Economic (1 มิ.ย.63)

Economic (1 มิ.ย.63)

เศรษฐกิจยังคงหดตัวต่อเนื่องในเดือนเมษายน

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานเศรษฐกิจไทยในเดือนเมษายน 2563 หดตัวสูงขึ้น จากผลของมาตรการควบคุมการระบาดของโรค COVID-19 ที่เข้มงวดทั้งในและต่างประเทศที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายภาคส่วนต้องหยุดลงชั่วคราว โดยภาคการท่องเที่ยวหดตัวสูงจากการห้ามเดินทางเข้า
ประเทศไทย การส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำหดตัวสูงขึ้นมากตามอุปสงค์ของประเทศคู่ค้า เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนหดตัวสูงตามกำลังซื้อที่อ่อนแอลงมากและมาตรการควบคุมโรคระบาด ขณะที่เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนและการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวสูงต่อเนื่องตามภาวะอุปสงค์และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวได้ต่อเนื่องทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน ขณะที่ในเดือนนี้ภาครัฐเริ่มมีการทยอยจ่ายเงินเยียวยาให้ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ซึ่งจะช่วยพยุงเศรษฐกิจในระยะต่อไป

ดัชนีเศรษฐกิจหลัก

       i) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรรายงานว่ารายได้ภาคเกษตรลดลง 10.1% YoY โดยผลผลิตการเกษตรลดลง 13.2% YoY ในขณะที่ราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น 3.5% YoY

       ii) สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมรายงานว่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลง 17.2% YoY และ 23.8% MoM ในขณะที่อัตราการใช้กาํลังการผลิต (nsa) ลดลงเหลือ 51.9%

       iii) ดัชนีการบริโภคภาคเอกชน (PCI) ลดลง 15.1% YoY และ 8.6% MoM

       iv) ดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (PII) ลดลง 6.1% YoY แต่เพิ่มขึ้น 1.9% MoM

        v) จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยลดลง 100% YoY เป็นศูนย์

        vi) รายได้รัฐบาลลดลง 21.4% YoY การใช้จ่ายรัฐบาลเพิ่มขึ้น 28.5% YoY

        vii) การส่งออกลดลง 3.3% YoY เหลือ 1.7863 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ในขณะที่การนำเข้าลดลง 17.0% YoY เหลือ 1.5333 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ส่งผลให้เกินดุลการค้า 2.530 พันล้านดอลลาร์ฯ ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 654 ล้านดอลลาร์ฯ

Impact

ในเดือนเมษายน ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ลดลงรุนแรง ยกเว้นการใช้จ่ายของรัฐบาลเนื่องจากมีการเบิกจ่ายเงินชดเชยเพื่อช่วยผู้ที่ว่างงานจากการระบาดของ COVID-19 นอกจากนี้ ภาวะเศรษฐกิจยังถูกกระทบจากการประกาศ Curfew ช่วงกลางคืน และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง 100% YoY
ในขณะที่ MPI PCI และมูลค่าการนำเข้าลดลงอย่างมาก โดยหากพิจารณาเฉพาะส่วนของการผลิตเพื่อการส่งออdที่ไม่รวมทองคำลดลงอย่างมากถึง 15.9% YoY

เรามองว่าการส่งออกอาหารที่เพิ่มขึ้นจะเป็นแค่ระยะสั้นในช่วงที่เกิดความตื่นตระหนกเกี่ยวกับสถานการณ์โรคระบาดทั่วโลก และการใช้มาตรการ Lockdown ซึ่งส่งผลให้ประเทศต่างๆ ตุนสต็อกอาหารซึ่งช่วยหนุนการส่งออกข้าวและสินค้าอาหารของไทยในเดือนมีนาคม และเมษายน โดยอาจจะต่อเนื่องไปถึงเดือนพฤษภาคมด้วย แต่อย่งไรก็ตาม เราคาดว่าเมื่อมีการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown และความตื่นตระหนกคลี่คลายลงไป มูลค่าการส่งออกข้าวและอาหารจะลดลง

เราคาดว่าสถานการณ์ระบาดของ COVID-19 ของไทยน่าจะผ่านจุดเลวร้ายที่สุดไปแล้วในช่วงปลายเดือนเมษายน เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศค่อยๆ ลดลงจนต่ำกว่า 10 รายต่อวันในช่วงปลายเดือนเมษายน และคาดว่าจะลดลงต่อเนื่องจนเป็นศูนย์ตลอดเดือนมิถุนายน แต่อย่างไรก็ตามจำนวนผู้ติดเชื้อ
จากการกักกันของรัฐอาจจะลดลงต่อเนื่อง

