ระวัง!! อาการอักเสบในเด็กไทย พบโทร.1415

ระวัง!! อาการอักเสบในเด็กไทย พบโทร.1415

เตือนพ่อแม่ระวังกลุ่มอาการ MIS-C ในเด็ก หากพบมีผื่นตามตัว ไข้ขึ้นสูง มีการอักเสบตามร่างกาย  มีอาการซึม มีอาการรู้ตัวน้อยลง รีบพบแพทย์ โทรสายตรง 1415  ระบุแม้ไทย- ประเทศเอเชีย ไม่พบผู้ป่วยเด็กกลุ่มดังกล่าวแต่ต้องเฝ้าระวัง ย้ำทุกคนควรสวมหน้ากากอนามัย

ตั้งแต่เม.ย.เป็นต้นมา ประเทศทางตะวันตก พบเด็กที่มีอาการอักเสบผิดปกติรุนแรงหลายๆ ระบบในร่างกายพร้อมกัน โดยลักษณะที่จะเด่นๆ จะมีผื่นซึ่งกินพื้นที่บริเวณร่างกาย ประมาณ 60-70 % ของพื้นที่ร่างกาย  มีการอักเสบตาแดง  มีอาการซึม มีอาการรู้ตัวน้อยลง มีอาการช็อค และมีอาการทางเดินอาการ ซึ่งเมื่อเทียบเคียงตอนแรก พบว่าเป็นกลุ่มอาการ MIS-C หรือภาวะอักเสบหลายระบบในเด็ก ซึ่งจะมีอาการคล้ายคลึงกับอาการโรคคาวาซากิในเด็กเอเชีย 

วันนี้ (2 มิ.ย.) ที่กระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวสถานการณ์ไวรัสโคโรนา 2019 เรื่อง โรคคาวาซากิ กับโรคโควิด 19  โดย รศ.พญ.วารุณี พรรณพานิช วานเดอพิทท์ แพทย์เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ  สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์  กล่าวว่า ข้อมูลระบาดวิทยาล่าสุดในเด็ก พบว่า เด็กเสี่ยงต่อการติดเชื้อและเจ็บป่วยด้วยโควิด-19 ร้อยละ 1-5 ของจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด ซึ่งบางเมืองของประเทศอิตาลี ซึ่งมีการคัดกรองเป็นจำนวนถึงร้อยละ 70 ของประชากรทั้งหมดก็พบว่าไม่มีเด็กอายุน้อยกว่า 10 ปี ที่ติดเชื้อในขณะที่พบอัตราการติดเชื้อร้อยละ 2.6 ในประชากรทั้งหมด  

งานวิจัยในประเทศญี่ปุ่น มลรัฐกวางโจว อู่ฮั่นและเซี่ยงไฮ้พบเด็กมีความเสี่ยงตอการติดเชื้อจากการสัมผัสกับผู้ป่วยน้อยกว่าผู้ใหญ่มาก โอกาสที่จะพบว่าเด็กเป็นตัวกลางในการแพร่กระจายเชื้อมีน้อย รายงานผู้ป่วยจากประเทศฝรั่งเศส พบว่า มีเด็ก 1 ราย ที่ตรวจพบเชื้อแต่เมื่อสืบค้นผู้สัมผัสไปกว่าร้อยรายไม่พบว่าเด็กได้แพร่กระจายเชื้อให้กับเด็กคนอื่นในโรงเรียนอื่นๆ มีงานวิจัยที่พบว่าเชื้อ โควิด-19 สามารถตรวจพบได้ด้วยวิธี PCRในอุจจาระของเด็กที่ติดเชื้อได้เป็นเวลาหลายสัปดาห์ และการส่งต่อการติดเชื้อในชุมชน ยังมีข้อจำกัด 

รศ.พญ.วารุณี  กล่าวต่อว่าเมื่อเทียบโรคโควิด-19 ในเด็กเทียบเคียงกลุ่มอาการ MIS-C  หรือภาวะอักเสบหลายระบบในเด็ก จากการรายงานพบว่า วันที่ 7 เม.ย.2563 เคสแรกที่เข้าได้กับกลุ่มอาการโรคคาวาซากิร่วมกับตรวจพบการติดเชื้อ COVID -19  ในเด็กอายุ 6 เดือน วันที่ 25 เม.ย.2563 ประกาศเตือนจากประเทศอังกฤษ การเจ็บป่วยเป็นกลุ่มก้อนของเด็กที่มีอาการช็อค  ร่วมกับการอักเสบของอวัยวะหลายๆ ระบบ และมีหลักฐานการติดเชื้อ COVID-19 ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์

