รัฐเปิดทางตั้ง 'กมธ.ตามงบฯ' สภาปัดแจกพื้นที่ ส.ส. 80 ล้าน

รัฐเปิดทางตั้ง 'กมธ.ตามงบฯ' สภาปัดแจกพื้นที่ ส.ส. 80 ล้าน

พปชร. ร่วมด้วย ขั้วรัฐบาลเปิดทางฝ่ายค้าน ร่วมตั้ง กมธ.วิสามัญติดตามตรวจสอบการใช้งบเงินกู้ตาม พ.ร.ก. จ่อชงที่ประชุม 10-11 มิ.ย. ด้านปธ.สภาฯ ยันไม่มีกรณี ส.ส. แบ่งงบลงพื้นที่ คนละ 80 ล้าน

ขณะที่กฤษฎีกาแจงปมศาล รัฐสภา เป็นหน่วยงานอิสระ ไม่สามารถลดงบที่ได้รับจัดสรรระหว่างปีได้

ความเคลื่อนไหวหลังการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งที่ประชุมมีมติให้ความเห็นชอบพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน จำนวน 3 ฉบับ นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือประธานวิปรัฐบาล กล่าวถึงการคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญติดตามตรวจสอบการใช้เงินกู้ว่า จะมีการหารือในที่ประชุมวิปครั้งหน้า ซึ่งมีแนวโน้มที่จะให้ตั้ง กมธ.ชุดนี้

ขณะนี้ 2 พรรค ได้ยื่นญัตติไปแล้ว คือ พรรคภูมิใจไทย กับพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งพลังประชารัฐก็ไม่ขัดข้อง ส่วนที่มีการให้สัมภาษณ์คัดค้านก่อนหน้านี้ เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวเท่านั้น เชื่อว่าจะสามารถตั้ง กมธ.ได้ในวันที่ 10 หรือ 11 มิ.ย. โดยยังไม่ทันในการประชุมสภาฯ สัปดาห์นี้ เนื่องจากมีวาระที่ต้องพิจารณาเรื่องด่วนของรัฐบาล คือ พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 วงเงิน 8.8 หมื่นล้านบาทก่อน

นายวิรัช ยืนยันว่า ไม่มีปัญหาภายในพรรคร่วมรัฐบาล ดังจะเห็นได้จากการลงมติที่ผ่านมาซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และเสียงของรัฐบาลก็มีความเข้มแข็งขึ้น อีกทั้งไม่เชื่อว่าจะเกิดปัญหาภายในจนทำให้รัฐบาลระส่ำระสาย

“ชวน”ปัดค่าหัวส.ส.80ล้าน

ส่วนนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่ นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เปิดเผยระหว่างการอภิปรายว่า พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งมีการกันงบจาก พ.ร.ก.กู้เงิน ไว้ให้ ส.ส.คนละ 80 ล้านบาท ผ่านทางจังหวัดว่า ตนไม่เคยทราบว่ามีประเด็นดังกล่าวเกิดขึ้น แต่ประเด็นที่ส.ส.อภิปราย ถูกนำหนังสือพิมพ์พาดหัวข่าวใหญ่ ซึ่งกรณีที่มีการอภิปรายในสภาฯ นั้น ส.ส.ที่พูดต้องรับผิดชอบกับประเด็นที่อภิปรายต่อสังคม

กรณีที่เกิดขึ้นนั้น ตนมองว่าเป็นคนละเรื่อง ที่จะทำให้สภาผู้แทนราษฎรตัดสินใจตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อติดตามตรวจสอบเงินกู้ เพราะเป็นเรื่องของที่ประชุมสภาฯ จะพิจารณา

ส่วนญัตติที่เสนอโดย ส.ส. ทั้งสิ้น 4 พรรค รวม 4 ญัตตินั้น ไม่ทราบว่าจะเข้าสู่การประชุมสภาฯ เมื่อใด เพราะในสัปดาห์นี้ การประชุมสภาฯ มีวาระพิจารณาที่บรรจุไว้ในระเบียบวาระ คือ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โอนงบประมาณรายจ่ายฯ ปี 2563 โดยกำหนดให้ประชุมวันที่ 4 มิ.ย. และหากไม่แล้วเสร็จจะต่อเนื่องวันที่ 5 มิ.ย.