การผ่อนคลายมาตการ Lockdown เฟสที่สามเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน และคาดว่าจะมีการผ่อนคลายเฟสที่สี่หลังวันที่ 15 มิถุนายน ทั้งนี้ แม้ว่าการลดช่วง Curfew ลงเหลือแค่ 4 ชั่วโมงระหว่าง 23:00-03:00 น. จะช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น แต่เรายังไม่หวังว่าจะฟื้นตัวได้อย่างแรงและเร็ว ทั้งนี้ หลังจากที่มีการต่อ พรก. ฉุกเฉินออกไปจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน เรามองว่ามีความเป็นไปได้ที่จะต่อไปจนถึงเดือนกรกฎาคมระหว่างรอการผ่านกฎหมายที่จะมาบังคับใช้แทน พรก. ฉุกเฉิน อย่างไรก็ตามความเสี่ยงหลักอยู่ที่การระบาดระลอกสองซึ่งอาจจะตามมากับการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown บางส่วน

เราคิดว่าในช่วงที่กจกรรมทางเศรษฐกจลดลงอยางหนัก จำเป็นต้องมีการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากเป็นพิเศษอย่างที่ไม่เคยใช้มาก่อน โดยธนาคารกลางจำเป็นต้องนำเครื่องมือและมาตรการทุกอย่างที่มีออกมาใช้ให้หมดเพื่อดึงให้เศรษฐกิจพ้นจากภาวะตกต่ำให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ ทั้งนี้ ธปท.ได้นำแนวปฏิบัติที่เรียกว่า “Yield Curve Control” มาใช้แบบเดียวกับธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) เพื่อลดภาระดอกเบี้ยของรัฐบาลจากการใช้งบประมาณทางการคลังก้อนใหญ่ในมาตรการบรรเทาผลกระทบจาก COVID-19 เราคิดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ยาวไปอย่างน้อยสามปี

วิกฤติด้านสุขภาพรอบนี้ส่งผลให้สถานะความมั่งคั่งของภาคครัวเรือนลดลงอย่างหนัก จำนวนคนตกงานที่เร่งขึ้นอย่างรวดเร็ว และการถูกลดเงินเดือนทำให้อำนาจซื้อในประเทศอ่อนแอลงอย่างมาก และจะทำให้ NPL เพิ่มขึ้นหลังช่วงพักชำระหนี้สามเดือนสิ้นสุดลงในปลายเดือนมิถุนายน

ในขณะเดียวกัน รัฐบาลจะกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการผลักดันการบริโภคในประเทศผ่าน “ไทยเที่ยวไทย” และ “ไทยซื้อไทย” ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่าประชาชนจำเอาเงินจากไหนไปจับจ่าย ในขณะที่หลายส่วนไม่มีเงินไปชำระหนี้ส่วนบุคคล ทั้งนี้ มาตรการของภาครัฐส่วนใหญ่ให้น้ำหนักไปที่การให้ความช่วยเหลือหนี้แก่ SMEs มากกว่าการให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับหนี้ภาคครัวเรือน โดยที่ผ่านมา ทั้งรัฐบาล และ ธปท. ให้น้ำหนักมาตรการช่วยเหลือทางด้านอุปทานมากกว่าการยกระดับคุณภาพด้านอุปสงค์

เรามองว่าหากรัฐบาล และ ธปท. ยังไม่ช่วยยกระดับคุณภาพทางด้านอุปสงค์ในประเทศ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจน่าจะเป็นไปอย่างเชื่องช้า

เราคิดว่า ธปท. ควรเร่งกำหนดมาตรฐานการปรับโครงสร้างหนี้ครัวเรือนทั่วประเทศจากส่วนกลางเแทนที่การปรับโครงสร้างหนี้โดยธนาคารพาณิชย์ โดยทั้ง ธปท. และรัฐบาลจะต้องผ่อนคลายข้อกำหนดต่างๆ ลงอีก และต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมอีกใน 2H63 ไปจนถึง 2564 นอกจากนี้ ภาวะเศรษฐกิจที่แย่ลงจะส่งผลให้ กนง. ต้องลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 25bps เหลือ 0.25% ในการประชุมวันที่ 24 มิถุนายน หรือ 5 สิงหาคม อย่างไรก็ตาม เราสนับสนุนให้ กนง. ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 0% ให้เร็วสุด

ความหวังกับการเพิ่มขึ้นอุปสงค์จากต่างประเทศอาจจะมีไม่มาก โดยเฉพาะจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยยังไม่น่าจะกลับมาก่อนเดือนกันยายน และอุปสงค์จากประเทศคู่ค้าจะยังอ่อนแอ ซึ่งหมายความว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจใน 3Q63 จะยังคงอ่อนแออยู่