'ปริญญา' ถาม ป.ป.ช. จากนี้จะป้องกันการให้สินบนสิ่งของได้อย่างไร?

'ปริญญา' ถาม ป.ป.ช. จากนี้จะป้องกันการให้สินบนสิ่งของได้อย่างไร?

"ปริญญา" จี้ถาม ป.ป.ช.ผุด "ยืมใช้คงรูป" แจงปมยืมนาฬิกา จากนี้จะป้องกันการให้สินบนสิ่งของได้อย่างไร?

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ และรองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊ก Prinya Thaewanarumitkul โดยเนื้อหาระบุว่า...

#ยืมใช้คงรูป กับคำถามต่อ ป.ป.ช. จากนี้ไปเราจะ #ป้องกันการให้สินบนเป็นสิ่งของได้อย่างไร?

วันเสาร์ที่ผ่านมามีข่าวเรื่องผลการพิจารณาของ ป.ป.ช. (หนังสือ ป.ป.ช. ลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2563) ที่มีการขอให้ชี้มูลความผิดของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่ไม่ได้แจ้งนาฬิกาจำนวนหลายสิบเรือนซึ่งราคารวมนับสิบล้านบาทลงในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน โดย ป.ป.ช. สรุปว่า การยืมนาฬิกาของ พลเอกประวิตรเป็นการ “ยืมใช้คงรูป” แม้ว่าจะเป็นหนี้ เพราะผู้ยืมมีหน้าที่ต้องคืน แต่มิใช่หนี้สินที่ ป.ป.ช. กำหนดให้ต้องแจ้งในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพราะรายการหนี้สินที่ต้องแจ้งในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน “หมายถึงหนี้สินที่ต้องเป็นเงินตราเท่านั้น” ดังนั้น พลเอกประวิตร “จึงไม่มีหน้าที่ที่ต้องแจ้งรายการยืมนาฬิกาดังกล่าวเป็นหนี้สินในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน” ซึ่งทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันมากพอสมควร

ผมเห็นว่า #ประเด็นหลักของเรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นข้อกฎหมาย ว่าการยืม หรือที่ ป.ป.ช.ใช้ถ้อยคำทางกฎหมายว่า “ยืมใช้คงรูป” จะต้องแจ้งในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินหรือไม่ แต่ #ประเด็นหลักเป็นปัญหาข้อเท็จจริงครับ คือนาฬิการาคาแพงจำนวนหลายสิบเรือนที่ พลเอกประวิตร เคยใส่ แล้วปรากฏเป็นภาพข่าวต่างกรรมต่างวาระกันนั้น #เป็นนาฬิกาเพื่อนจริงหรือไม่ ซึ่ง ป.ป.ช.ไม่ได้พูดถึงประเด็นข้อเท็จจริงตรงนี้เลย คือเหมือนกับเชื่อไปเลยว่า พลเอกประวิตร ยืมเพื่อนมาจริง แล้วก็ข้ามประเด็นข้อเท็จจริงนี้ ไปประเด็นข้อกฎหมายเลย ว่าของที่ยืมมาไม่ต้องลงในบัญชีทรัพย์สินและหนึ้สิน

เรื่องการทุจริตเป็นเรื่องข้อเท็จจริงครับ ซึ่งควรต้องทำให้ยุติก่อนให้ได้ว่านาฬิกาเป็นของใคร ซึ่งถ้า ป.ป.ช. มีข้อเท็จจริงที่ทำให้ ป.ป.ช. เชื่อว่า พลเอกประวิตร ยืมนาฬิกาเพื่อนมาจริง ป.ป.ช. ก็ควรแสดงหลักฐานให้ปรากฏต่อสาธารณะให้คนสิ้นสงสัย เพราะนาฬิการาคาแพงล้วนแต่มีหลักฐานการซื้อขายและมีใบรับรองทั้งนั้น ทำไมถึงไม่ให้เจ้าของนาฬิกา หรือทายาทเอาหลักฐานการเป็นเจ้าของออกมาแสดงเลย เพียงแค่นั้นก็จบแล้วครับ

ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

แต่เมื่อ ป.ป.ช. ไม่ดำเนินการในเรื่องข้อเท็จจริงตรงนี้ แล้วใช้แต่ข้อกฎหมายเช่นนึ้ ก็ไม่มีทางแก้ข้อสงสัยได้ และคนก็จะสงสัยตลอดไปอยู่อย่างนั้น ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อ พลเอกประวิตร เลยหากเป็นนาฬิกาที่เพื่อนให้ยืมมาใส่จริงๆ โดยเฉพาะอย่างย่ิงเมื่อพลเอกประวิตรจะเล่นการเมืองเต็มตัวแล้วตามข่าวที่ปรากฏออกมาครับ

แล้วประเด็นที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ จากนี้ไป ป.ป.ช. จะป้องกันผู้ทุจริตที่เอาเงินที่ได้มาโดยมิชอบไปซื้อของแพงๆ เช่น นาฬิกา หรือแหวนเพชรราคาหลายล้านบาท แล้วก็ไม่แจ้งบัญชีทรัพย์สินโดยอ้างว่ายืมเพื่อนมาได้อย่างไร? เมื่อ ปปช. ไม่หาข้อยุติในเรื่องข้อเท็จจริงก่อนว่าสิ่งของนั้นเป็นของคนอื่นจริงหรือไม่เช่นนี้

และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ป.ป.ช. #จะป้องกันการให้สินบนในรูปแบบของสิ่งของได้อย่างไร เช่น การให้สินบน ค่าอำนวยความสะดวก หรือ ส่วย ด้วยการให้นาฬิการาคาแพง หรือการให้ของมีค่าอย่างอื่น เพราะเป็นวิธีการหนึ่งที่นิยมทำกันมากอยู่แล้ว และจากนี้ไปก็อาจจะยิ่งทำกันได้มากขึ้น เพราะทุกคนจะอ้างได้หมดแล้วว่ายืมเพื่อนมา

ด้วยความเคารพ นี่เป็นคำถามที่คนอยากได้ยินคำตอบจาก ป.ป.ช. ครับ