ผลสำรวจเผย'ความเป็นอยู่ทางการเงิน-สังคมทั่วโลก'ลดลงช่วงโควิด-19

ผลสำรวจเผย'ความเป็นอยู่ทางการเงิน-สังคมทั่วโลก'ลดลงช่วงโควิด-19

ผลสำรวจเผย'ความเป็นอยู่ทางการเงิน-สังคมทั่วโลก'ลดลงช่วงโควิด-19 ขณะที่การทำงานที่บ้านเพิ่มความพึงพอใจในงาน,ความสัมพันธ์กับงาน และการสื่อสาร แม้อาจต้องใช้เวลาไปกับการทำงานยาวนานขึ้น

อินเตอร์เนชันแนล มาร์เกตส์ ในเครือบริษัทซิกน่า เผยแพร่รายงานการศึกษาผลกระทบทั่วโลกจากโรคโควิด-19 ของซิกน่า ฉบับแรกด้วยความร่วมมือกับบริษัทกันตาร์ เป็นส่วนหนึ่งของรายงานสำรวจภาวะความเป็นอยู่แบบรอบด้าน ประจำปีของซิกน่า และเป็นฉบับแรกจากการศึกษาชุดใหม่ของซิกน่าเพื่อทำความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีต่อภาวะความเป็นอยู่ของผู้คนทั่วโลก

รายงานสำรวจภาวะความเป็นอยู่แบบรอบด้าน ติดตามการรับรู้เกี่ยวกับสุขภาพและความเป็นอยู่ รวมถึงดัชนีที่ครอบคลุมความเป็นอยู่ทางกายภาพ,ครอบครัว,สังคม,การเงิน และการทำงานนับตั้งแต่ปี 2557 จากการสอบถามผู้ร่วมตอบแบบสำรวจจำนวน 10,204 คนในจีน, ฮ่องกง, สิงคโปร์, สเปน, ไทย, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี), สหราชอาณาจักร และสหรัฐ ระหว่างเดือน ม.ค. ถึง เม.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่โรคโควิด-19 กำลังแพร่ระบาด

รายงานวิจัยใหม่ฉบับนี้บ่งชี้ว่า ภาวะความเป็นอยู่ตามการรับรู้ของเรานั้นปรับตัวรับได้อย่างน่าประหลาดใจ โดยดัชนีความเป็นอยู่ทั่วโลกในภาพรวมระหว่างเดือน ม.ค. ถึง เม.ย. ยังทรงตัวอยู่ที่ 62.5 จุด แม้จะเกิดการแพร่ระบาดของโรคและมีการประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ แต่ดัชนีความเป็นอยู่ด้านการเงินและสังคมกลับลดต่ำลง โดยดัชนีด้านการเงินลดลง 1 จุด (จาก 55.8 สู่ 54.8) และด้านสังคมลดลง 0.8 จุด (จาก 63.2 มาอยู่ที่ 62.4) ส่วนดัชนีด้านการทำงานและครอบครัวยังคงที่ โดยเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในบางส่วนที่สำคัญ

ดัชนีความเป็นอยู่ทางสังคมในสหราชอาณาจักรหดตัวลงมากสุดถึง 4.1 จุด ซึ่งเป็นผลมาจากการลดลงของจำนวนผู้ที่รู้สึกว่า พวกเขามีเวลาเพียงพอที่ได้พบปะกับเพื่อน (ลดลงจาก 31% เหลือ 17%), มีเวลาเพียงพอให้กับตัวเอง (จาก 43% เหลือ 34%) และรู้สึกว่า พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนโดยรวมที่นอกเหนือไปจากครอบครัว (จาก 25% เหลือเพียง 15%) ขณะที่ดัชนีความเป็นอยู่ด้านสังคมของยูเออี กลับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในหลาย ๆ ด้าน แม้ต้องอยู่ภายใต้การประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ โดยที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือ จำนวนผู้ที่รู้สึกว่ามีเวลาเพียงพอให้กับตัวเองเพิ่มขึ้นจาก 40% มาเป็น 50% และผู้ที่รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน (เพิ่มขึ้นจาก 34% เป็น 46%)

ดัชนีความเป็นอยู่ด้านการทำงานยังอยู่ในระดับทรงตัว (เพิ่มเพียงเล็กน้อยจาก 68.7 มาเป็น 69) โดยได้ปัจจัยสนับสนุนมาจากคะแนนที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของจำนวนผู้ที่รู้สึกว่าได้รับการเรียนรู้และฝึกอบรมเพื่อการพัฒนา (เพิ่ม 4% จาก 54% มาเป็น 58%) ขณะที่ความสมดุลในด้านชีวิตการทำงานที่ดีก็เพิ่มขึ้นเล็กน้อย (เพิ่ม 1% จาก 63% มาเป็น 64%) ส่วนดัชนีความเป็นอยู่ด้านครอบครัวยังคงอยู่ในระดับทรงตัวเช่นเดียวกัน โดยเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 66.3 มาเป็น 66.9 ทั้งนี้ สิงคโปร์และยูเออีเป็นประเทศที่มีดัชนีความเป็นอยู่ด้านครอบครัวเพิ่มขึ้นในระดับสูง(เพิ่ม 2.6 และ 2.9 จุดตามลำดับ)

