์สยาม” เผยยังไม่เคาะ สั่งเขย่าตัวเลขอีกรอบ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. โดยระบุว่า หน่วยงานต่างๆ ได้นำเสนอกรอบวงเงินตามมาตรการที่เข้าข่ายลักษณะแผนงานโครงการตามบัญชีแนบท้าย พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งขณะนี้ยังเสนอเข้ามาไม่ครบทุกหน่วยงาน เบื้องต้นมอบให้แต่ละหน่วยงานไปตรวจสอบเงื่อนไข เงื่อนเวลา รวมถึงตัวเลขงบประมาณที่เสนอให้ชัดเจน และกลับมานำเสนอที่ประชุมอีกครั้ง

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เผยว่า การประชุมครั้งนี้มี 7 หน่วยงานร่วมนำเสนอ รวมวงเงิน 7,697 ล้านบาท ประกอบด้วย 1. กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) วงเงิน 4,773 ล้านบาท เป็นเงินช่วยเหลือชดเชยผู้ประกอบการในเที่ยววิ่ง 30% ของจำนวนที่นั่งและราคาค่าโดยสารที่ต้องใช้มาตรการเว้นระยะห่างของเดือน พ.ค.-ก.ค.2563 และการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการเดินรถโดยสารไม่ประจำทางคันๆ ละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน (มี.ค.- พ.ค.2563) จากจำนวนผู้ได้รับอนุญาต 42,273 ราย

2.องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) วงเงิน 614 ล้านบาท เป็นเงินสนับสนุนจากกรณีที่รายได้ค่าโดยสารลดลง และจัดเก็บค่าตอบแทนตามสัญญาการเดินรถ และค่าใบเที่ยวรถมินิบัส โดยจัดเก็บ 25% และพักการชำระหนี้ 6 เดือน รวมทั้ง จัดเก็บค่าเช่า 25% สำหรับผู้ประกอบการที่เช่าพื้นที่โฆษณาบนรถโดยสารประจำทางของ ขสมก., จัดเก็บค่าเช่า 25% สำหรับผู้เช่าพื้นที่ ขสมก.เป็นระยะเวลา 6 เดือน และงดเก็บค่าเช่าสำหรับผู้เช่าพื้นที่ที่ถูกสั่งปิดตามประกาศกรุงเทพฯและรัฐบาล

3.บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) รวม 800 ล้านบาท เป็นการชดเชยรายได้ค่าโดยสาร และรายได้ค่าชนส่งพัสดุภัณฑ์, ชดเชยรายได้จากการเดินรถร่วม และชดเชยรายได้ค่าเช่าพื้นที่ภายในสถานีขนส่งผู้โดยสาร

4.การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) วงเงิน 627 ล้านบาท เป็นเงินชดเชยรายได้ที่ขาดหายไปจากการงดเดินขบวนรถโดยสารเชิงพาณิชย์ เดือน เม.ย.-มิ.ย.2563, การปรับลดค่าเช่า 50% ของค่าเช่าต่อเดือนสำหรับผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง และการปรับลดค่าเช่า 30% สำหรับผู้ได้รับผลกระทบโดยอ้อม (เม.ย.-มิ.ย.2563)

5.กรมท่าอากาศยาน (ทย.) วงเงิน 862 ล้านบาท เป็นการสนับสนุนเงินเข้ากองทุนหมุนเวียนของ ทย.ประกอบด้วย การชดเชยรายรับที่ลดลง และเงินสดคงเหลือเพื่อสภาพคล่องรวม

6.กรมเจ้าท่า (จท.) วงเงิน 5.5 ล้านบาท ชดเชยที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมให้แก่ผู้ประกอบการเรือคลองแสนแสบ

และ 7.บริษัท โรงแรมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำกัด (รทส.) วงเงิน 13 ล้านบาท สนับสนุนงบประมาณ 50% ของผลประกอบการที่ขาดทุนช่วงเดือน เม.ย.2563 และประมาณการขาดทุนช่วงเดือน พ.ค.-ก.ย.2563