'ไทยออยล์' ฝ่าวิกฤติโควิด-19 ลุยโปรเจค CFP เพิ่มศักยภาพโรงกลั่น

การระบาดของโรคโควิด-19 ช่วงต้นปี 2563 เป็นวิกฤติครั้งใหญ่ที่ทั่วโลกต้องเผชิญผลกระทบ ตอกย้ำด้วยสงครามราคาน้ำมัน ระหว่างซาอุดิอาระเบียกับรัสเซีย ที่กดดันให้ราคาน้ำมันดิบร่วงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 30 ปี ส่งผลให้ธุรกิจพลังงาน

บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP ผู้ประกอบธุรกิจการกลั่นและจำหน่ายน้ำมันปิโตรเลียมใหญ่ที่สุดในไทย เป็นหนึ่งในบริษัทที่ได้รับผลกระทบ สะท้อนผ่านผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2563 ขาดทุนสุทธิ 13,754 ล้านบาท โดยผลกระทบหลักส่วนหนึ่งมาจากการขาดทุนสต็อกน้ำมัน (Stock Loss) ซึ่งเป็นการขาดทุนมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ แต่ไทยออยล์ ไม่หวาดหวั่นพร้อมฝ่าฟันและขับเคลื่อนองค์กรไปสู่วาระฉลองอายุครบ 60 ปี ในปี 2564

วิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ไทยออยล์ เปิดเผยว่า โควิด-19 และสงครามราคาน้ำมัน ถือเป็นปัจจัยท้าทายทางธุรกิจรอบใหม่ ที่มีผลกระทบค่อนข้างรุนแรงอย่างที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน

โดยช่วงต้นปี 2563 บริษัทฯ ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสเปคน้ำมัน หลังโรงกลั่นน้ำมันหันไปผลิตน้ำมันเตาที่มีกำมะถันต่ำ ตามมาตรการองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) ที่มีผลบังคับใช้เดือนมกราคม 2563 ซึ่งเป็นเรื่องใหม่แต่ผู้ใช้และผู้ผลิตน้ำมันได้เตรียมพร้อม ต่างจากโควิด-19 ที่เกิดแบบไม่มีใครเตรียมตัว

ผลจากโควิด-19 กระทบตลาดอย่างหนักช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2563 เพราะดีมานด์น้ำมันโลกหายไปเฉลี่ย 20-25% จากการหยุดบินทั่วโลก และมาตรการล็อกดาวน์หลายประเทศรวมถึงไทย โดยผลกระทบมากที่สุด คือ ความต้องการใช้น้ำมันอากาศยาน (Jet) ที่ลดลง 90% แต่สถานการณ์จะดีขึ้นหลังเดือนพฤษภาคม เริ่มเห็นดีมานด์กลับมา หลังคลายล็อคดาวน์ 

นอกจากนั้น ตลาดน้ำมันถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาสงครามราคาน้ำมัน ที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบลดลงเร็ว แต่ไทยออยล์เป็นธุรกิจการกลั่นน้ำมันที่ได้ประโยชน์จากส่วนต่างการกลั่นน้ำมันดิบเป็นน้ำมันสำเร็จรูปเป็นหลัก จึงไม่ค่อยได้รับผลกระทบนัก ยกเว้น Stock Loss เพราะราคาน้ำมันดิบเดือนมีนาคม 2563 ลดเหลือ 34-35 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เทียบกับปี 2562 อยู่ที่ 60-65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ลดลง 50%

ลดกำลังการผลิตระยะสั้น

ระยะสั้น บริษัทฯ ปรับตัวลดกำลังการผลิตลงเพียง 10-15% โดยมีอัตราการใช้กำลังการกลั่น 95-100% จากปกติที่ระดับ 110% โดยเปลี่ยนโหมดการผลิต ปรับลดสัดส่วนกำลังการกลั่นน้ำมันอากาศยาน (Jet) ลงจาก 20% ของกำลังผลิตเหลือ 10% และไปผลิตน้ำมันชนิดอื่น เช่น ดีเซล เบนซิน และผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี รวมถึงน้ำมันหล่อลื่นใน Value Chain เช่น ผลิตภัณฑ์พาราไซลีน (PX) รวมถึงเพิ่มการส่งออกที่เป็นการปรับกระบวนการผลิตให้ยืดหยุ่น

159108836349

บริษัทฯดำเนินมาตรการ3 ส่วน เพื่อตอบสนองต่อวิกฤติ ดังนี้

1.People First ให้ความสำคัญกับคนเป็นอันดับแรก คือ สุขภาพพนักงานต้องปลอดภัยจากโควิด-19 โดยตั้งศูนย์ติดตามสถานการณ์และวางมาตรการป้องกันการระบาด เช่น ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย แบ่งพนักงานเข้าปฏิบัติงานผ่านมาตรการ Work From Home ทำให้พนักงาน 50% ทำงานที่บ้าน ยกเว้นพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ตามไซต์งาน

รวมถึงร่วมสนับสนุนด้านสาธารณสุข เช่น เครื่องเติมออกซิเจน ชุดคลุมป้องกันการติดเชื้อ (PPE) สำหรับห้องผ่าตัด การมอบแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อเจลล้างมือแอลกอฮอล์ และ Face Shield ซึ่งพนักงานจิตอาสาไทยออยล์ร่วมผลิตและส่งมอบให้หน่วยงานสาธารณสุข เพื่อป้องกันสารคัดหลั่งและละอองฝอยของผู้ป่วย โดยเฉพาะพื้นที่รอบโรงกลั่นและชุมชน จ.ชลบุรี

