รู้ทันโรคอ้วน 'ดัชนีมวลกาย' เท่าไร จึงเรียก 'อ้วน'

รู้ทันโรคอ้วน 'ดัชนีมวลกาย' เท่าไร จึงเรียก 'อ้วน'

เมื่อ "โรคอ้วน" ถูกประกาศให้เป็นโรคระบาด อย่างในประเทศไทยวันนี้ก็น่าจะมีความเป็นไปได้สูงว่าจำนวนคนที่น้ำหนักเกินในประเทศไทยน่าจะมีสัดส่วนใกล้ 40% ดังนั้นมาทำความรู้จักโรคอ้วนผ่านตัวเลขดัชนีมวลกายกันว่า ต้องมีน้ำหนักมากแค่ไหนถึงเข้าขั้นเป็นโรคอ้วน

เมื่อปี 1997 องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศว่าโรคอ้วนเป็นโรคระบาด และล่าสุดเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2020 WHO แถลงว่า ปัจจุบันมีประชากรผู้ใหญ่ที่น้ำหนักเกิน (overweight) อยู่ 1,900 ล้านคน และในจำนวนดังกล่าวมีคนเป็นโรคอ้วน (obesity) มากถึง 650 ล้านคน แต่ผมเชื่อว่าไม่มีใครทราบเรื่องนี้มากนัก เพราะตรงกับปีที่เผชิญกับวิกฤติต้มยำกุ้งพอดี

ต่อจากนั้นโรคระบาดนี้ก็มีแต่เพิ่มขึ้นจนกระทั่งข้อมูลล่าสุด (2015-2016) มีคนเป็นโรคอ้วนในสหรัฐมากถึง 39.8% ซึ่งผมความเห็นว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากจาก COVID-19 ในสหรัฐก็เพราะหลายคนเป็นโรคอ้วน ทำให้มีการอักเสบเรื้อรัง (chronic inflammation) ซึ่งทำให้ร่างกายแก่เกินไวและนำมาซึ่งโรคแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและโรคมะเร็งที่ทำให้ร่างกายไม่สามารถต่อสู้กับ COVID-19 ได้

ในประเทศไทยนั้นปรากฏจากข้อมูลของรัฐบาลไทยว่าในช่วง 18 ปี ระหว่างปี 1991-2009 มีสัดส่วนผู้ที่เป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 3.2% ของประชากรทั้งหมดในปี 1991 มาเป็น 5.4% ในปี 1997 และ 7.1% ในปี 2004 และ 9.1% ในปี 2009

หากเรามีสมมติฐานว่าอัตราการเพิ่มของคนที่เป็นโรคอ้วนเท่าเดิม ก็สามารถคำนวณได้ว่าจำนวนคนที่เป็นโรคอ้วนในปัจจุบันน่าจะเป็นประมาณ 11.5-12.5% ของประชากรทั้งหมด หรือประมาณ 7.8-8.5 ล้านคน

ทั้งนี้ผู้ที่เป็นโรคอ้วน คือคนที่น้ำหนักตัวคำนวณจากดัชนีมวลรวมของร่างกาย หรือ BMI เท่ากับหรือเกินกว่า 30 BMI คำนวณได้จากการนำเอาน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม หารด้วยความสูงเป็นเมตร ยกกำลังสอง เช่น คนที่สูง 1.67 เมตร และน้ำหนักเท่ากับ 67 กิโลกรัม จะมี BMI เท่ากับ 67÷2.7889 หรือ 24 เป็นต้น ดังนั้นคนที่สูง 1.67 เมตร หากน้ำหนักตัวเกินกว่า 83 กิโลกรัม ก็ถือว่าเป็นโรคอ้วน เป็นต้น

การมีน้ำหนักตัวที่ประเมินว่าอยู่ในระดับปกติและมีสุขภาพดีนั้น BMI จะต้องอยู่ที่ระดับ 18.5 ถึง 24.9 เช่น คนที่สูง 1.67 เมตร น้ำหนักก็ไม่ควรต่ำกว่า 52 กิโลกรัม เป็นต้น มิฉะนั้นจะถือว่าผอมเกินและขาดอาหาร สำหรับคนที่ BMI เท่ากับ 25 ถึง 29.9 นั้นถือว่าเป็นคนที่มีน้ำหนักเกิน (อ้วน) แต่ไม่ได้เป็นโรคอ้วน

ซึ่งจากสถิติของประเทศไทยนั้นพบว่าคนที่น้ำหนักเกิน (อ้วนและเป็นโรคอ้วน) เพิ่มขึ้นจาก 17.2% ของประชากรทั้งหมดในปี 1991 มาเป็น 22.6% ในปี 1997 และ 29.5% ในปี 2004 และ 34.7% ในปี 2009 ซึ่งมาถึงวันนี้ก็น่าจะมีความเป็นไปได้สูงว่าจำนวนคนที่น้ำหนักเกินในประเทศไทยน่าจะมีสัดส่วนใกล้ 40% ของประชากรทั้งหมดแล้ว ในขณะที่ในสหรัฐนั้นสัดส่วนนี้จะเท่ากับ 68%

ถามว่าการเป็นโรคอ้วนนั้นเป็นอันตรายมากน้อยเพียงใด ก็สามารถตอบได้อย่างค่อนข้างมั่นใจว่าจะทำให้อายุสั้นลงไป 3-4 ปี สำหรับคนที่ปัจจุบันอายุ 40 ปี ซึ่งเป็นข้อสรุปของงานวิจัยที่ผมคิดว่าน่าเชื่อถือ เพราะเป็นงานวิจัยที่เก็บข้อมูลจากคนอังกฤษจำนวนมากถึง 3,632,674 คน นักวิจัยติดตามดูคนกลุ่มนี้ในช่วง 1998 ถึง 2016 และพบว่ามีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 188,057 คน งานวิจัยนี้ได้นำไปตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการชั้นนำของโลกคือ The Lancet เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2018

งานวิจัยนี้พบว่าคนที่น้ำหนักขาด (ผอมเกินไป) และน้ำหนักเกินมากๆ (เป็นโรคอ้วน) ล้วนแต่มีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตมากกว่าคนที่น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติและมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตทั้งจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (non-communicable disease) และจากโรคติดต่อ (communicable disease) มากกว่าคนที่น้ำหนักอยู่เกณฑ์ปกติ

นักวิจัยจึงได้คำนวณออกมาให้เห็นว่าหากคุณอายุ 40 ปี และปัจจุบันคุณน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ หรือน้ำหนักเกินกว่า หรือต่ำกว่าปกติ คุณจะอายุสั้นลงมากน้อยเพียงใด โดยสรุปจากตารางข้างล่าง

159102618649