'Magazine' อยู่รอดอย่างไร ในยุค Digital Disruption

'Magazine' อยู่รอดอย่างไร ในยุค Digital Disruption

เปิดเส้นทางความสำเร็จของ Kazz Magazine ในวันที่ทิศทางธุรกิจสิ่งพิมพ์เริ่มทยอยปิดตัวลงไปเรื่อยๆ แต่ Kazz Magazin ยังดำเนินกิจการมาได้จนถึงปัจจุบัน ซึ่งจะมีเคล็ดลับและมุมมองการปรับตัวอย่างไรบ้างนั้น สามารถติดตามอ่านได้ที่นี่

Kazz Magazine เป็นนิตยสารรายเดือน ก่อตั้งโดย ดร.ธนพร ฟักเขียว เริ่มจากปี 2540 ดร.ธนพร เห็นกระแสนิยมของกลุ่มวัยรุ่นที่สนใจเรื่องนักร้อง ศิลปิน แม้จะมีคู่แข่งเยอะ แต่ ดร.ธนพร สร้าง Kazz Magazine ให้มีจุดเด่นที่ไม่เหมือนนิตยสารเล่มอื่นคือ ความเป็นโฟโต้บุ๊ค การเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมที่เราเห็นจากข่าวว่า ธุรกิจสิ่งพิมพ์เริ่มทยอยปิดตัวลงไปเรื่อยๆ แต่ Kazz Magazine ก็ยังคงดำเนินกิจการอยู่ได้จนถึงปัจจุบัน นั่นเป็นเพราะ 

หนึ่ง เมื่อกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน Platform ใหม่ๆ คือโอกาส ตั้งแต่แรก Kazz Magazine วางแผนว่า เนื้อหาจะเน้นไปที่กลุ่มลูกค้าวัยรุ่นอายุตั้งแต่ 18-28 ปี เมื่อมี Platform อื่นๆ เข้ามานั้น เป็นโอกาสเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น โดยนำเสนอ content ผ่านในหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ E-Magazine เว็บไซต์ ตลอดจนเพจใน Facebook Instagram และ Twitter ให้ตอบรับกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงของลูกค้าในกลุ่มนี้

สอง การทำความเข้าใจพฤติกรรมลูกค้าจาก Platform ที่หลากหลาย โดยคุณพงศภัค ฟักเขียว ลูกชายของ ดร.ธนพร มองว่า สื่อออนไลน์นั้นเป็นการกระตุ้นให้ เข้าถึงผู้อ่านมากยิ่งขึ้นและทำให้ Kazz Magazine ได้เรียนรู้พฤติกรรมของผู้อ่าน จากการเข้าชม Platform ต่างๆ ดังนั้นจึงนำเสนอ Content ในรูปแบบที่ต่างกันออกไปในแต่ละ Platform

ตัวอย่างเช่น ทาง Facebook จะเน้นการแชร์และทำกิจกรรมต่างๆ กับทางนิตยสาร ซึ่งก็เป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้คนรู้จัก Kazz มากขึ้น ส่วนทาง Instagram ก็จะเน้นการโปรโมทรูปภาพศิลปิน นักแสดง โดยรูปภาพนั้นมีการใช้เทคนิคการถ่ายภาพที่คมชัดสวยงาม ทำให้เป็นการดึงดูดผู้อ่านให้ติดตามมากยิ่งขึ้น

นอกจากนั้น Social Media ยังช่วยทำให้ Kazz Magazine ได้ข้อมูลพฤติกรรมของผู้อ่านที่แม่นยำมากขึ้น รวมไปถึงเทรนด์ที่กลุ่มเป้าหมายมีความชื่นชอบหรือสนใจในขณะนั้นว่าแบบไหน ทำให้ Kazz สามารถเลือกนำศิลปินมาขึ้นปกได้ตรงใจผู้อ่านมากยิ่งขึ้น

สาม การสร้าง Customer Engagement กับกลุ่มเป้าหมาย โดย Kazz Magazine ทำการสำรวจผู้ติดตามทางโซเชียลมีเดียทุกแฟลตฟอร์ม พบว่าผู้อ่านส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเพศหญิงประมาณ 60% รองลงมาเป็นกลุ่มเพศชายและเพศที่ 3 ในสัดส่วนพอๆ กัน โดยกลุ่มเป้าหมายนั้นพำนักอยู่ทั้งในเขตกรุงเทพ และปริมณฑล ดังนั้น Kazz Magazine เน้นการเข้าถึงกลุ่มผู้อ่านมากยิ่งขึ้น โดยมีการจัดจิตอาสาระหว่างแฟนคลับและศิลปิน

