'บีอีเอ็ม'คาดรายได้ปีนี้แตะ 1.3 หมื่นล้าน กำไร 2 พันล้าน

'บีอีเอ็ม'คาดรายได้ปีนี้แตะ 1.3 หมื่นล้าน กำไร 2 พันล้าน

“บีอีเอ็ม” ประเมินปีนี้กวาดรายได้ลดลง 15% เหตุโควิดกระทบเดินทาง คาดปิดตัวเลข 1.3 หมื่นล้าน กำไรแตะ 2 พันล้าน เดินหน้าแผนลงทุนต่อเนื่อง เตรียมประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ก.ค.นี้

นายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีอีเอ็ม ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินและสายสีม่วง เปิดเผยว่า ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งทางด่วนและรถไฟฟ้าได้รับผลกระทบจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ประกาศเคอร์ฟิวและมาตรการคุมโดวิด คนส่วนใหญ่ทำงานจากบ้าน ทำให้การเดินทางลดลง โดยเดือน เม.ย.ที่ผ่านมามีผลกระทบหนักสุด ทางด่วนมีรถวิ่ง 5-6 แสนเที่ยวต่อวัน ขณะที่รถไฟฟ้ามีผู้โดยสารไม่ถึงแสนคน

อย่างไรก็ดี ในช่วงเดือน พ.ค.ที่ผ่านมาเริ่มพบว่าประชาชนปรับตัว ประกอบกับมีการผ่อนปรนมาตรการ การเดินทางเริ่มกลับมามากขึ้น ผู้ใช้ทางด่วนกลับมา 80-85% แล้วประมาณ 9 แสนเที่ยวต่อวัน ส่วนรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินมียอดผู้โดยสารเฉลี่ย 1.6 แสนเที่ยวคนต่อวัน จากปกติ 4 แสนเที่ยวคนต่อวัน ซึ่งจะพบว่าการเดินทางส่วนของรถไฟจะกลับมาช้ากว่าเพราะมีมาตรการวันระยะห่าง ทั้งนี้ คาดว่าในไตรมาสที่ 3 การเดินทางจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ

“ไตรมาส 1 ปีนี้ มีกำไรปิดบวกอยู่ที่ 500 ล้านบาท ไตรมาส 2 น่าจะติดลบเล็กน้อย ทำให้ภาพรวมครึ่งปีแรกกำไรเราจะยังคงปิดบวก ขณะที่ไตรมาส 3 คาดการณ์ว่าน่าจะดีกว่าไตรมาส 1 ดังนั้นน่าจะปิดกำไรบวกมากกว่า 500 ล้านบาท ส่วนไตรมาส 4 จะกลับมาบวกเหมือนเดิม เข้าสู่สถานการณ์ปกติ ทำให้ทั้งปีนี้ภาพรวมทั้งรถไฟฟ้าและทางด่วน จะมีกำไร แต่ลดลงกว่าปีก่อน”

นายสมบัติ ยังกล่าวด้วยว่า ภาพรวมรายได้ของทางด่วนและรถไฟฟ้าในปี 2562 บีอีเอ็มปิดรายได้อยู่ที่ราว 1.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งเติบโตเฉลี่ยประมาณ 5-10% ทุกปี ส่วนกำไรในปี 2562 ปิดตัวเลขอยู่ที่ราว 3 พันล้านบาท ขณะที่สถานการณ์ในปี 2563 เบื้องต้นประเมินว่ารายได้จะเติบโตลดลง 15% อาจปิดตัวเลขอยู่ที่ราว 1.3 หมื่นล้านบาท ส่วนกำไรคาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 2 พันล้านบาท

ทั้งนี้ คาดการณ์ผลประกอบการในปี 2563 ดังกล่าว ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 คลี่คลาย ประกอบกับรัฐบาลมีการประกาศผ่อนคลายมาตรการ โดยเฉพาะการเว้นระยะห่าง เพราะจะส่งผลให้ขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของรถไฟฟ้ากลับเข้าสู่สภาวะปกติ เนื่องจากขณะนี้ยังเห็นความต้องการเดินทางของผู้โดยสารที่มีจำนวนมากเช่นเดิม

ส่วนคาดการณ์ผลประกอบการในปี 2564 ซึ่งเชื่อว่าการเดินทางของประชาชนจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ เบื้องต้นประเมินว่าผู้โดยสารจะกลับมาใช้บริการรถไฟฟ้ามากึง 4.5 แสนเที่ยวคนต่อวัน ขึ้นอยู่กับการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟฟ้า และระบบเศรษฐกิจกลับมาขยายตัว รวมไปถึงการเดินทางเชื่อมต่อของรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ ที่มีกำหนดเปิดให้บริการในปลายปี 2563 คาดการณ์ว่าจะส่งต่อผู้โดยสารเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้า MRT ประมาณ 1 หมื่นเที่ยวคนต่อวัน

ขณะที่แผนลงทุนในปีนี้ บีอีเอ็มยังมองโอกาสการลงทุนในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานระบบราง ที่คาดว่ารัฐบาลจะสนับสนุนการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้พร้อมจับมือพันธมิตร ช.การช่าง เข้าไปร่วมประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม งานโยธาช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรม และงานระบบรถไฟฟ้าทั้งเส้นทางบางขุนนท์ – มีนบุรี คาดว่าจะมีการประมูลในช่วงต้นไตรมาส 3 หรือราวเดือน ก.ค.นี้

อีกทั้ง บีอีเอ็มเตรียมออกหุ้นกู้ วงเงิน 3 พันล้านบาท ในเดือน มิ.ย.นี้ เพื่อนำเงินดังกล่าวไปใช้คืนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดชำระ ในเดือน ต.ค.นี้ วงเงินราว 2.5 พันล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 500 ล้านบาท จะเก็บไว้ใช้เป็นส่วนทุนในการดำเนินธุรกิจ

นายสมบัติ กล่าวด้วยว่า บีอีเอ็มพร้อมสนับสนุนภาครัฐ ดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้โรคโควิด-19 กลับมาแพร่ระบาดซ้ำ และขอให้ผู้โดยสารรถไฟฟ้าปฏิบัติตนด้วยวิธีการง่ายๆ โดยการ 1.สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยขณะใช้บริการ 2.เว้นระยะห่างทางสังคมระหว่างกันอย่างน้อย 1 เมตร 3.หมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยแอลกอฮอล์เจลที่มีให้บริการทั่วถึงทุกพื้นที่ในสถานี

นอกจากนี้ บีอีเอ็ม ได้จัดทำโครงการ “Healthy Journey with BEM” แจกหน้ากากผ้า 1 ล้านชิ้นฟรี ให้กับผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า MRT ส่งเสริมการสวมหน้ากากอนามัยเมื่อมาใช้บริการรถไฟฟ้า เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารและส่วนรวม โดยจะริ่มตั้งแต่วันที่ มิ.ย. – ส.ค.นี้ รับได้ที่สถานีรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำงินและสายสีม่วงทั้ง 3 สถานี และแบ่งปันอีกส่วนหนึ่งให้กับชุมชนกว่า 21 ชุมชนและสถานศึกษารายรอบเส้นทางรถไฟฟ้าและทางด่วนกว่า 60 แห่ง สำนักงานเขต กทม.16 เขต เทศบาลนนทบุรี เป็นต้น