เร่งฟื้นฟูประเทศ ต้องมาก่อนทุกสิ่ง

เร่งฟื้นฟูประเทศ ต้องมาก่อนทุกสิ่ง

ผลกระทบที่รุนแรงของโควิด ทำให้ในช่วงเวลาของการ “ฟื้นฟูประเทศ” เป็นโจทย์ยากของรัฐบาลผ่านการออกมาตรการทางการเงิน และมาตรการที่ไม่ใช่การเงิน ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัย “เสถียรภาพ” ของรัฐบาลในการขับเคลื่อน 

การระบาดของโรคโควิด-19 ที่ลามไปทั่วโลกตั้งแต่ปลายปี 2562 จนถึงขณะนี้  ขณะที่ในไทย สถานการณ์การระบาดเริ่มคลี่คลายเป็นลำดับ โดยพบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เป็นตัวเลขหลักเดียว บางวันไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ สถานการณ์ที่ดีขึ้นนี้ ทำให้รัฐบาลเริ่มทยอย “คลายล็อกดาวน์” การดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจ

โดยวานนี้ (1 มิ.ย.) เป็นวันแรกของการคลายล็อกดาวน์ระยะที่ 3  ลดเวลาห้ามออกนอกเคหสถาน หรือเคอร์ฟิว เป็น 23.00-03.00 น. อนุญาตให้จัดอีเวนท์ในพื้นที่ไม่เกิน 2 หมื่นตารางเมตร เปิดโรงภาพยนตร์โดยจัดพื้นที่ให้นั่งเว้นระยะห่าง การขยายเวลาปิดห้างสรรพสินค้า เป็น 21.00 น. เป็นต้น รัฐยังหารือกันต่อเนื่องถึงมาตรการคลายล็อกดาวน์ในระยะถัดไป ซึ่งจะเกิดขึ้นในไม่ช้านี้ หากสามารถคุมการระบาดของโควิดได้ดีอยู่เช่นนี้

อย่างไรก็ตาม แม้รัฐจะเริ่มคลายล็อกดาวน์ ทว่ายัง “เทียบไม่ได้” กับผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยมีการประเมินกันว่า วิกฤติโควิดรอบนี้ “หนักกว่า” วิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 2540 เนื่องจากได้รับผลกระทบหนักไปทุกหย่อมหญ้า ที่ผ่านมาสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินผลกระทบของโควิดต่อการจ้างงาน พ่วงกับผลกระทบภัยแล้ง โดยระบุว่าจะทำให้แรงงานในประเทศ 14 ล้านคน มีความเสี่ยงและได้รับผลกระทบกับการจ้างงาน แบ่งเป็นนอกภาคเกษตร 8.4 ล้านคน และในภาคเกษตร 6 ล้านคน 

โควิดยังส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในไตรมาสแรกของปีนี้ หดตัว 1.8% เป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 6 ปี ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยตัวเลขเศรษฐกิจในเดือน เม.ย. พบว่าเครื่องยนต์เศรษฐกิจทุกตัว ปรับตัวลดลงยกเว้นการใช้จ่ายภาครัฐ โดยภาคท่องเที่ยวหดตัว 100% ขณะดัชนีเชื่อมั่นบริโภคเอกชนต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ยังมีการประเมินกันว่าในไตรมาสสองของปีนี้จะเป็นไตรมาสที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจหนักสุด

จากผลกระทบที่รุนแรงของโควิด ทำให้ในช่วงเวลาของการ “ฟื้นฟูประเทศ” เป็นโจทย์ยากของรัฐบาลผ่านการออกมาตรการทางการเงิน และมาตรการที่ไม่ใช่การเงิน เพื่อดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยรัฐได้ตั้งงบประมาณในการฟื้นฟูเศรษฐกิจวงเงิน 4 แสนล้านบาท ซึ่งมาตรการต่างๆที่จะออกเพื่อช่วยเหลือประชาชนทุกภาคส่วนนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัย “เสถียรภาพ” ของรัฐบาลในการขับเคลื่อน 

ล่าสุด มีการยื่นลาออกของกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ 18 ราย “เกินกึ่งหนึ่ง” จากทั้งหมด 34 ราย ทำให้กรรมการบริหารพรรคทั้งหมดพ้นจากตำแหน่งโดยปริยายทำให้นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคฯคนปัจจุบัน กลายเป็นรักษาการหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ทำให้ต้องเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคฯภายใน 45 วัน นับเป็นการเมืองเรื่องวุ่นๆ ที่เข้ามาผสมโรงกับวิกฤติโควิดที่ว่าหนักหนาแล้ว ก็หวังว่าปัญหาทางการเมืองจะหาทางออกได้ในเร็ววัน ไม่บานปลาย เพราะเวลานี้เรื่องส่วนรวมในการ “ฟื้นฟูประเทศ” ต้องมาก่อน