การทำงานที่บ้านเพิ่มความพึงพอใจในงาน,ความสัมพันธ์กับงาน และการสื่อสาร แม้อาจต้องใช้เวลาไปกับการทำงานยาวนานขึ้น แต่ผู้คนก็ยังมองว่า การทำงานจากที่บ้านทำให้ชีวิตการทำงานของพวกเขาดีขึ้น โดยผู้ตอบแบบสำรวจถึง 76% ระบุว่าวันทำงานของพวกเขามีความยืดหยุ่นมากขึ้น ขณะที่ผู้ตอบแบบสำรวจในประเทศไทยมากถึง 90%, ในสเปน 80% และในยูเออี 79% ต่างก็ยอมรับในเรื่องดังกล่าว ซึ่งบ่งชี้ว่ากิจวัตรการทำงานอาจจะเปลี่ยนไปถาวร เมื่อมาตรการล็อกดาวน์สิ้นสุดลง

ดร.พุยฮัน จอยซ์ เชา นักจิตวิทยาคลินิกจากไดเมนชัน เซนเตอร์ให้ความเห็นว่า “ผลการวิจัยฉบับนี้เป็นส่วนเสริมสำคัญที่มาเพิ่มความเข้าใจของเราเกี่ยวกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ต่อผู้คน การจัดการกับวิกฤตเป็นเรื่องส่วนบุคคลมาก ๆ และหลายคนก็ต้องเผชิญกับความวิตกกังวล ความสับสนในระดับสูง หรืออาจมีความรู้สึกหวาดกลัว

รายงานผลการศึกษาเรื่องผลกระทบฉบับแรกนี้พบว่าผู้คนมีภาวะความเหงาลดต่ำลง โดยมีผู้ตอบแบบสำรวจเพียง8%ที่ระบุว่า พวกเขารู้สึกห่างไกลจากคนอื่นในเดือน เม.ย. เทียบกับ 11% ในเดือน ม.ค. และเมื่อถามว่า พวกเขารู้สึกใกล้ชิดกับผู้อื่นมากขึ้นหรือไม่73%ตอบว่าใช่ในเดือน เม.ย. เทียบกับ 69% ในเดือน ม.ค. แม้หลายประเทศจะมีการประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์แบบเบ็ดเสร็จ โดยระดับความใกล้ชิดในยูเออีดีขึ้นจาก 71% เป็น 80%, สหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้นจาก 70% เป็น 79% และสเปนเพิ่มขึ้นจาก 81% เป็น 91%

ดร.ดอว์น ซู ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจด้านสุขภาพของซิกน่า อินเตอร์เนชันแนล มาร์เกตส์ เสริมว่า “คะแนนด้านภาวะความเหงาที่ลดลงนั้นเป็นเรื่องคาดไม่ถึงแต่ก็แสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์ด้านบวกจากเทคโนโลยีดิจิทัล นอกจากนี้ เรายังพบอีกว่า ทัศนคติต่อการทำงานกำลังเปลี่ยนแปลงไป โดยผู้คนรู้สึกว่า การทำงานจากที่บ้านให้ผลด้านบวกหลายข้อ โดยเฉพาะในแง่ของการทำให้ความรับผิดชอบต่อครอบครัวและต่องานมีความสมดุล แม้จะมีชั่วโมงทำงานที่ยาวนานขึ้นก็ตาม”

ความต้องการในเรื่องของบริการด้านสุขภาพเสมือนจริงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยผู้ตอบแบบสำรวจถึง60%ระบุว่า พวกเขาสนใจใช้บริการดังกล่าวซึ่งเพิ่มขึ้นเป็น 73% ในยูเออี, 72% ในจีน และ 67% ในไทย สำหรับการใช้บริการสุขภาพเสมือนจริงที่เป็นที่นิยมมากที่สุดก็คือ การดำเนินการนัดหมายเพื่อพบแพทย์ โดยผู้ตอบแบบสำรวจ 52% ระบุว่า พวกเขาจะใช้อี-เฮลธ์ในการทำการนัดหมายในอนาคต โดยเพิ่มขึ้นเป็น 65% ในสเปน และอีก 39% ระบุว่า พวกเขาจะเลือกใช้บริการสุขภาพเสมือนจริงเพื่อการดูแลสุขภาพจิตในอนาคต ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็น 53% ในไทย และ 51% ในจีน