'การบินไทย'วุ่นจ่อตั้งทนายเพิ่ม 'เบเคอร์'ขู่ถอนตัวฟื้นฟู

'การบินไทย'วุ่นจ่อตั้งทนายเพิ่ม 'เบเคอร์'ขู่ถอนตัวฟื้นฟู

ฟื้นฟู”การบินไทย”วุ่นไม่เลิก คณะผู้ทำแผนยกทีมพบบอร์ดติดตามที่มี “วิษณุ”เป็นประธานวันนี้ จับตาตั้งที่ปรึกษากฎหมายร่วม หลังบริษัททนายชื่อดังอดีตกรรมการ วิ่งล็อบบี้บอร์ด-ผู้ใหญ่ในรัฐบาลจนสำเร็จ ”เบเคอร์”หวั่นแผนฟื้นฟูสะดุด ขู่ถอนตัวหากแต่งตั้งจริง

แหล่งข่าวจากคณะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า วันนี้ (1มิ.ย.) คณะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการทั้ง 5 ท่าน ประกอบด้วย

พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค นายบุญทักษ์ หวังเจริญ และนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์

บริษัทอีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ผู้ทำแผนฯร่วม บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด ที่ปรึกษากฎหมายอย่างเป็นทางการ และ บล.ฟินันซ่า จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาการเงิน จะเข้าพบคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาการบินไทย 9 ราย ที่มี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

แหล่งข่าว กล่าวว่า การเข้าพบคณะกรรมการติดตามฯครั้งนี้ เพื่อชี้แจงแผนฟื้นฟูกิจการ และสถานะของการบินไทย รวมถึงรับทราบแนวทาง กรอบการทำงาน และแนวทางที่รัฐบาล จะให้การสนับสนุนแผนฟื้นฟูกิจการ เพื่อกำหนดทิศทางการบริหารแผนฯที่จะมีทั้งกลุ่มเจ้าหนี้

รวมถึงการจัดโครงสร้างองค์กร เพื่อให้สอดคล้องกับการฟื้นฟูธุรกิจ ที่จะต้องเดินหน้าต่อไป และจะต้องได้รับอนุญาตจากศาลล้มละลายกลาง ที่จะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ในขณะที่การบินไทยยังดำเนินกิจการต่อไป

เมื่อวันที่ 26 พ.ค.2563 การบินไทย ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ต่อศาลล้มละลายกลาง และวันที่ 27 พ.ค.2563 ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการไว้พิจารณา โดยศาลล้มละลายกลางกำหนดวันนัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการในวันที่ 17 ส.ค.2563

ผลจากศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการไว้พิจารณา ก่อให้เกิดสภาวะพักการชําระหนี้โดยอัตโนมัติ ซึ่งคิดเป็นมูลหนี้ในวันที่ยื่นขอฟื้นฟูกิจการรวม 354,494 ล้านบาท โดยเป็นหนี้ที่ถึงกำหนดชำระเมื่อ 21 พ.ค.2563 รวม 10,200 ล้านบาท จำนวนเจ้าหนี้ประมาณ 14 ล้านคน โดย 70% เป็นเจ้าหนี้ค่าตั๋วโดยสาร ประมาณ 24,000 ล้านบาทขณะที่บริษัทมี สินทรัพย์รวม 349,636 ล้านบาท และทุนจดทะเบียนจำนวน 26,989 ล้านบาท

วิ่งวุ่นขอแจมที่ปรึกษากฎหมาย

แหล่งข่าวกล่าวว่า นอกจากนี้จะมีการหารือเป็นกรณีพิเศษ จากกรณีที่มีแรงกดดันทั้งจากบุคคลภายนอกและภายในการบินไทย ที่ล็อบบี้ให้มีการแต่งตั้งที่ปรึกษากฎหมายในการฟื้นฟูกิจการขึ้นมาอีก 1 บริษัท เป็นที่ปรึกษากฎหมายร่วม ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้และสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการแต่งตั้ง บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด เป็นที่ปรึกษากฎหมาย และเพิ่งดำเนินการยื่นฟื้นฟูกิจการต่อศาลในประเทศและในต่างประเทศ

โดยบริษัทเบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด ได้ยื่นฟื้นฟูกิจการการบินไทย ต่อศาลล้มละลายกลางในประเทศไปแล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการยื่นฟื้นฟูกิจการต่อศาลในอีก 9 ประเทศ ซึ่งเป็นประเทศที่เป็นสัญชาติของเจ้าหนี้การบินไทยในต่างประเทศ