“ก้าวไกล”ชวนสังคมร่วมตรวจสอบ

ด้านนายพิจารณ์ ชี้แจงถึงกรณีที่ได้อภิปรายในสภาฯ ประเด็นการจัดสรรงบฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาทใน พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ที่ได้ระบุว่า มีการจัดส่วนให้โครงการที่ ส.ส.เสนอ คนละ 80 ล้านบาทนั้น ตนไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน แต่ได้ยินการพูดคุยของ ส.ส.​ทั้ง ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน และส.ส.พรรครัฐบาล แต่ตนไม่ขอเปิดเผยรายละเอียดว่า ส.ส.รัฐบาลที่พูดคุยกันนั้นเป็นพรรคการเมืองใด

อย่างไรก็ตาม วิธีการที่จะจัดสรรให้ ส.ส. นั้นจะเป็นการจัดสรรผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด ตามโครงการที่ส.ส.ในพื้นที่เป็นผู้เสนอ โดยมีงบกำหนดให้สูงถึง 80 ล้านบาท ทั้งนี้ พฤติกรรมดังกล่าวตนขอให้ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชนร่วมตรวจสอบ หากพบข้อมูลขอให้ส่งมายังที่พรรคก้าวไกล

สำหรับการตรวจสอบในรายละเอียด หากสามารถทำได้ภายใต้ กมธ.วิสามัญ จะเสนอให้ตั้งดิจิทัล แพลตฟอร์ม เพื่อพิจารณาข้อมูลการใช้จ่าย แทนการรอรับรายงานจากรัฐบาลใน 3- 6 เดือน

ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายกังวลว่า เมื่อมี กมธ.วิสามัญ ที่จะประกอบด้วย ส.ส.หลายพรรคการเมืองและอาจ มีส.ส.ที่ได้รับผลประโยชน์ร่วมเป็น กมธ.นั้น ตนขอเรียกร้องให้ ส.ส.ให้ความร่วมมือต่อการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวด้วย

ฝ่ายค้านข้องใจสภา-ศาลไม่โอนงบ

วันเดียวกันคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน)ได้นัดหารือพรรคร่วมที่รัฐสภา เพื่อพิจารณาและเตรียมความพร้อมก่อนการประชุมสภาฯ ในวันที่ 4 มิ.ย.เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.)โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ.2563 พ.ศ.... วงเงิน 8.8 หมื่นล้านบาท โดยมีนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน เป็นประธานการประชุม

ทั้งนี้ที่ประชุมได้เชิญเจ้าหน้าที่จากสำนักงานกฤษฎีกา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงต่อประเด็นคำถามกรณีที่องค์กรอิสระ ศาล รวมถึงรัฐสภา ไม่ถูกหั่นงบฯ โดยผู้ชี้แจงจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ชี้แจงความในสาระสำคัญว่า องค์กรอิสระที่ได้รับจัดสรรงบประมาณแล้ว ถือว่าเป็นหน่วยงานอิสระ ไม่สามารถลดงบประมาณที่ได้รับจัดสรร ระหว่างปีงบประมาณได้ เช่นเดียวกับเงินนอกงบประมาณ ที่ไม่อยู่ในงบประมาณ

ทางด้าน นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทยฐานะวิปฝ่ายค้าน เปิดเผยว่าวิปฝ่ายค้านจะสรุปถึงเวลาที่จัดสรรให้กับพรรคฝ่ายค้านให้แล้วเสร็จ โดยกำหนดคือพิจารณา วันที่ 4 มิ.ย.หากไม่แล้วเสร็จจะต่อเนื่องวันที่ 5 มิ.ย.โดยการพิจารณาของสภาฯ จะรับหลักการ และตั้งกมธ.วิสามัญ​โดยใช้เวลาพิจารณา 7 วัน

ศบค.ขอบคุณสภาผ่าน 3พ.ร.ก.

