ขึ้นทะเบียนแม่น้ำสงครามตอนล่าง “แรมซาร์ไซต์” ที่ 15 ของประเทศ I Green Pulse

ขึ้นทะเบียนแม่น้ำสงครามตอนล่าง “แรมซาร์ไซต์” ที่ 15 ของประเทศ I Green Pulse

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เปิดเผยเมื่ออาทิตย์นี้ว่า สำนักเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ (The Secretariat of Ramsar Bureau) ได้แจ้งประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 27 เมษายน

ขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำแม่น้ำสงครามตอนล่าง จังหวัดนครพนม เป็น “แรมซาร์ไซต์” หรือพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ ลำดับที่ 2,420 ของโลก และนับเป็นพื้นที่แรมซาร์ไซต์ที่ 15 ของไทย ทั้งนี้ การขึ้นทะเบียนดังกล่าวได้มีผลอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา

พื้นที่ชุ่มน้ำแม่น้ำสงครามตอนล่าง จังหวัดนครพนม ที่ถูกนำเสนอเพื่อการขึ้นทะเบียนเป็นแรมซาร์ไซต์แห่งใหม่ของประเทศและของโลกนี้ มีขอบเขตเริ่มตั้งแต่ปากน้ำบ้านไชยบุรี ตำบลไชยบุรี อำเภอท่าอุเทน ไปจนถึงบ้านปากยาม ตำบลสามผง อำเภอศรีสงคราม ความยาวทั้งสิ้น 92 กิโลเมตร โดยการกำหนดพื้นที่เสนอเป็นแรมซาร์ไซต์นี้ ครอบคลุมเฉพาะส่วนที่เป็นตัวแม่น้ำสงครามตอนล่าง และพื้นที่ป่าบุ่งป่าทามที่ติดกับสองฝั่งแม่น้ำ และพื้นที่ป่าสาธารณะหรือป่าบุ่งป่าทามที่ผู้นำชุมชนและคณะกรรมการหมู่บ้านเห็นชอบ และไม่มีพื้นที่ทับซ้อนกับพื้นที่เอกสารสิทธิ์ของราษฎร รวมทั้งพื้นที่การปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) และพื้นที่สาธารณะตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (นสล.) รวมพื้นที่ที่เสนอเป็นแรมซาร์ไซต์ใหม่นี้ทั้งหมด 34,381 ไร่ 

สำหรับความโดนเด่นและเอกลักษณ์ของพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งนี้คือ มีระบบนิเวศหายากได้แก่ ป่าบุ่งป่าทามผืนใหญ่ ซึ่งมีความสำคัญในเชิงความหลากหลายทางชีวภาพของชนิดพันธุ์พืชและสัตว์ในระบบนิเวศ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของพันธุ์ปลาน้ำจืด เป็นแหล่งประมงพื้นบ้านที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงทางอาหารของคนในพื้นที่ ตลอดจนเป็นแหล่งอพยพเพื่อผสมพันธุ์วางไข่ของพันธุ์ปลาจากแม่น้ำโขงในช่วงฤดูน้ำหลาก พบความหลากหลายของพันธุ์ปลาอย่างน้อย 124 ชนิด พันธุ์พืช 208 ชนิด จึงมีทั้งความสำคัญในเชิงวัฒนธรรมและเศรษฐกิจท้องถิ่นและภูมิภาค 

ทั้งนี้ จังหวัดนครพนม ได้ดำเนินการขับเคลื่อนงานด้านการอนุรักษ์แม่น้ำสงครามตอนล่างในด้านต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 โดยได้ดำเนินงานโครงการด้านการอนุรักษ์แหล่งน้ำร่วมกับองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย (WWF Thailand) ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากธนาคาร HSBC ประเทศไทย

แรมซาร์ไซต์หรือพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศนี้  ถือเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่เป็นตัวแทนหายากหรือมีลักษณะพิเศษเฉพาะ ซึ่งพบในเขตชีวภูมิศาสตร์ที่เหมาะสม มีความสำคัญระหว่างประเทศสำหรับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพที่เกี่ยวข้องกับชนิดพันธุ์และชุมชนประชากรทางนิเวศของนกน้ำและปลา ภายใต้อนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar Convention) หรืออนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งเป็นอนุสัญญาที่จัดขึ้นที่เมืองแรมซาร์ ประเทศอิหร่านในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2514 

อนุสัญญาฯ นับเป็นข้อตกลงระหว่างรัฐบาลเพื่อกำหนดกรอบการทำงานสำหรับความร่วมมือระหว่างประเทศ ทั้งนี้เพื่อการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยที่เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์และยับยั้งการสูญหายของพื้นที่ชุ่มน้ำในโลก ซึ่งจะต้องมีการจัดการเพื่อใช้ประโยชน์อย่างชาญฉลาด 

อนุสัญญาฯ มีผลบังคับใช้เมื่อปี พ.ศ. 2518 และเพื่อให้เกิดความตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำ มีการกำหนดให้ทุกวันที่ 2 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็นวันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก (World Wetlands Day) ประเทศไทยเองได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ เป็นลำดับที่ 110 มีผลบังคับใช้วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2541 โดยแรมซาร์ไซต์แห่งแรกของประเทศไทย คือ พรุควนขี้เสียนในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย มีพื้นที่ประมาณ 3,085 ไร่ เป็นลำดับที่ 948 ในทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศของอนุสัญญาแรมซาร์

159089988436

ภาพ/ สผ.