“มีการกดดันให้มีการตั้งบริษัทที่ปรึกษากฎหมายชื่อดังที่มีอดีตกรรมการการบินไทยเป็นเจ้าของ อย่างหนักหน่วงในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา จากกรรมการบางคนและยังมีการอ้างชื่อผู้ใหญ่ในรัฐบาลให้มีการตั้ง 2 บริษัท เพื่อแบ่งการทำงานในประเทศบริษัทหนึ่ง และ ต่างประเทศอีกบริษัทหนึ่ง ซึ่งจะทำให้การบินไทย การทำแผนฟื้นฟูกิจการ และการเจรจาเจ้าหนี้ของการบินไทยที่มีจำนวนมากมีความยากลำบากมากขึ้น”

จับตา”เบเคอร์”ถอนตัว

แหล่งข่าวกล่าวว่า สำหรับการฟื้นฟูกิจการการบินไทยนั้น แค่เพียงเริ่มต้นผู้ปฏิบัติงาน ก็ต้องเจอปัญหาทางการเมืองอย่างหนัก หากมีการตั้งที่ปรึกษากฎหมายร่วมขึ้นมา เชื่อว่าจะฟื้นฟูกิจการลำบาก โดยตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน มีการอ้างชื่อผู้ใหญ่เพื่อให้มีการแต่งตั้งที่ปรึกษากฎหมายรายดังกล่าว จนสร้างความอึดอัดให้กับคณะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการอย่างมาก ดังนั้นจึงต้องการความชัดเจนจากคณะกรรมการติดตามฯในเรื่องนี้

ด้านแหล่งข่าวจาก 1 ในคณะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ การบินไทย เปิดเผยว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่มีการจัดทำแผนฟื้นฟูฯ เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ ได้เตรียมทนายความ 30-40 คน เพื่อประสานการทำงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ เมื่อมีการล็อบบี้ให้มีการตั้งที่ปรึกษากฎหมายขึ้นมาอีก 1 บริษัท ทำให้เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ สอบถามและแจ้งความประสงค์โดยวาจา หากมีการตั้งที่ปรึกษากฎหมายดังกล่าวจริง เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ ก็พร้อมจะถอนตัวทันที

แยกดูแลในประเทศ-ต่างประเทศ

ขณะที่แหล่งข่าวอีกรายหนึ่ง กล่าวว่า ขณะนี้มีการอ้างชื่อผู้ใหญ่ในรัฐบาลว่าต้องการให้ตั้งบริษัทที่ปรึกษากฎหมายชื่อดังดังกล่าวขึ้นมาเป็นที่ปรึกษากฎหมายการบินไทย และจะดูแลงานเฉพาะในส่วนที่อยู่ในเมืองไทย ส่วนที่ปรึกษากฎหมายในต่างประเทศ ให้เป็นหน้าที่ของเบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ ซึ่งสร้างความกดดันในการทำงานเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้การแต่งตั้ง เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ ให้เป็นที่ปรึกษากฏหมาย ได้รับไฟเขียวจากกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่การบินไทย เนื่องจากเบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ เป็นบริษัทที่ปรึกษากฎหมายที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและมีสำนักงานอยู่ทั่วโลกครอบคลุมจุดบินหลักทุกจุดของการบินไทย ทั้ง ยุโรป เอเซีย ออสเตรเลีย และอเมริกา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้มีรายงานว่า บริษัทที่ปรึกษากฎหมายชื่อดังในประเทศหลายแห่ง เช่น บริษัทเบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด บริษัท สำนักกฎหมายสากล สยามพรีเมียร์ จำกัด ที่มีนายสุรเกียรติ เสถียรไทย เป็นประธานกรรมการ และบริษัท วีระวงค์,ชินวัฒน์ และพาร์ทเนอร์ส จำกัด หรือ “WCP” มีชื่อเสนอตัวเป็นที่ปรึกษากฎหมายในการฟื้นฟูกิจการการบินไทย บางรายถึงกับคิดค่าจ้างจำนวนน้อย แต่จะไปคิดค่า Success Fee ตามมูลค่าของมูลหนี้ที่ลดลง ซึ่งถือว่าขัดกับหลักการเป็นที่ปรึกษากฎหมายในเมืองไทย

นอกจากนี้ในส่วนของที่ปรึกษาการเงิน ก็มีการล้อบบี้กันอย่างหนักเช่นกัน โดยมีผู้เสนองานเข้ามาอย่างน้อย 3 ราย เช่น กลุ่มบล.ภัทร กลุ่ม Big 4 ระดับโลก ที่มีสำนักงานในเมืองไทย 2-3 ราย และ บล.ฟินันซ่า จำกัด แต่สุดท้ายกลุ่มฟินันซ่า ซึ่งเป็นที่ปรึกษาการเงินของการบินไทยอยู่แล้ว ได้รับงานที่ปรึกษาการเงินไป