ธปท. ชี้แจงสภาฯ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ชัดเจนเกี่ยวกับ พ.ร.ก. ซอฟต์โลน และ BSF

 ธปท. ชี้แจงสภาฯ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ชัดเจนเกี่ยวกับ พ.ร.ก. ซอฟต์โลน และ BSF

ธปท. ชี้แจงสภาฯ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ชัดเจนเกี่ยวกับ พ.ร.ก. ซอฟต์โลน และ BSF

เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 นายเมธี สุภาพงศ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพิ่มเติมเกี่ยวกับการดำเนินมาตรการตาม พ.ร.ก.รักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ.2563 (พ.ร.ก. BSF) และ พ.ร.ก. ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 (พ.ร.ก. ซอฟต์โลน) สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

1. พ.ร.ก. BSF ไม่ได้เป็นการกู้เงิน แต่เป็นการให้อำนาจ ธปท. จัดการสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน

2. วัตถุประสงค์ของ พ.ร.ก. BSF เพื่อการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน รักษามูลค่าการออมของคนไทย เป็นการให้ความเชื่อมั่นกับผู้ถือครองตราสารหนี้ภาคเอกชนที่เป็นประชาชนถึงร้อยละ 83 ของมูลค่าตราสารหนี้ทั้งหมด

3. อัตราดอกเบี้ยของ พ.ร.ก. BSF และ พ.ร.ก. ซอฟท์โลน สะท้อนวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน การนำ พ.ร.ก.ซอฟต์โลนมาเปรียบเทียบกับ พ.ร.ก. BSF อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดโดยสิ้นเชิง เนื่องจากทั้ง 2 พ.ร.ก. มีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน

โดย พ.ร.ก. ซอฟต์โลนเป็นการให้เงินกู้เพิ่มเติมจากเงินกู้เดิมที่ได้จากสถาบันการเงินอยู่แล้ว โดยเงินกู้ก้อนใหม่นี้ SMEs จะได้รับในอัตราดอกเบี้ยต่ำขณะที่ พ.ร.ก. BSF ไม่ได้เป็นการให้เงินกู้เพิ่ม แต่เป็นการให้กู้ยืมเพื่อชำระตราสารหนี้เดิมที่ครบกำหนด ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่แพงที่สุด โดยบริษัทต้องไประดมทุนจากแหล่งอื่นๆ ก่อนที่จะมาขอความช่วยเหลือจากกองทุน BSF และเป็นการให้สภาพคล่องชั่วคราว เพื่อลดแรงจูงใจในการมาขอสภาพคล่องจากกองทุน BSF เป็นอันดับแรก เพราะมีเงื่อนไขว่าบริษัทต้องหาแหล่งเงินทุนภายนอกจากทั้งสถาบันการเงิน และตลาดหุ้นกู้มารวมกันไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50

ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีหลายบริษัทที่ต้องระดมทุนเพื่อใช้คืนหุ้นกู้ครบกำหนด แต่ก็ไม่ได้มาใช้กองทุนนี้ สะท้อนว่า พ.ร.ก. BSF เป็นเพียงหลังพิงให้กับผู้ถือตราสารหนี้ภาคเอกชนเท่านั้น

4. การดำเนินการของกองทุน BSF เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลที่ดี มีคณะกรรมการที่ทำหน้าที่แยกจากกันอย่างชัดเจน ระหว่างคณะกรรมการกำกับกองทุนฯ และคณะกรรมการลงทุน รวมถึงยังมีผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐและเอกชนในการให้ความเห็น โดยกองทุนจะเปิดเผยผลการดำเนินงานทั้งรายชื่อบริษัทที่ได้รับความช่วยเหลือและมูลค่าสินทรัพย์รวมของกองทุนแก่สาธารณชนเป็นประจำ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส สำหรับการผ่อนผันเงื่อนไขที่กำหนดไว้ หากมีความจำเป็นก็จะดำเนินการเป็นการทั่วไปให้กับทุกบริษัท ไม่ได้ให้กับบริษัทใดบริษัทหนึ่ง

นอกจากนี้ การมีผู้แทนจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เป็นหนึ่งในคณะกรรมการลงทุนเพื่อช่วยในการพิจารณา เพราะเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในตลาดตราสารหนี้ โดยหากมีประเด็นที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ระหว่างการลงทุนของกองทุน BSF กับการลงทุนของ กบข. กรรมการท่านนั้นจะไม่สามารถอยู่ร่วมพิจารณาในการประชุมวาระนั้นได้  

5. การให้สินเชื่อซอฟต์โลน เป็นหนึ่งในมาตรการช่วยเหลือ SMEs และยังมีวงเงินพร้อมให้ความช่วยเหลือ พ.ร.ก. ซอฟต์โลน ปล่อยสินเชื่อไปแล้วร้อยละ 10 ยังมีวงเงินเหลืออีกมาก และเป็นเพียงหนึ่งในมาตรการด้านการเงินช่วยเหลือ SMEs จากหลากหลายมาตรการ

6. ความตื่นตระหนกของประชาชนต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดในเดือนมีนาคม 2563 ทำให้เกิดการเทขายสินทรัพย์ทางการเงินต่างๆ รวมถึงกองทุนรวมตราสารหนี้ออกมาเป็นจำนวนมาก เพื่อไปถือเงินสด เงินฝากในระบบสถาบันการเงินจึงปรับเพิ่มขึ้นมาก สะท้อนความรุนแรงของสถานการณ์ในช่วงนั้น ส่งผลให้ต้องมีการออกมาตรการสำคัญทั้งมาตรการช่วยเหลือกองทุนรวมฯ (Mutual Fund Liquidity Facility: MFLF) และการจัดตั้งกองทุน BSF เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนและนักลงทุนทั่วไป ทำให้กลไกตลาดการเงินกลับมาทำงานได้ตามปกติ