'โควิด' เฟ้นจุดแข็งประเทศ สศช.ชงปรับ 'ยุทธศาสตร์ชาติ '

'โควิด' เฟ้นจุดแข็งประเทศ สศช.ชงปรับ 'ยุทธศาสตร์ชาติ '

สศช.ชงปรับ "ยุทธศาสตร์ชาติ" ก่อนกำหนด รับโอกาสเศรษฐกิจหลัง "โควิด-19" หารือส่วนราชการปรับแผนแม่บท ชงนายกฯ ต.ค.นี้

พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2560 กำหนดให้มียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ตามหลักธรรมาภิบาลเพื่อใช้เป็นกรอบทําแผนให้สอดคล้องและบูรณาการกัน และกำหนดชัดเจนว่าระยะเวลาที่กําหนดในยุทธศาสตร์ชาติต้องไม่น้อย 20 ปี

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยทั้งระยะสั้นและระยะยาว ทำให้ต้องปรับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นถือเป็นเหตุจำเป็นเร่งด่วนตาม พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ ทำให้แก้ยุทธศาสตร์ชาติได้แม้ยังไม่ครบ 5 ปีที่ประกาศใช้เพื่อให้เกิดความชัดเจนในแผนและทิศทางในการพัฒนาหลักของประเทศ

ทั้งนี้การปรับยุทธศาสตร์ชาติจะไม่ใช่การปรับเป้าหมายระยะยาวที่เป็นเป้าหมายสำคัญ เช่น การผลักดันให้ไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางเมื่อครบแผนในปี 2580 แต่เป็นการปรับแผนแม่บทในแต่ละด้านที่ได้รับผลกระทบ 

159107522262

ปัจจัยสำคัญของการปรับยุทธศาสตร์มาจากการเกิดขึ้นของโควิด-19 เช่น ด้านท่องเที่ยวที่ก่อนหน้านี้เคยวางตัวชี้วัดไว้แบบที่ต้องการนักท่องเที่ยวจำนวนมาก จะเปลี่ยนเป็นแผนแม่บทที่ให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและคุณภาพ มากขึ้นไม่ใช่การท่องเที่ยวที่มุ่งดึงคนจำนวนมากเข้าประเทศ (Mass tourism) เหมือนอดีต

นอกจากนี้ การปรับปรุงแผนยุทธศาสตร์ชาติต้องเน้นในส่วนที่ประเทศจะให้ความสำคัญหลังโควิด-19 คือ ส่วนที่ไทยมีศักยภาพ เช่น ภาคเกษตร ภาคสาธารณสุข โดยก่อนหน้านี้เรื่องสาธารณสุขอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง ก็จะนำออกมาเน้นให้มีความชัดเจนมากขึ้นเพื่อสร้างโอกาสในระยะต่อไปให้กับประเทศ 

สำหรับขั้นตอนในการปรับปรุงยุทธศาสตร์ชาติ คณะกรรมการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 คณะฯจัดทำจะเชิญประชุมหน่วยงานราชการต่างๆหารือร่วมกับหน่วยงานราชการในการปรับปรุงแผนแม่บทด้านต่างๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของโลกยุคหลังโควิด-19ว่าทิศทางของประเทศจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร 

  • เปิดรับฟังความเห็น ต.ค.นี้

รวมทั้งรับฟังความเห็นจากสาธารณะในช่วงการประชุมประจำปี สศช.วันที่ 21 ก.ย.2563 โดยจะปรับปรุงรายละเอียดแผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทให้เสร็จในเดือน ก.ย.และเสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ช่วงต้นเดือน ต.ค.นี้

เมื่อได้ทิศทางการปรับยุทธศาสตร์ชาติจะกำหนดกิจกรรมโครงการในการใช้จ่ายและอนุมัติงบประมาณตั้งแต่ปี 2564-2565 ต่อไป และจะสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบัที่ 12 ของ สศช.ที่กำลังปรับทิศทางเมื่อใช้แผนมาครึ่งทางและเตรียมทำแผนฉบับที่ 13 ต่อเนื่อง

“สถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้นทำให้ต้องเอาแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติมาดูทั้งหมดว่าอะไรจะต้องทบทวน อะไรต้องแก้ไข บางสิ่งอาจจะต้องเร่งให้เร็วขึ้น และบางสิ่งยังทำไม่ได้ต้องเร่งทำในระยะต่อไป เช่น ช่วงปี 2570-2575 ซึ่งในเดือน ต.ค.นี้จะเป็นช่วงปรับแผนและเราจะได้ทิศทางของประเทศที่ชัดเจน”

159107619665

  • เฟ้นจุดแข็งประเทศหลังโควิด

นายทศพร กล่าวว่า ข้อมูลที่มีอยู่ในขณะนี้ทำให้เห็นว่าทิศทางของประเทศหลังโควิดไทยจะเน้นในเรื่องที่เป็นจุดแข็งของประเทศ การเกษตรที่เป็นจุดแข็งของไทยจะไม่ใช่การผลิตเพื่อส่งออกในจำนวนมาก เช่น ผลไม้ ซึ่งจุดนี้ไม่สำคัญเท่าคุณภาพของผลผลิตและการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร

ส่วนการท่องเที่ยวต้องเปลี่ยนเป็นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งทั้ง 2 ส่วนนี้ ถือว่าใช้จุดแข็งของประเทศไปพัฒนาและสร้างรายได้ให้กับประเทศ

ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมที่มีฐานการผลิตในประเทศ เป็นสิ่งที่ยังต้องส่งเสริมต่อไปหรือแบบที่เรียกว่า “business as usual” ที่มีการผลิตมาก็ส่งเสริมให้ทำกันต่อไป โดยเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ยังมีต่อ แต่สิ่งที่ต้องสร้างขึ้นมาคือเราละเลยเศรษฐกิจฐานรากมานาน

159107626998

ดังนั้น เมื่อเกิดวิกฤติโควิด-19 ในครั้งนี้แล้วเรามีวงเงินในการฟื้นฟูเศรษฐกิจจาก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ ที่กันวงเงินไว้ 4 แสนล้านบาท ถือว่าเป็นโอกาสวางพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศให้เข้มแข็งมากขึ้น

“การปรับปรุงยุทธศาสตร์ชาติที่เกิดขึ้นในปีนี้ ถือเป็นโอกาสที่จะสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืน เพราะที่ผ่านมาเราพัฒนาในรูปแบบที่ไม่ยั่งยืนมานานแล้ว เราเน้นส่งออก แต่การส่งออกของเราเกิดจากการย้ายฐานการผลิตมาอยู่ที่ไทยนำวัตถุดิบมาผลิตในไทยแล้วส่งออก" นายทศพร กล่าว

ทั้งนี้ เมื่อบริษัทต่างชาติย้ายโรงงานไปส่งผลต่อการจ้างงานจึงถือว่าไม่ยั่งยืน จึงต้องใช้โอกาสนี้ในการปรับแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติเพื่อสนับสนุนการเข้มแข็งของเศรษฐกิจชุมชน ฐานรากให้มีความเข้มแข็ง ส่วนเรื่องการผลิตเพื่อส่งออกจะเลือกเฉพาะส่วนที่เข้มแข็ง ซึ่งประเด็นนี้เราละเลยมานานแล้วควรจะทำ

  • เน้นเศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็ง

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า การปรับยุทธศาสตร์ชาติด้านเศรษฐกิจนอกจากการสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง และการเพิ่มมูลค่าการเกษตรและการท่องเที่ยวคุณภาพ สศช.ยังเน้นในเรื่องโอกาสทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากภาคบริการที่ไม่ใช่ภาคท่องเที่ยว

ทั้งนี้ จะเน้นภาคบริการสมัยใหม่ (Modern Service) เพื่อทดแทนภาคท่องเที่ยวที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันลดลง โดยภาคบริการสมัยใหม่จะรองรับการจ้างงานจำนวนมาก และสร้างรายได้ในอนาคต

ทั้งนี้ สศช.ได้พิจารณาว่าแม้ในช่วงที่เกิดโควิด-19 ระบาดภาคบริการของประเทศไทยได้รับผลกระทบแตกต่างกัน โดยภาคท่องเที่ยวและโรงแรมได้ผลกระทบมากแต่ภาคบริการบางสาขาของไทยยังสามารถปรับตัวและขยายธุรกิจเพิ่มได้ เช่น กลุ่มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ธุรกิจบริการดิจิทัล โลจิสติสก์ การแพทย์ทางไกล ซึ่งหากวางยุทธศาสตร์ในการส่งเสริมเพิ่มเติมในธุรกิจบริการสมัยใหม่ เช่น ดิจิทัลแพลตฟอร์มและระบบโลจิสติกส์ ทำให้ ภาคการผลิตและบริการมีความคล่องตัว มีประสิทธิภาพ และลดการผูกขาดของพ่อค้าคนกลาง

159107634654

นอกจากนี้หากสามารถสร้างแรงงานในสาขาที่จำเป็นเร่งด่วน เช่น โลจิสติกส์ ดิจิทัล คอนเทนส์ ระบบอัตโนมัติ แม่พิมพ์ รวมทั้งสร้างระบบนวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation System) เพื่อส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ของผู้มีบทบาทในห่วงโซ่คุณค่าและผู้ต้องการใช้ประโยชน์

รวมทั้งสร้างแหล่งความรู้และบุคลากร ที่มีความรู้ความสามารถทั้งในและนอกประเทศ และจัดทำแซนบ็อกซ์ปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบ (Regulatory Sandbox) เพื่อทดสอบ นวัตกรรมบริการในรายสาขาบริการสำคัญจะเพิ่มโอกาสเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต

159107636519

  • สร้างกลไกตรวจสอบติดตาม

สำหรับกลไกการติดตามและตรวจสอบยุทธศาสตร์ชาติตาม พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พ.ศ. 2560 กำหนดให้มีหน่วยงานและกลไกในการติดตามและประเมินการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติของหน่วยงานต่างๆ โดยหน่วยงานที่ทำหน้าที่หลักคือกองยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ ของ สศช.ได้ปรับโครงสร้างหน่วยงานตาม พ.ร.บ.ฉบับใหม่ที่ประกาศใช้ในปี 2561 เพื่อรองรับภารกิจเรื่องยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ

นอกจากนั้น มีกลไกในการติดตามและตรวจสอบหลายระดับตั้งแต่การรายงานความคืบหน้าต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะรัฐมนตรี (ครม.) และต้องรายงานต่อรัฐสภาเพื่อรับทราบตามกรอบระยะเวลา นอกจากนี้การกำกับติดตามยุทธศาสตร์ชาติยังกำหนดให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องจะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามแผน แม่บทยุทธศาสตร์ รวมทั้งการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณที่ต้องสอดคล้องกับแผนแม่บทด้วย