จับตา ‘เทรดวอร์’ ป่วนลงทุน ดัชนีหุ้นเดือนมิ.ย.ส่อพักฐาน

จับตา ‘เทรดวอร์’ ป่วนลงทุน ดัชนีหุ้นเดือนมิ.ย.ส่อพักฐาน

นักวิเคราะห์เตือนตลาดหุ้นเดือน มิ.ย. ชะลอการฟื้นตัว จับตา ‘เทรดวอร์’ อาจบานปลาย แนะเลือกหุ้นอิงเศรษฐกิจในประเทศ หลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย

จนถึง ณ สิ้นเดือน พ.ค. 2563 ดัชนี SET จากที่เคยติดลบไปถึง 39% สามารถฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจนการติดลบเหลือเพียง 15% พร้อมกลับมายืนเหนือ 1,300 จุด อีกครั้ง หลังดัชนีลดลงไปต่ำสุดที่ระดับ 969 จุด

ภาดล วรรณรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุว่า การฟื้นตัวของดัชนีได้รับแรงหนุนสำคัญจาก จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศ ที่ลดลงในอัตราเร่งตั้งแต่กลางเดือน เม.ย. 2563 จนสามารถผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ได้เร็วกว่าที่ตลาดคาด 

ขณะเดียวกัน สภาพคล่องที่เติมเข้ามาในระบบเศรษฐกิจ ทั้งนโยบายการเงิน ผ่านนโยบายการลดดอกเบี้ยของ ธปท. ชะลอการชำระเงินต้นและดอกเบี้ย รวมถึงปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ รวมถึงนโยบายการคลัง โดยเฉพาะเงินเยียวยาในเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าจะสูงถึง 1.7 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มตลาดในเดือน มิ.ย. นี้ ยังมีปัจจัยกดดันหลายปัจจัยที่นักลงทุนไม่ควรมองข้าม ซึ่งมีโอกาสจะกดดันให้เกิดแรงขายในเดือนนี้ โดยปัจจัยหลัก ได้แก่ ความขัดแย้งะหว่างสหรัฐกับจีนซึ่งมีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้น และอาจจะนำไปสู่การกำหนดนโยบายการค้าใหม่ของแต่ละประเทศ ถัดมาคือ การเร่งออกพันธบัตรเพื่อระดมเงินของหลายประเทศ อาจทำให้สภาพคล่องในระบบการเงินโลกลดลงชั่วคราว

ส่วนปัจจัยภายในนั้น อาจขาดแรงกระตุ้นใหม่ภายหลังจากที่คลายมาตรการล็อกดาวน์ เฟส 3 ไปแล้ว ขณะที่มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท จะเริ่มได้เร็วสุดคือเดือน ก.ค. ขณะที่มูลค่าของดัชนี SET เริ่มตึงตัว ด้วย P/E เฉลี่ย 17.5 เท่า ในปี 2563 – 2564 สูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังที่ 16.5 เท่า ขณะที่ส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนของตลาดหุ้น เทียบกับพันธบัตรรัฐบาล ลดลงมาเหลือ 4.1% จากที่เคยขึ้นไปสูงสุด 6.5% ในช่วงกลางเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา และจากสถิติในอดีต การฟื้นตัวในช่วงวิกฤติจะมีการพักตัวลงมาเมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 12 – 14 โดยปัจจุบันดัชนี SET ฟื้นจากจุดต่ำสุดมาแล้ว 11 สัปดาห์

ด้าน ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า ทิศทางตลาดหุ้นไทยในเดือน มิ.ย. นี้ น่าจะแกว่งตัวอยู่ในกรอบ 1,240 – 1,420 จุด ซึ่งเป็นกรอบดัชนีที่อิงกับแนวโน้มกำไรบริษัทจดทะเบียนในปี 2564 ที่ 84.5 บาต่อหุ้น บนสมมติฐานค่า P/E ที่ 14.6 เท่า และ 16.8 เท่า

“ด้วยระดับดัชนีปัจจุบัน มองว่าตลาดกำลังซื้อขายกันด้วยกำไรปีหน้า เพราะหากประเมินบนฐานกำไรปีนี้ ถือว่าแพงมาก”

อย่างไรก็ดี ตลาดยังมี 3 ปัจจัยหนุน ที่เข้ามาช่วยพยุงไม่ให้ดัชนีปรับตัวลงแรงนัก ได้แก่ แรงขายที่ไม่มากนักของนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากสัดส่วนการถือครองของต่างชาติในปัจจุบันอยู่ที่เพียง 26% ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ถัดมาคือ การใช้มาตรการ uptick ทำให้มูลค่าการขายชอร์ต (Short selling) ลดลงไปราว 4-5 พันล้านบาทต่อวัน ซึ่งต้องติดตามว่าตลาดอาจจะต่ออายุมาตรการดังกล่าวออกไปอีกจากสิ้นเดือน มิ.ย. นี้ และท้ายสุดคือ นักลงทุนรายย่อยเริ่มเข้ามามีส่วนร่วมกับตลาดมากขึ้น จากต้นปีที่มีสัดส่วนรายย่อยราว 30% เพิ่มขึ้นมาเป็น 50% ในปัจจุบัน

“โดยรวมมองว่าดัชนี SET น่าจะแกว่งตัวออกข้างในเดือน มิ.ย. นี้ จากที่อยู่บริเวณกึ่งกลางของกรอบดัชนีในขณะนี้ แม้ดัชนีอาจจะไม่ปรับตัวลงแรง แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่กดดันตลาดได้อยู่”

สำหรับความเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีน ซึ่งอาจจะบานปลายได้ โดยสหรัฐอาจจะเพิ่มจีนเข้าไปในลิสต์รายชื่อประเทศที่บิดเบือนค่าเงินอีกครั้ง หลังจากที่ถอดจีนออกจากลิสต์ดังกล่าวเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งประเทศที่อยู่ในลิสต์นี้ จะตามมาด้วยการกีดกันทางการค้า

กลยุทธ์การลงทุนในเดือนนี้ แนะนำเลือกหุ้นที่ปลอดภัยจากปัจจัยภายนอก ได้แก่ กลุ่มโรงไฟฟ้า สื่อสาร ขนส่งสาธารณะ อาหารและเกษตร และบริหารสินทรัพย์