2.การสร้างความมั่นใจความต่อเนื่องทางธุรกิจ ธุรกิจเดินได้ไม่สะดุด ตามแผนความต่อเนื่องของธุรกิจ (Business Continuity Plan) เพื่อดูแลผู้มีส่วนได้เสียทั้งลูกค้า ผู้ถือหุ้น ซัพพลายเออร์

อีกทั้งภาครัฐได้ผ่อนปรนการเก็บสำรองน้ำมันดิบตามกฎหมายจาก 6% ของกำลังผลิตเหลือ 4% ในปีนี้ ทำให้มีถังว่างขึ้นเกือบ 2 ล้านบาร์เรล ขณะที่โครงการพลังงานสะอาด (CFP) จะทำให้ในอนาคตมีความสามารถจัดเก็บน้ำมันเพิ่มขึ้น 2-3 ล้านบาร์เรล เพราะมีถังเก็บน้ำมันเพิ่มขึ้น

159111547773

ประกอบกับข้อดีของสงครามราคาน้ำมัน (Oil price war) เปิดโอกาสให้บริษัทฯ เพิ่มความยืดหยุ่นในการทำงาน โดยการสต็อกน้ำมันในระดับราคาที่ต่ำให้มากขึ้น ในขณะที่แนวโน้มราคาน้ำมันที่คาดว่าจะเริ่มสูงขึ้นจะทำให้บริษัทฯได้ประโยชน์ หรือ มีกำไรจากการสต็อกน้ำมัน (Stock Gain) ในระยะถัดไป

ส่วนดีมานด์น้ำมันอากาศยาน (Jet) ที่หายไป ทำให้บริษัทฯ บริหารจัดการแผนการขาย โดยใช้จังหวะนี้ ลดการผลิตและขาย Jet ลง และหันไปเพิ่มการขายและผลิตน้ำมันดีเซลแทน ส่วน Jet ที่เหลือก็จะทำการส่งออกแทน

นอกจากนี้ การลงทุนและการลดต้นทุน บริษัทฯ ได้ตั้งเป้าหมายท้าทายในแต่ละปี โดยลดงบค่าใช้จ่ายไม่จำเป็นลง 20-25% เพื่อควบคุมค่าใช้จาย ลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ยกเว้น โครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project: CFP) ยังเดินต่อตามแผนแม้โควิด-19 จะกระทบการทำงานของผู้รับเหมาใน 3 ประเทศ ทั้งอิตาลี ยูเออีและเกาหลีใต้ แต่มั่นใจว่าพร้อมเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ปี 2566

3.เตรียมพร้อมรับการฟื้นตัว (Recovery) ฉกฉวยโอกาสพร้อมขับเคลื่อนองค์กรไปข้างหน้าทันทีที่สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ หรือรองรับต่อการกลับมาของชีวิตวิถีใหม่ (New normal) ซึ่งสุดท้ายแล้วโควิด-19 จะผ่านไป

“ไทยออยล์เป็นโรงกลั่นที่มีประสิทธิภาพในการกลั่นสูงที่สุดโรงหนึ่งในภูมิภาค ไม่ใช่แค่ในไทย เราปรับใช้เทคโนโลยีค่อนข้างเยอะ ทั้งการผลิต การกลั่นและโครงการ CFP จะช่วยให้ความสามารถการแข่งขันการกลั่นดีขึ้น”

ลุยโครงการพลังงานสะอาดอัพกำลังผลิต

โครงการ CFP เป็นโครงการใหญ่ใช้เงินลงทุน 1.6 แสนล้านบาท แม้โควิด-19 กระทบแผนก่อสร้างและการจัดซื้อและจัดส่งอุปกรณ์ แต่ล่าสุดเดือนเมษายน การก่อสร้างคืบหน้า 36% และมีโอกาสเร่งเครื่องช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นจังหวะดีช่วงนี้ตลาดแรงงานอ่อนตัวลง ฉะนั้นในช่วงที่บริษัทฯต้องการเร่งรีบใช้แรงงาน เชื่อว่าจะระดมสรรพกำลังเข้าไซต์งานได้เต็มที่

159108888019

“ปีนี้คาดการณ์ว่าจะมีคนงาน 1 หมื่นคนบนไซต์งาน แต่ว่ายังเข้ามาไม่ได้ แต่ตอนนี้ยังไม่ถึง 4-5 พันคน จากช่วงพีคจะถึง 2 หมื่นคน แต่จะทยอยเพิ่ม เชื่อว่าโครงการนี้จะตอบโจทย์การลงทุนภาครัฐ เพราะอยู่ใน EEC และเน้นวัสดุในประเทศ (Local Content) ทั้งซัพพลายเออร์คนไทย ผู้รับเหมาคนไทย แรงงานไทย อย่างน้อย 1 ใน 3 ของเงินลงทุนจะตกในไทย”

ทำให้มีความยืดหยุ่ดในการใช้ Crude หลากหลายประเภทมากขึ้น จากเดิมกลั่นน้ำมันประเภทเบา (Light Crude) จะกลั่นน้ำมันประเภทหนัก (Heavy Crude) มากขึ้น ซึ่งจะเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน และทำส่วนประสมของผลิตภัณฑ์ (Product Mix) ดีขึ้น และพร้อมฉวยโอกาสเรื่องของมาร์เก็ตแชร์