‘ศรีตรัง ฯ’ ราคาพุ่งรอบ 3 ปี  จุดพลุหนุนธุรกิจถุงมือยาง

‘ศรีตรัง ฯ’ ราคาพุ่งรอบ 3 ปี    จุดพลุหนุนธุรกิจถุงมือยาง

รอบเดือนพ.ค. แรงขายที่กดตลาดหุ้นไทยให้ปรับตัวลดลงอย่าง ‘Sell in May and Go Away’ กลับไม่เกิดขึ้น เฉพาะในเดือนพ.ค. ที่ดัชนีมักจะปรับตัวลดลงกลายเป็นปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.2 % และเฉลี่ย 10 ปี ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 2.7 %

จนทำให้มีหุ้นหลายตัวที่ราคาลงไปแรงในเดือนก.พ.- มี.ค. ปรับตัวขึ้นมาต่อเนื่องในเดือน เม.ย.-พ.ค. และบางตัวราคาทำสถิตินิวไฮรอบใหม่ บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA ราคาพุ่งทะยานต่อเนื่องจนกลายเป็นที่ให้ผลตอบแทนสูงอันดับต้นในช่วงวิกฤติโควิด 19

นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมาแล้ว 180% จากราคา 10 บาท มาทำราคาสูงสุดวานนี้ (1 มิ.ย.) 28.25 บาท จนมาปิดที่ 28.00 บาท สูงสุดในรอบ 3 ปี 5 เดือน  โดยเฉพาะในรอบ 2 เดือนเม.ย.-พ.ค. ให้ผลตอบแทนจากการลงทุน 145% ซึ่งในเดือนพ.ค. ราคาเพิ่มขึ้นมากที่สุด 95.62 % ภายใต้อัตราราคาปิดต่อกำไรต่อหุ้น (P/E) 30 เท่า

ด้วยธุรกิจการเป็นผู้ประกอบการยางพารารายใหญ่ในไทย คลอบคลุมธุรกิจต้นน้ำการทำสวนยางพาราในประเทศไทย 45,000 ไร่ ใน19 จังหวัด ซึ่ง STA มีส่วนแบ่งในตลาดโลกอยู่ที่ 8% ธุรกิจกลางน้ำมีโรงงานผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติ ทั้งยางแท่ง (TSR) ยางแผ่นรมควัน (RSS) และน้ำยางข้น 36 โรง มีกำลังปริมาณการผลิต 2.86 ล้านตันต่อปี

และธุรกิจปลายน้ำผลิตและจัดจำหน่ายถุงมือยาง และสินค้าสำเร็จรูป มีกำลังปริมาณผลิต 27,000 ล้านชิ้นต่อปี ซึ่งมีการส่งออกไปต่างประเทศทั่วโลก 140 ประเทศ และมีส่วนแบ่งการในตลาดโลกอยู่ที่ 8 % ทำให้ราคายางพาราเป็นตัวกำหนดทิศทางการเติบโต

ที่ผ่านมา STA เผชิญราคายางตกต่ำ ความต้องการลดลงจนทำให้ไม่สามารถผลิตได้เต็มกำลัง ซึ่งกระทบหนักในธุรกิจต้นน้ำจากปี 2562 มีปริมาณขายยาง 1.1 ล้านตัน ลดลงจากปี 2561 อยู่ที่ 1.3 ล้านตัน สวนทางกับธุรกิจปลายน้ำที่ปริมาณผลิตถุงมือยาง 19,000 ล้านชิ้นต่อปี เพิ่มขึ้นจากปี 2561 อยู่ที่ 16,000 ล้านชิ้นต่อปี

เมื่อสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาดรุนแรงในช่วง มี.ค. จนรัฐบาลต้องประกาศล็อกดาวน์ประเทศตามมา ส่งผลทำให้เกิดความต้องการผลิตภัณฑ์ป้องกันการแพร่ระบาดพุ่งสูงขึ้นทั่วโลก จนกลายเป็นสินค้าที่ขาดแคลนช่วงหนึ่ง

ตัวเลขไตรมาส 1 ปี 2563 ที่ผ่านมา STA สามารถพลิกมามีกำไร 854 ล้านบาท จากขาดทุนในช่วงเดียวกันปีก่อน 627 ล้านบาท ซึ่งธุรกิจต้นน้ำยังได้รับผลกระทบจากราคายางปรับตัวลดลง แต่ธุรกิจกลางน้ำและปลายน้ำกลับเติบโตด้วยภาวะความต้องการสินค้าจากต่างประเทศ ส่งผลทำให้บริษัทมียอดขายจาดถุงมือยางเพิ่มขึ้น 30% ในไตรมาสดังกล่าว และคาดว่าในปีนี้มียอดขายเกิน 30,000 ชิ้นต่อปี

จากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่าในช่วง ตัวเลข 4 เดือนแรกของปี 2563 (ม.ค.-เม.ย.) ประเทศไทยส่งออกถุงมือยาง 499 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 16% จากสิ้นปี 2562 ไทยผลิตได้ 20,000 ล้านชิ้น เป็นการส่งออกถึง 89 % คิดเป็นมูลค่า 1,203 ล้านดอลลาร์ ถือว่าเป็นสัดส่วนอันดับ 3 ของโลก รองจากมาเลเซียและจีน

ประเทศที่ไทยส่งออกและมีอัตราการเติบโตมากที่สุด คือ จีน มูลค่า 31 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 129.5% ประเทศออสเตรเลีย มูลค่า 10 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 79% ประเทศในกลุ่มอาเซียน มูลค่า 18ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 77% และประเทศสหรัฐ มูลค่า 194 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 9% สอดคล้องกับสัดส่วนส่งออกของ STA 304721 ตัน ในไตรมาส 1ปี 2563 ที่มีจีนเป็นตลาดใหญ่สุด 54% ตลาดเอเชีย (ไม่รวมไทยและจีน ) 24% ไทย 16% สหรัฐ 4% ยุโรป 2%

ทั้งนี้ราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นมาต่างคาดหวังไตรมาส 2 หุ้น STA ยังเดินหน้าทำยอดขายเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพราะเป็นช่วงที่มีการระบาดไวรัสโควิด-19 อย่างหนักในไทย สหรัฐและประเทศในยุโรป

บวกกับแรงหนุนการนำบริษัทลูก ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ STGT เข้าซื้อขายในตลาดหุ้น เดือนก.ค.นี้ บริษัทดังกล่าวเป็นผู้ผลิตถุงมือยางเบอร์ 3 ของโลก 450 ล้านหุ้น เพื่อขยายกำลังผลิต 4,000-5,000 ล้านชิ้นต่อปี ซึ่งเมื่อประเมินการเติบโตของ STA และความได้เปรียบจากสถานการณ์แพร่ระบาดจึงทำให้ราคาหุ้นตอบรับข่าวขึ้นมาร้อนแรง