เมื่อวันที่  7 พ.ค.2563  รายงานผู้ป่วยทั้งหมด 8 รายที่มีอาการ ดังกล่าว และวันที่ 27 เม.ย.2563 National Health Service ของประเทศอังกฤษ ประกาศเตือนให้เฝ้าระวังกลุ่มอาการหลอดเลือดอักเสบผิดปกติ ในเด็กมีลักษณะอาการเข้าได้กับ โรคคาวาซากิ หลังจากที่ได้มีรายงานผู้ป่วยจำนวนเพิ่มขึ้นผิดสังเกต

นอกจากนั้น วันที่ 1 พ.ค. 2563 ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ ประเทศอังกฤษแถลงแนวทางการวินิจฉัยและการดูแลรักษาการเจ็บป่วยชนิดนี้  4 พ.ค.2563 ผู้ว่าการนิวยอร์กได้ออกประกาศเตือนให้เฝ้าระวังและจับตาดูภาวะนี้เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีผู้ป่วยจำนวนสูงสุดถึง 15 ราย ในนิวยอร์ก และวันที่ 15 พ.ค.2563 องค์การอนามัยโลก องค์การป้องกันและควบคุมโรคสหรัฐอเมริกาและองค์การควบคุมและป้องกันโรคของทวีปยุโรปเสนอแนวทางในการเฝ้าระวังโรและรายงานโรค

รศ.พญ.วารุณี  กล่าวต่อไปว่ากลางเดือนพ.ค.2563 พบว่ามีผู้ป่วยอาการคล้ายคลึงกัน กว่าหลายร้อยรายได้รับการสอบสวนโรค โดยพบว่าผู้ป่วยที่ต้องสงสัยกว่า 200 รายในประเทศอเมริกา กว่า 145 รายอยู่ในนิวยอร์ก กว่า 100 ราย อยู่ในประเทศอังกฤษ 135 ราย อยู่ในฝรั่งเศส  20 ราย อยู่ในเนเธอร์แลนด์ และ 10 ราย ในสวิตเซอร์แลนด์และ 10 รายในเยอรมนี  และมีรายงานผู้ป่วยที่เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 5 ราย แบ่งเป็น  1 รายในประเทศฝรั่งเศส 1 รายในประเทศอังกฤษและ 3 รายในประเทศสหรัฐอเมริกา

เมื่อเปรียบเทียบกลุ่มอาการ MIS-C กับโรคคาวาซากิ นั้น พบว่าเกณฑ์การวินิจฉัย โรคคาวาซากิ นั้นจะเป็นโรคในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และมีอาการ 4 ข้อจาก 5 ข้อดังต่อไปนี้ ตาแดง 2 ข้างไม่มีขี้ตา  ปากแดง แห้ง แตก ลิ้นแดงผิวเหมือนสตอรเบอร์รี่  ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต ไม่เจ็บ ผื่นแดงพบได้หลายรูปแบบ ยกเว้นตุ่มน้ำใส และมือเท้าบวม ผิวหนังลอกโดยเริ่มจากปลายนิ้ว 

ขณะที่กลุ่มอาการ MIS-C จะพบในอายุเกิน 5 ปี ได้บ่อยกว่า  มีอาการของระบบทางเดินอาหารได้บ่อย หัวใจล้มเหลวจากกล้ามเนื้อหัวใจทำงานผิดปกติชั่วคราว และเกล็ดเลือดต่ำอาจพบอาการทางสมอง ถ้าเป็นโรคคาวาซากิ เกล็ดเลือดสูงและจะไม่มีอาการช็อค ดังนั้นอยากให้ทุกคนร่วมกันเฝ้าระวังอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเด็ก

ทั้งนี้ เกณฑ์การเฝ้าระวังในเด็กอายุ 0-19  ปี ที่มีไข้ 3 วันขึ้นไป  ร่วมกับอาการอย่างน้อย 2 ใน 5 ข้อ  ดังต่อไปนี้  มีการอักเสบบริเวณผิวหนังและเยื่อบุ มีภาวะช็อคและความดันต่ำ  การทำงานของหัวใจผิดปกติ มีอาการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ และมีความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร  รวมถึงต้องมีระดับของค่าการอักเสบในเลือดที่เพิ่มสูงกว่าปกติ  ไม่พบหลักฐานว่าอาการที่เกิดขึ้นอธิบายได้จากสาเหตุอื่น และมีหลักฐานการติดเชื้อหรือสัมผัส COVID-19

รศ.พญ.วารุณี กล่าวอีกว่าสำหรับอาการเจ็บป่วยรุนแรงและอาการอักเสบเฉียบพลันในหลายๆ ระบบอวัยวะร่างกายในเด็ก หรือMIS-C มีความเกี่ยวเนื่องกับโควิด-19 หรือไม่นั้น  ขณะนี้ข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบันมีจำนวนจำกัด จึงไม่สามารถสรุปได้ชัดเจน ฉะนั้น องค์การอนามัยโลกจึงได้ขอความร่วมมือกุมารแพทย์ทั่วโลกรายงาน และวิเคราะห์ข้อมูลได้ ทั้งนี้ ปัจจุบันกลุ่มอาการ MIS-C ถ้าจะเกี่ยวข้องจะเป็นเรื่องการตอบสนองภูมิคุ้มกัน และเป็นเรื่องพันธุกรรมมากกว่าการติดเชื้อ