สี่ สร้าง Brand Position ว่า Kazz Magazine ไม่ใช่เป็นเพียงแค่นิตยสารที่มีรูปสวย แต่เป็นของสะสม เริ่มจากการที่ ดร.ธนพร สังเกตว่า ในยุคแรกของการก่อตั้ง วัยรุ่นในสมัยนั้นนิยมซื้อโปสเตอร์ของศิลปินและนักร้องที่ตนชื่นชอบมาเก็บไว้ ดังนั้น Kazz Magazine ต้องการเป็นให้ได้มากกว่าโปสเตอร์ จึงมีการนำเสนอ content ที่ให้มุมมองแง่คิดที่เป็นประโยชน์กับเยาวชน

ส่วนในปัจจุบัน ภาพของศิลปินและนักร้องที่ผู้อ่านชื่นชอบ สามารถหาได้ไม่ยากบนโลกออนไลน์ ดังนั้น Kazz Magazine เน้นรูปภาพแบบโฟโตบุ๊ค ที่ไม่สามารถหาได้ในอินเทอร์เน็ต ทำให้เป็นจุดเด่นของนิตยสาร นอกจากนั้น Kazz Magazine ได้มีการจัดงานประกาศรางวัลให้กับศิลปิน นักแสดง ที่มีผลงานโดดเด่นในปีนั้นๆ ซึ่งทำให้ผู้อ่านที่มีพฤติกรรมการติดตามผลงานศิลปิน นักแสดง ยิ่งติดตามสะสม Kazz Magazine มากยิ่งขึ้น

จากการกำหนด Brand position ให้เป็นของสะสม ทำให้ Kazz Magazine ยังได้กลุ่มลูกค้าใหม่เข้ามา เพราะความเป็น Globalization ทำให้ผลงานของศิลปิน นักแสดงไทย ก็ได้รับความนิยมจากชาวต่างชาติเช่นกัน จากการที่นักแสดงไทยไปโด่งดังมีผลงานเป็นที่ยอมรับในต่างประเทศ ทำให้เกิดกลุ่มแฟนคลับ ซึ่งเมื่อกลุ่มแฟนคลับได้เห็นว่า Kazz Magazine เป็นหนังสือที่สามารถเก็บสะสมได้ จึงทำให้เกิดลูกค้าของ Kazz Magazine ในต่างประเทศ เช่น จีน ไต้หวัน อินโดนีเซีย เพิ่มเติมมาอีกด้วย

กรณีศึกษาของ Kazz Magazine สะท้อนให้เห็นถึงว่า การมองมุมบวกกับการเปลี่ยนแปลง และปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นเรื่องสำคัญ โดยหากเรามองถึงความหมายง่ายๆ ของการเปลี่ยนแปลงแบบ Disruptive นั่นคือ การที่เปลี่ยนแปลงแบบฉับพลับด้วยดิจิทัล ซึ่งก่อให้เกิด Platform โมเดลธุรกิจ ตลอดจนผลิตภัณฑ์/บริการใหม่ๆ ที่กระทบต่อมูลค่าของสินค้า/บริการที่มีแบบเดิมๆ ในตลาด รวมไปถึงกระทบต่อความต้องการของลูกค้าและรูปแบบการสื่อสารกับลูกค้า

Kazz Magazine เลือกที่จะใช้ประโยชน์จากดิจิทัลในการนำมาซึ่งข้อมูลที่แม่นยำใน การทำความเข้าใจลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมหรือความชอบ เพื่อที่จะนำเสนอคุณค่าให้มากกว่ามูลค่าของสินค้า อีกทั้งดิจิทัลยังนำไปสู่การสร้างประสบการณ์ที่มีการผสมผสานกันระหว่าง Online และ BTL ได้อย่างลงตัว

ดังนั้นอย่ากลัวการเปลี่ยนเลยค่ะ เพราะยังไงๆ อะไรๆ ก็ต้องเปลี่ยนแปลงไป ความสำเร็จอย่างยั่งยืนมาจากการที่ธุรกิจยังคงสามารถตอบโจทย์และสร้างคุณค่าให้กับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้ เป้าหมายยังเหมือนเดิม แต่เพิ่มเติม คือ เปลี่ยนวิธีมองและวิธีทำค่ะ