รบ.เดินหน้าประกันรายได้ชาวสวนยาง ระยะ 2 มุ่งบริหารจัดการยางพาราทั้งระบบ

รบ.เดินหน้าประกันรายได้ชาวสวนยาง ระยะ 2 มุ่งบริหารจัดการยางพาราทั้งระบบ

รัฐบาลเดินหน้าประกันรายได้ชาวสวนยาง ระยะ 2 มุ่งบริหารจัดการยางพาราทั้งระบบ

วันนี้ (1 มิ.ย.63) เวลา 13.30 น. นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นรองประธาน และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมประชุม ที่ประชุมรับทราบสถานการณ์ยางพาราโลกในช่วงการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ไตรมาสแรกพบว่า ความต้องการใช้ยางของโลกเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วลดลงร้อยละ 19.53 สำหรับประเทศจีนซึ่งเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ของไทยมีการใช้ยางลดลงเกือบร้อยละ 50

นางสาวรัชดากล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการการประกันรายได้เกษตกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 ช่วงเดือน มิถุนายน-พฤศจิกายน 2563 โดยยึดแนวทางการประกันรายได้ระยะที่ 1 ส่วนรายละเอียดให้การยางแห่งประเทศไทยไปพูดคุยและทำความเข้าใจกับเครือข่ายชาวสวนยางทั่วประเทศอีกครั้งหนึ่ง

เรื่องที่สอง คือการอนุมัติโครงการสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการไม้ยางและผลิตภัณฑ์ วงเงิน 20,000 ล้านบาท โดยรัฐบาลสนับสนุนชดเชยดอกเบี้ยในอัตราไม่เกินร้อยละ 3 ต่อปี จำนวนไม่เกิน 600 ล้านบาท ทั้งสองเรื่องจะต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

สำหรับการบริหารจัดการปริมาณยางพาราในประเทศ นายกรัฐมนตรีได้ติดตามการดำเนินโครงการภาครัฐด้านการตลาดและแปรรูปสินค้ายางพารา เช่น โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อใช้ในการรวบรวมยาง ซึ่งมีกลุ่มเกษตรกรได้เบิกเงินกู้จาก ธ.ก.ส. ไปแล้ว 1.18 หมื่นล้านบาท โครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรเพื่อแปรรูปยางพารา ปล่อยสินเชื่อไปแล้ว สองพันล้านบาท และโครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยางเพื่อใช้ในการขยายกำลังการผลิต/เพิ่มมูลค่าสินค้า มีผู้เข้าร่วมโครงการฯ กู้เงินแล้ว 1.4 หมื่นล้านบาท มีการใช้ยางพาราเพิ่มขึ้น 1.3 แสนตัน
 
นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำเรื่องการทำสวนยางอย่างยั่งยืน โดยกำชับเรื่องการทำงานกับทุกภาคส่วนและให้กำหนดเป้าหมายร่วมกัน ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้ตั้งเป้าให้

  1. มีสวนยางที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการจัดการสวนยางอย่างยั่งยืน ไว้ที่ 15 ล้านไร่ ภายใน 5 ปี
  2. มีสวนอย่างยั่งยืนแบบผสมผสานลดการพึ่งพารายได้จากยางเพียงอย่างเดียว ไม่น้อยกว่า 2 ล้านไร่ ในระยะเวลา 10 ปี
  3. แก้ปัญหาสวนยางในที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์โดยส่งเสริมการทำสวนยางยั่งยืนที่เกื้อกูลธรรมชาติ ภายใต้ระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตั้งเป้าไว้ที่ 5 ล้านไร่