แจงยิบ! กทม. ขานรับ 'คลายล็อคเฟส 3' อะไรเปิดได้อีกบ้าง!?

แจงยิบ! กทม. ขานรับ 'คลายล็อคเฟส 3' อะไรเปิดได้อีกบ้าง!?

กทม. ขานรับ 16 สถานที่ ที่ได้รับการ "ผ่อนปรนระยะ 3" ปรับหลักเกณฑ์ร้านอาหารให้นั่งทานโต๊ะเดียวกันโดยนำฉากกั้นออกได้ ส่วน "ฟิตเนส" เปิดให้เล่นทุกกิจกรรมแต่จำนวนจำกัดจำนวนผู้เล่น

วันนี้ (31 พ.ค.) ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ถึงแนวทางการดำเนินการ หลังรัฐบาลผ่อนปรนในระยะที่ 3

โดยโฆษกกรุงเทพมหานคร ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง บอกภายหลังการประชุมว่า กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการตามมาตรฐานกลางของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค.กำหนด

และเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ดีขึ้นแล้ว โดยตลอด1เดือนที่ผ่านมา มีผู้ติดเชื้อเพียง 9 รายเท่านั้น จาก 497 รายในเดือนที่ผ่านมา หากไม่รวมกับผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ

ส่งผลให้กรุงเทพมหานครออกมาตรการ คลายล็อคเพิ่มเติมในส่วนของร้านอาหาร ดังนี้

ร้านอาหารที่ทางกรุงเทพมหานคร อนุโลมในรายละเอียดเพิ่มเติม แตกต่างจาก ศบค. โดย  

"ร้านอาหาร" ที่เปิดให้นั่งรับประทานได้ กรุงเทพมหานครได้อนุโลมให้นั่งรับประทานอาหารรวมโต๊ะกันได้ แต่จะต้องเว้นระยะห่างประมาณ 1 เมตร (จากเดิมที่ต้องเว้นระยะห่าง 1.5เมตร) ในการนั่งร่วมโต๊ะเดียวกัน เพื่อไม่ให้หนาแน่นจนเกินไป และสามารถนำฉากกั้นออกได้ 

สถานประกอบกิจการและกิจกรรมอื่นๆ เป็นไปตามที่ ศบค.กำหนด ทั้งห้างสรรพสินค้า สามารถเปิดถึง 21.00 น. โดยต้องจัดการหลังร้านให้จบเพื่อ "ไม่ให้เกินเคอร์ฟิว"

ร้านตัดผม เสริมสวย แต่งผม เพิ่มการทำสี เคมี ให้บริการได้ทุกอย่าง แต่จะต้องไม่เกิน 2 ชั่วโมง

คลินิกเวชกรรมเสริมความงาม สถานเสริมความงาม ร้านเจาะ ร้านสัก เปิดได้ ให้บริการได้ทุกกิจกรรม แต่ให้เข้าใช้บริการจำกัดไม่เกิน 2 ชั่วโมง โดยผู้ให้บริการต้องสวมหน้ากากผ้า หน้ากากอนามัยตามศบค. กำหนด และต้องเพิ่มเติมในส่วนประกาศของ กทม. คือ ต้องสวมเฟซชิลด์ 

หรือ กรณีต้องให้บริการบริเวณใบหน้า ขอให้หาวิธีประยุกต์ ป้องกัน ป้องกันระบบทางเดินหายใจ

"ฟิตเนส" เปิดให้เล่นทุกที่ ทุกกิจกรรม จำกัดจำนวนผู้เล่น เว้นระยะห่าง เครื่องเล่น 2 เมตร ไม่เกิน 2 ชั่วโมง งดการอบตัว อบไอน้ำ เน้นการทำความสะอาด

การใช้อาคารโรงเรียนและสถานศึกษา ที่แม้จะยังไม่เปิดเรียนเต็มรูปแบบ แต่ให้มีการเตรียมความพร้อม เช่น การประชุมครู สามารถทำได้ แต่ยังห้ามไม่ให้มีการเรียนการสอนที่โรงเรียน

