'การบินไทย' จ่อล้มยื่นศาลสหรัฐ ไม่หวั่นเจ้าหนี้ยึดเครื่องบิน

'การบินไทย' จ่อล้มยื่นศาลสหรัฐ ไม่หวั่นเจ้าหนี้ยึดเครื่องบิน

“วิษณุ”ถกคณะกรรมการติดตามการบินไทยนัดแรก "ที่ปรึกษากฎหมาย" ชี้ แนวโน้มไม่จำเป็นยื่นศาลสหรัฐเข้า Chapter 11 เหตุไม่มีเที่ยวบินตรงเข้าสหรัฐ มั่นใจเจ้าหนี้ยอมรับขั้นตอนฟื้นฟูของไทย ชงแนวทางยื่นรับรองกระบวนการศาลไทยในประเทศปลายทางการบิน

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ประชุมคณะกรรมการติตตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่ทำเนียบรัฐบาลวานนี้ (1 มิ.ย.) เพื่อติดตามการดำเนินการของการบินไทยหลังจากศาลล้มละลายกลางรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการเมื่อวันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา

นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการติตตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวกับกรุงเทพธุรกิจว่า การประชุมครั้งมี ที่ปรึกษากฎหมาย ที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้บริหารการบินไทยร่วมประชุม เพื่อรายงานความคืบหน้าและอุปสรรคการทำงาน ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้จะช่วยประสานงานให้การบินไทยหากการบินไทยมีปัญหา

การบินไทยรายงานถึงการดำเนินการหลังศาลล้มละลายกลางรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ซึ่งการบินไทยจะส่งสำเนาคำขอฟื้นฟูกิจการให้กับลูกทุกกลุ่ม คือ 1.เจ้าหนี้การค้า 2.เจ้าหนี้จากกรณีผู้โดยสารขอคืนตั๋ว 3.เจ้าหนี้ Royal Orchid Plus

รวมทั้งบริษัทที่ปรึกษากฎหมายของการบินไทยได้รายงานแนวทางการเจรจากับเจ้าหนี้ โดยถ้าเจ้าหนี้การค้ายอมรับกระบวนการฟื้นฟูกิจการของศาลล้มละลายกลาง และยินยอมเข้าสู่กระบวนการดังกล่าวจะทำให้การฟื้นฟูกิจการสะดวกขึ้น เพราะไม่ต้องยื่นศาลล้มละลายสหรัฐเพื่อเข้าสู่ Chapter 11 ตามกฎหมายล้มละลายของสหรัฐ

ประเด็นดังกล่าวคณะกรรมการการบินไทย คณะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ ที่ปรึกษากฎหมายและที่ปรึกษาทางการเงินของการบินไทย จะเป็นผู้ประเมินว่ามีความจำเป็นต้องยื่นต่อศาลล้มละลายสหรัฐหรือไม่

แนวโน้มไม่ต้องยื่นศาลสหรัฐ

ทั้งนี้ บริษัทที่ปรึกษาทางกฎหมายของการบินไทยรายงานว่าขณะมีแนวโน้มไม่จำเป็นต้องยื่นศาลล้มละลายสหรัฐ เนื่องจากการบินไทยไม่มีสินทรัพย์หรือสำนักงานในสหรัฐ และการบินไทยไม่มีเที่ยวบินเข้าสหรัฐ ดังนั้นความเสี่ยงในการถูกยึดเครื่องจึงไม่มี 

รวมทั้งการบินไทยอาจพิจารณาใช้แนวทางการยื่นศาลในประเทศที่การบินไทยทำการบินไปหรือในประเทศที่การบินไทยมีทรัพย์สิน เพื่อดำเนินการตามกระบวนการยอมรับ (Recognition) ตามคำสั่งศาลไทย เพื่อให้ต่างประเทศทราบว่าการบินไทยกำลังฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายไทย และปัจจุบันอยู่ขั้นตอนสภาวะพักชำระหนี้ ซึ่งจะป้องกันการบังคับชำระหนี้จากเจ้าหนี้ต่างประเทศ เช่น การเข้าครอบครองเครื่องบินของการบินไทย

สำหรับเครื่องบินการบินไทยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ

1.เครื่องบินที่เป็นกรรมสิทธิของการบินไทย เครื่องบินกลุ่มนี้การบินไทยไม่สามารถยึดได้ แต่หากเจ้าหนี้จะยึดต้องฟ้องร้องบังคับคดี 

