ความเป็นกลางทางเน็ต (Net neutrality) คืออะไร?

ความเป็นกลางทางเน็ต (Net neutrality) คืออะไร?

ทำความรู้จัก "หลักความเป็นกลางทางเน็ต" หรือ Net neutrality คืออะไร แล้วจะช่วยหรือเข้ามาควบคุมการแข่งขันที่ดุเดือดของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต กับผู้ใช้บริการโครงข่ายที่มีความต้องการใช้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด

จากผลการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี 2562 (Thailand Internet User Behavior 2019) ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ETDA) พบว่า คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดกว่า 150% ส่งผลทำให้ปัจจุบันไทยมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจำนวน 47.5 ล้านคน หรือราว 70% ของจำนวนประชาชนทั้งหมด จากตัวเลขที่พุ่งสูงนี้นับเป็นทั้งโอกาสและภัยคุกคามที่ภาครัฐต้องดูแล ส่งเสริม และเฝ้าระวัง เพื่อให้การใช้อินเทอร์เน็ตก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความมั่นคงปลอดภัยไปพร้อมๆ กัน

จากข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงการแข่งขันที่ดุเดือดระหว่างผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ซึ่งจำเป็นจะต้องแย่งชิงตลาดระหว่างกันมากยิ่งขึ้น ส่งผลทำให้เกิดคำถามในเรื่องความเป็นธรรมของการแข่งขันระหว่างผู้ให้บริการเนื้อหา กับผู้ให้บริการโครงข่ายตามมา เพราะถ้าหากผู้ให้บริการเนื้อหาที่มีทุนหนา เช่น google ร่วมมือกับผู้ให้บริการโครงข่าย โดยอาจสนับสนุนเงินเพื่อแลกเปลี่ยนกับข้อตกลงบางประการ เช่น การให้บริการเนื้อหาของตนอย่างรวดเร็วกว่า เป็นต้น เพื่อเป็นการกีดกันหรือสร้างข้อได้เปรียบเหนือคู่แข่งอื่นๆ แล้วนั้น จะมีกฎเกณฑ์หรือหลักปฏิบัติในการรับส่งข้อมูลที่สามารถกำกับดูแลกรณีเหล่านี้ได้บ้างอย่างไร

หลักปฏิบัติดังกล่าวถูกเรียกว่า หลักความเป็นกลางทางเน็ต (Net neutrality) คือหลักการที่ระบุว่าผู้ให้บริการเครือข่ายรวมถึงรัฐบาลจะต้องจัดการกับข้อมูลต่างๆ บนอินเทอร์เน็ตอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่เลือกปฏิบัติภายใต้กฎเกณฑ์พิเศษใดๆ โดยมีแนวคิดที่ว่าผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ไม่ควรแบ่งแยกผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตด้วยการเก็บค่าบริการที่แตกต่างกันหรือทำการลดความเร็วของผู้ใช้งานบางคนลงให้แตกต่างจากผู้ใช้งานคนอื่น

อันหมายความว่า ผู้ให้บริการโครงข่าย (เช่น True internet, TOT, Comcast, Verizon) จะต้องไม่ให้ความสำคัญกับลักษณะเนื้อหาอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือจากผู้ให้บริการรายใดรายหนึ่งเหนือผู้ให้บริการรายอื่น เช่น การลดทอนความเร็ววิดีโอของ Youtube ให้น้อยกว่าความเร็วคอนเทนต์วิดีโอของ Netflix เป็นต้น

ทั้งนี้สามารถสรุปได้ว่า หลักการของ Net neutrality จะทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่จะสร้างความเป็นธรรม หรือ ความเป็นกลางระหว่างผู้ให้บริการทุกๆ ราย ไม่ว่าจะเป็นผู้ให้บริการรายเล็ก หรือ รายใหญ่ อีกทั้งยังเป็นการช่วยลดต้นทุนในการเริ่มธุรกิจบนอินเทอร์เน็ต และกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ในอนาคตอีกด้วย อีกทั้งยังถือเป็นหลักการพื้นฐานของ “เสรีภาพ” บนอินเทอร์เน็ตอีกด้วย