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากพ่อแม่มีข้อสงสัยหรือกังวลใจ ขอให้โทรสายตรง 1415  โรงพยาบาลเด็กให้สอบถามข้อมูล  และเข้ามาตรวจหาเพื่อป้องกันลดแออัดในโรงพยาบาลร่วมด้วย

ผศ.นพ.วรการ พรหมพันธุ์   กุมารเวชศาสตร์ - โรคหัวใจ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กล่าวว่า กลุ่มอาการโรคคาวาซากิ และMIS-C ซึ่งในMIS-C คนไข้ส่วนใหญ่ จะมีหลายๆ อวัยวะอักเสบพร้อมกัน โดยแพทย์จะตรวจเลือด และหาอาการต่างๆ จากข้อมูลจะพบว่า ผู้ป่วยเด็กที่มีอาการ MIS-C  จะอยู่ในประเทศตะวันตก ส่วนในประเทศทางเอเชีย ขณะนี้ไม่มีการพบเด็กที่มีอาการ MIS-C หรือ อาการโรคคาวาซากิ และจากข้อมูลโรงพยาบาลเด็ก ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา พบว่า โรคคาวาซากิในปี 2563 จะเห็นว่าตัวเลขลดลง สอดคล้องประเทศต่างๆ ในเอเชีย คือ โรคคาวาซากิทั่วเอเชีย อุบัติการณ์ลดลงในช่วงโควิด-19  ระบาด

นพ.ณรงค์  อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์  กล่าวว่าประเทศไทยยังไม่พบเจอผู้ป่วยเด็กมีอาการMIS-C และแม้จะมีโรคโควิด-19 ระบาด แต่อาการรุนแรงน้อยกว่าผู้ใหญ่ และเมื่อมีการดูแลอย่างดี มีการเฝ้าระวัง  ดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลได้ดีขึ้น จะพบว่าสถานการณ์คาวาซากิในประเทศไทยก็น้อยลง  

อย่างไรก็ตาม เดือนหน้าจะมีการเปิดโรงเรียน และฤดูฝน ซึ่งจะมากับโรคอีกหลายโรค เช่น ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก  ดังนั้น อยากให้ทุกคนกินร้อน ช้อนเรา ล้างมือ ใส่หน้ากาก เว้นระยะห่างระหว่างบุคคลที่จะลดโรคต่างๆ ได้ และส่วนของการดูแลสิ่งแวดล้อม แหล่งเพาะพันธุ์ยุงก็จะดูแลเรื่องโรคไข้เลือดออกได้เช่นกัน

นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค  กล่าวว่า สำหรับกรณีที่มีการพบผู้ป่วยกัมพูชากลับจากประเทศไทย นั้น ขณะนี้ทางกองระบาดวิทยาของไทยกำลังรอหนังสือแจ้งจากกระทรวงสาธารณสุข ประเทศกัมพูชา แต่จากการประสานเบื้องต้น พบว่า ประวัติ คนๆนี้เข้าทางสระแก้ว ก็ต้องดูว่าเขามาจากจ.ยะลา ซึ่งมีผู้ร่วมทาง 10 คน  ทางกรมควบคุมโรคกำลังดำเนินการในเรื่องนี้  

ทั้งนี้ ขณะนี้หลายๆ กิจการกิจกรรมได้รับการผ่อนปรน โดยผ่านระยะที่ 1 ระยะที่ 2 และระยะที่ 3 ได้เริ่มต้นนั้น  การที่จะสามารถดำเนินกิจการ หรือกิจกรรมให้เป็นปกติ ต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชนในการระมัดระวังเพื่อไม่ให้เกิดการระบาดรอบ 2 ดังนั้น  สธ.ได้มีการสนับสนุนให้มีการใช้หน้ากากอนามัย/ผ้า ทุกคน แต่เราก็ยังไม่ได้เต็ม100% ซึ่งเรื่องหน้ากากอนามัย/ผ้า สำคัญที่สุด เพราะโรคทางเดินหายใจ

โดยเฉพาะโควิด-19 เมื่อไม่มีอาการก็สามารถกระจาย แพร่โรคได้ ถ้าไม่มีการป้องกันก็จะทำให้เกิดการรับเชื้อได้ ดังนั้น อยากให้ทุกคนใช้มาตรการร่วมกัน โดยเฉพาะการสวมใส่หน้ากากอนามัย/ผ้า ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล คำนึงถึงความปลอดภัย ไม่ไปอยู่ในที่แออัด หรือไปทำให้เกิดการแออัด