‘เงินบาท’ เปิดตลาดเช้านี้ ‘แข็งค่า’ ที่ 31.81 บาทต่อดอลลาร์

‘เงินบาท’ เปิดตลาดเช้านี้ ‘แข็งค่า’ ที่ 31.81 บาทต่อดอลลาร์

จับตาปัญหาความเชื่อมั่นของเงินดอลลาร์ ลดลงต่อเนื่อง การฟื้นตัวของราคาน้ำมันและสกุลเงินยูโรมีแนวโน้มดีขึ้น หนุนเงินบาทดูแข็งค่าตามไปด้วย

นายจิติพล  พฤกษาเมธานันท์   นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทย  เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 31.81 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 31.83 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ 31.70-31.90 บาทต่อดอลลาร์และกรอบเงินบาทสัปดาห์นี้ 31.50-32.00 บาทต่อดอลลาร์

ประเด็นหลักอาจอยู่ที่ปัญหาความเชื่อมั่นของเงินดอลลาร์ ที่ลดลงต่อเนื่อง เห็นได้ชัดจากทิศทางของดัชนีดอลลลาร์(DXY) ในเดือนล่าสุดที่ปรับตัวลงมาตลอดทั้งจากการฟื้นตัวของราคาน้ำมัน รวมไปถึงภาพสกุลเงินยูโร (EUR) ที่มีแนวโน้มดีขึ้น ในสัปดาห์นี้จึงต้องระวังว่าถ้าตลาดมองบวกกับเงินยูโรมากขึ้น ก็อาจเห็นการอ่อนค่าของดอลลาร์ต่อไปอีก ซึ่งประเด็นดังกล่าวก็จะหนุนให้เงินบาทดูแข็งค่าตามไปด้วย

ในช่วงสัปดาห์นี้มีประเด็นที่ต้องติดตามหลากหลายทั้งฝั่งเศรษฐกิจและการเมือง โดยความน่าสนใจของสัปดาห์นี้ เริ่มที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อนอกภาคการผลิตของสหรัฐ (ISM Non-Manufacturing PMI) ที่จะมีการรายงานในวันพุธคาดว่าจะขยับขึ้นมาที่ระดับ 44จุด จากที่หดตัวลงถึง 41.8จุดในเดือนก่อน ซึ่งจะเป็นการยืนยันว่าหลายรัฐในสหรัฐกลับมาเปิดทำการธุรกิจได้บ้างแล้ว

ส่วนในฝั่งยุโรปมีกำหนดการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางยุโรปหรือ ECB ในวันพฤหัส แม้ในรอบนี้คาดว่าจะ "คง" อัตราดอกเบี้ยที่ -0.50% แต่อาจมีทั้งการปรับ "เพิ่ม" ปริมาณซื้อสินทรัพย์เสี่ยงอย่างน้อย 5 แสนล้านยูโรเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ (Pandemic Emergency Purchase Program) ขณะเดียวกันก็อาจมีการแถลงเรื่องความร่วมมือทางการคลังที่คาดว่าจะเป็นกลไกหลักเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจในอนาค

ต่อเนื่องในวันศุกร์ ก็จะมีการรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรในสหรัฐ (US Non-farm Payrolls) ที่คาดว่าจะลดลง 8 ล้านตำแหน่งจะส่งผลให้การว่างงานขยับขึ้นแตะระดับ 20% ที่คาดว่าเป็นระดับที่สูงที่สุดในวิกฤตครั้งนี้และอนาคตอาจเริ่มฟื้นตัวกลับได้

ส่วนในฝั่งการเมืองก็น่าติดตามเป็นพิเศษ เนื่องจากมีทั้งความวุ่นวายจากการประท้วงทั่วสหรัฐ และความพยายามที่จะยกระดับความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศในฮ่องกง อย่างไรก็ดี เรา "ไม่เห็น" สัญญาณอันตรายกับตลาดการเงิน ทั้งในมุมของนโยบายต่างประเทศ หรือทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