ส่วนโรงเรียนเอกชนนอกระบบ ที่เป็นการสอนวิชาชีพ ศิลปะ กีฬา ก็สามารถทำได้ ถ้าเป็นกีฬา ก็ต้องเป็นกีฬาที่มีการผ่อนผันแล้ว เช่น แบดมินตัน ตะกร้อ สควอตช์ ยิมนาสติก เปิดได้ แต่ต้องทำตามมาตรการอย่างเคร่งครัด

การจัดแสดงสินค้า นิทรรศการ ศูนย์ประชุม ต้องมีขนาดไม่เกิน 20,000 ตร.ม. และจำกัดไม่เกิน 5,000 คน จำนวนผู้ใช้บริการต่อพื้นที่ คือ ต้องไม่น้อยกว่า 4 ตร.ม./คน เว้นระยะห่าง ไม่น้อยกว่า 1 เมตร เปิดได้ถึง 21.00 น.

ศูนย์พระเครื่อง พระบูชา สนามพระเครื่องพระบูชา ทำได้ เว้นการจัดสัมมนา จัดประมูล หรือประกวด หรือรวมกลุ่มเพื่อมีการจองเช่าพระบูชา และวัตถุมงคล 

ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน ให้เปิดเพื่อดูแลเด็กได้ เช่น การประกอบอาหาร จัดเตรียมเครื่องดื่มสำหรับเด็ก แต่ "ยังคงไม่เปิดรับเลี้ยง" 

สถานประกอบการนวดเพื่อสุขภาพ นวดแผนไทย สปาเพื่อสุขภาพ เปิดให้ทำได้เต็มรูปแบบ แต่ ห้ามนวดบริเวณใบหน้า ห้ามอบตัว อบสมุนไพรแบบรวมหลายๆ คน และยังไม่ให้เปิดสถานที่ประเภทอาบน้ำ หรือ อาบอบนวด และต้องจำกัดเวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง โดยผู้ประกอบการ ผู้ให้บริการ พนักงาน รวมถึงผู้ใช้บริการ ต้องสวมหน้ากากตลอดเวลา ยกเว้นขณะอบตัว

สถานที่ฝึกซ้อมมวย โรงยิม หรือค่ายมวย  คือ ให้เปิดได้เฉพาะฝึกซ้อม ชกลมได้ ล่อเป้าได้ 

สนามกีฬา อนุโลมกีฬามากขึ้น คือ ฟุตบอล ฟุตซอล บาสเก็ตบอล วอลเล่ย์บอล แต่จะต้องไม่มีการแข่งขัน และผู้เข้าร่วมกิจกรรม ที่ไม่รวมนักกีฬา ต้องมีไม่เกิน 10 คน

สถานที่เล่นโบว์ลิ่ง สเก็ต โรลเลอร์เบลด หรือการละเล่นอื่นๆ เปิดเฉพาะเพื่อออกกำลังกาย หรือฝึกซ้อมเท่านั้น แต่ยังไม่อนุญาตให้มีการแข่ง งดจัดกิจกรรม

สถาบันลีลาศ กำหนดให้ใช้พื้นที่อย่างน้อย 5 ตรม./ 1 คน ส่วน กีฬาทางน้ำ เช่น เจ็ทสกี ไคท์เซิร์ฟ เครื่องเล่นบางประเภท เช่น บานานาโบ๊ท สามารถเปิดดำเนินการได้

โรงภาพยนตร์ โรงมหรสพ ให้บริการได้ แต่ต้องจำกัดผู้รับบริการไม่เกิน 200 คน งดการจัดดนตรี คอนเสิร์ต หรือกิจกรรมอื่นๆ ที่ให้คนมาใกล้ชิดกัน

สวนสัตว์ ให้เปิดได้ แต่ทำตามมาตรการของรัฐ