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) กล่าวระหว่างแถลงสถานการณ์ประจำวัน ตอนหนึ่งว่า ขอขอบคุณทางรัฐสภาและสมาชิกรัฐสภาทุกท่านที่มาช่วยกันทำให้กฎหมายของเราผ่านไปได้ทั้ง 3 ฉบับ ซึ่งเชื่อมโยงมาถึงโควิด-19

ยืนยันว่าทั้ง 3 ฉบับ มีเพียงฉบับเดียวที่เราขอกู้ นอกนั้นเรายังใช้งบประมาณของเราอยู่ ขอเรียนว่าทุกบาททุกสตางค์เราได้นำมาใช้ตรงนี้ ก็ขอฝากทุกคนดูแลกันเป็นอย่างดี เพื่อใช้เม็ดเงินก้อนนี้ ซึ่งเป็นก้อนที่เหลือน้อยมากแล้ว จะไม่มีก้อนใหม่อีกแล้ว ดังนั้นถ้าเราผ่านเดือน มิ.ย.นี้ไปได้ เราก็ไม่ต้องกู้ และยังหาเงินของตัวเองมาได้

เพิ่มโควตารับกลับ500คน/วัน

ส่วนความเคลื่อนไหว หลังคลายล็อก เฟส 3 พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหมเปิดเผยภาพรวมการติดตามการบริหารจัดการมาตรการกักตัวควบคุมโรคของรัฐ (State Quarantine ) โดยสรุปสถานภาพคนไทยเดินทางกลับจากต่างประเทศ ที่เข้าอยู่ในมาตรการกักตัวควบคุมโรคของรัฐ ตั้งแต่ 4 ก.พ.63 ถึงปัจจุบัน รวม 14,728 คน ตรวจพบผู้ติดเชื้อและส่งเข้ารับการรักษา 69 คน ครบกำหนดส่งกลับภูมิลำเนาแล้ว 8,638 คน และยังคงอยู่ในสถานกักควบคุมโรคทั้ง 29 แห่ง รวม 6,090 คน

ปัจจุบัน รับคนไทยกลับจากต่างประเทศ โดยเฉลี่ย 400 คน ใน 3-5 เที่ยวบินต่อวัน ทั้งนี้กระทรวงกลาโหม กระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันพิจารณาเพิ่มขีดความสามารถของการบริหารจัดการคัดกรอง และกักตัวควบคุมโรค ให้สามารถรับคนไทยเดินทางกลับจากต่างประเทศต่อวันได้มากขึ้น จาก 400 คน เป็น 500 คน โดยอยู่ระหว่างจัดเตรียมความพร้อมของสถานที่ ซึ่งจะสามารถรองรับการปฏิบัติได้ภายใน 5 มิ.ย.63

ตร.คุมเข้มมาตรการเฟส3

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกตร. เปิดเผยว่าหลังมีมาตรการผ่อนคลายกิจกรรม พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ได้มอบหมายให้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รอง ผบ.ตร., พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วย ผบ.ตร. ดูแลและกำชับการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ปฏิบัติงานในทุกพื้นที่ ตามที่ได้มีมาตรการผ่อนปรนในระยะที่ 3 ให้กิจกรรม กิจการที่มี ความเสี่ยงปานกลางถึงสูง กลับมาเปิดให้บริการได้

ตลอดจนขยายเวลาเปิดห้างสรรพสินค้าถึง 21.00 น. ปรับลดเวลาเคอร์ฟิวเหลือ 4 ชั่วโมง ตั้งแต่ 23.00-03.00 น. และอนุญาตให้ประชาชนเดินทางข้ามจังหวัดได้หากมีความจำเป็นซึ่งกิจการและกิจกรรมที่กลับมาเปิดให้บริการได้ในระยะที่ 3 จะต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด ทั้งการวัดอุณหภูมิ และสังเกตอาการป่วยของพนักงาน และผู้ใช้บริการ ตลอดจน การลงทะเบียนกับแพลตฟอร์มไทยชนะ