แต่หลักการดังกล่าวก็ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันในวงกว้างอยู่เสมอ เนื่องจากผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตมองว่า Net neutrality นี้ทำให้ทางบริษัทหาเงินได้น้อยลงและทำให้นักลงทุนไม่ต้องการลงทุนกับบริษัท ดังนั้นในระยะยาว Net neutrality จะทำให้เกิดผลเสียต่อเครือข่าย อีกทั้งมีบางส่วนเห็นว่า กฎหมายที่ออกโดยรัฐบาลจะเป็นอุปสรรคทำให้ไม่เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ

ประเด็นเรื่อง Net Neutrality นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เนื่องจากมีมานานตั้งแต่ปี 2000 แต่ไม่เป็นรูปเป็นร่าง จนมาถึงปี 2015 จึงเริ่มมีการร่างกฎหมายเพื่อนำหลักการดังกล่าวนำมาใช้ในที่สุด และถึงแม้ว่าจะไม่ได้บังคับให้เป็นกลาง Net Neutrality 100% แต่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตหลายฝ่ายก็ไม่พอใจ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ดังนั้นจึงส่งผลทำให้แต่ละประเทศมีมุมมองเกี่ยวกับความเป็นกลางทางเน็ตต่างกัน โดยบางประเทศอย่างเช่นสิงคโปร์และอินโดนีเซียได้มีการจัดการตามแนวคิดนี้ ในยุโรปมีกฎหมาย Net Neutrality เพื่อควบคุมความเป็นกลางทางอินเทอร์เน็ตมาตั้งแต่ปี 2016 ส่วนกระทรวงการโทรคมนาคมแห่งอินเดียได้ผ่านกฎควบคุม Net Neutrality อย่างเป็นทางการ โดยมีการระบุห้ามผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตปฏิบัติต่อทราฟฟิกบนอินเทอร์เน็ตอย่างไม่เท่าเทียม เช่น บล็อก ลดแบนด์วิดท์ ให้แบนด์วิดท์เพิ่ม หรือไม่คิดปริมาณข้อมูลโดยแบ่งแยกตามเงื่อนไขต่างๆ

สำหรับสหรัฐได้มีการบังคับใช้กฎหมาย Net Neutrality ตั้งแต่ปี 2015 แต่คณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสาร (Federal Communications Commission) หรือ FCC ของสหรัฐ ลงมติยกเลิกข้อบังคับหลัก Net Neutrality เมื่อเดือนธ.ค. 2017

โดยประธานของ FCC กล่าวว่า Net Neutrality เป็น “ความผิดพลาด” และ “เป็นการกระทำที่ไม่ไตร่ตรองให้ดีก่อน” และอ้างว่ากฎเหล่านี้ลดความน่าดึงดูดในการลงทุนและขัดขวางการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ส่งผลให้มีกลุ่มผู้คัดค้านหลากหลายกลุ่มพยายามต่อสู้ทางกฎหมายเพื่อให้ FCC ทบทวนมติ และเรียกร้องให้สภาคองเกรสกลับมติครั้งนั้น

นำโดยบริษัทไอที 6 แห่ง (Kickstarter, Foursquare, Etsy, Shutterstock, Expa และ Automattic) ยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์ในรัฐโคลัมเบียเพื่อฟ้อง FCC จากการยกเลิกหลัก Net Neutrality อย่างไรก็ตามปัจจุบัน The Federal Trade Commission มีหน้าที่รับผิดชอบในการปกป้องผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตของสหรัฐอเมริกา

สำหรับประเทศไทย เรื่องนี้ยังคงเป็นเรื่องใหม่มากและผู้เขียนเห็นว่าอาจต้องใช้เวลายาวนานกว่า เรื่องนี้จะถูกนำมาถกเถียงในเมืองไทยอย่างจริงจัง แต่หากวันหนึ่ง กลุ่มเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทั้งหลายรวมตัวกันขึ้นมา ก็เป็นหน้าที่ของผู้บริโภคที่ต้องส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในสังคมต่อไป เนื่องจากการกำกับดูแลสื่อแบบเป็นประชาธิปไตยนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ประชาชนจะต้องเข้ามามีส่วนร่วม โดยไม่ใช่เพียงส่วนร่วมในแง่ของการกำหนดเนื้อหาเท่านั้น แต่รวมทั้งในแง่การออกแบบนโยบายกำกับดูแลสื่ออีกด้วย