2.เครื่องบินภายใต้สัญญาเช่าทางการเงินหรือเช่าดำเนินงาน ซึ่งเจ้าหนี้การค้ามีสิทธิที่ยึดได้กรณีระบุในสัญญาเช่าทำให้การบินไทยต้องยื่นศาลในต่างประเทศเพื่อเข้ากระบวนการยอมรับคำสั่งศาลไทย โดยการดำเนินการไม่ต้องมีข้อตกลงระหว่างประเทศ เพราะกฎหมายล้มละลายและกระบวนการฟื้นฟูกิจการของไทยได้รับการยอมรับของสากล และเชื่อว่าเจ้าหนี้จะยอมรับ

การบินไทยจัดกลุ่มเจรจาเจ้าหนี้

นายประภาศ กล่าวกับกรุงเทพธุรกิจว่า ขณะนี้การบินไทยจะจัดลำดับความสำคัญของการเจรจาเจ้าหนี้แต่ละกลุ่ม เพื่อประเมินดูว่าจำเป็นต้องยื่นคำขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายสหรัฐหรือไม่ โดยถ้าเจ้าหนี้ยืนยันชัดเจนว่าจะไม่ใช้สิทธิบังคับในฐานะเจ้าหนี้ในต่างประเทศ และพร้อมเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูของศาลล้มละลายไทยจะทำให้การฟื้นฟูกิจการเดินหน้าทันที

“การเข้าสู่ Chapter 11 ขึ้นกับความจำเป็น ขณะนี้บริษัทที่ปรึกษากฎหมายของการบินไทยให้ความเห็นว่ามีแนวโน้มไม่จำเป็น แต่ท้ายที่สุดขึ้นกับการเจรจากับเจ้าหนี้ว่ายอมรับกระบวนการของศาลไทยแค่ไหน”นายประภาศ กล่าว

นอกจากนี้การบินไทยรายงานสภาพคล่องการบินไทยในช่วงการฟื้นฟูกิจการที่อาจอยู่ในภาวะติดขัดทางการเงิน รวมทั้งภาครัฐไม่สามารถสนับสนุนทางการเงินได้แล้วเพราะการบินไทยพ้นสภาพจากรัฐวิสาหกิจ โดยปัจจุบันการบินไทยยังมีเครดิตที่จะกู้เงินเสริมสภาพคล่องได้จำนวนหนึ่ง แต่ใช้วิธีการเพิ่มทุนได้เพราะเมื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการแล้วเป็นอำนาจศาลที่จะพิจารณาเรื่องนี้

บอร์ดทำหน้าที่ถึงศาลสั่งฟื้นฟู

นายประภาศ กล่าวว่า การบินไทยรายงานประเด็นสถานะของคณะกรรมการการบินไทย และรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทย (DD) ที่ยังปฏิบัติหน้าที่ได้ตามปกติจนกว่าศาลล้มละลายกลางจะมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ โดยถ้าศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งแล้วจะทำให้คณะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ 5 คน และบริษัทเอิร์นแอนด์ยัง (EY) เข้ามาทำหน้าที่ฟื้นฟูกิจการและทำหน้าที่บริหารการบินไทย ในขณะที่คณะกรรมการการบินไทย และรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทย ยังมีสถานะคงอยู่ เพียงแต่จะต้องหยุดใช้อำนาจหน้าที่

รวมทั้งที่ผ่านมาการบินไทยได้แต่งตั้ง บริษัทเบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด เป็นที่ปรึกษากฎหมาย ส่วนกลุ่มฟินันซ่าเป็นที่ปรึกษาการเงิน โดยถ้าการบินไทยจะเพิ่มที่ปรึกษาก็ขึ้นกับความจำเป็นของการบินไทยเป็นผู้พิจารณาเอง

รายงานข่าวระบุว่า รายชื่อคณะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการมี 5 คน ประกอบด้วย

1.พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ประธานกรรมการการบินไทย 

2.นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รองประธานกรรมการการบินไทย และรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทย 

3.นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค 

4.นายบุญทักษ์ หวังเจริญ 

5.นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ โดยทั้ง 5 คน เป็นกรรมการการบินไทย

ทั้งนี้ ศาลล้มละลายกลางนัดไต่สวนครั้งแรกวันที่ 17 ส.ค.นี้ หลังจากนั้นจะพิจารณามีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการหรือไม่ โดยถ้ามีคำสั่งให้ฟื้นฟูจะตั้งผู้ทำแผนฟื้นฟู และจัดประชุมเจ้าหนี้

อ่านข่าว-'บอร์ดการบินไทย' เบรกตัดเงินเดือน พนง. 10% - ยังไม่มีแผนลดคน