'ส.ว.ทหาร' ในการเมือง จุดอ่อนนายกฯ

 'ส.ว.ทหาร' ในการเมือง จุดอ่อนนายกฯ

“ผบ.เหล่าทัพ” น่าจะตกอยู่ในสถานการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออก จะลาออกจากสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)ก็ทำไม่ได้ เพราะถูกล็อกไว้ด้วยรัฐธรรมนูญปี 2560 ครั้นจะเข้าร่วมประชุมทุกวัน ก็ติดทั้ง “งานราษฎร์-งานหลวง-ภารกิจพิเศษ” แน่นเอี๊ยด

สุดท้าย ก็ต้องใช้วิธีเขียนใบลา จนมีชื่อติดโผในลำดับต้นๆ ของกลุ่ม ส.ว.ที่ ขาดลงมติมากที่สุด

ปัญหานี้ เคยเป็นที่โจษจันมาแล้วในยุค คสช. เมื่อ “ทหาร”ในราชการจำนวนหนึ่ง เข้าไปนั่งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และ ผบ.เหล่าทัพอีกเช่นกัน ที่มีชื่อเป็นสมาชิกที่ลงมติไม่ถึง 1 ใน 3 แต่มีการลาประชุมถูกต้องตามหลักเกณฑ์ จึงไม่ขาดสมาชิกภาพ

หรือเมื่อ 28 ปีที่แล้ว หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)ชนะเลือกตั้ง ‘ชวน หลีกภัย’ ประธานรัฐสภา นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีสมัยแรก 

ยุค รัฐบาลชวน 1’ แม้รัฐธรรมนูญขณะนั้นจะไม่ได้เจาะจง หรือกำหนดตำแหน่งผบ.เหล่าทัพ ต้องเป็น ส.ว.เหมือนรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 แต่ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้ง ล้วนเป็นข้าราชการประจำ ทหาร-ตำรวจจำนวนมาก รวมถึง ผบ.เหล่าทัพ และ ผบ.ตร. 

เช่น บิ๊กอู๊ดพล.อ.อ.วรนาถ อภิจารี ที่ควบทั้งตำแหน่ง ผู้บัญชาการทหารสูงสุด(ผบ.ทสส.) และผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) พล.อ.วิมล วงศ์วานิช ผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.)พล.ร.อ.วิเชษฐ การุณยวนิช ผู้บัญชาการทหารเรือ(ผบ.ทร.) และ พล.ต.อ.สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ หรือ ตำแหน่ง ผบ.ตร.สมัยปัจจุบัน

ปัญหาที่พบในสมัยนั้น ไม่ต่างกับปัจจุบันนี้ เพราะการทำหน้าที่ของผบ.เหล่าทัพ ภายใต้หมวกหลายใบ ทำให้มีข้อจำกัดมากมาย ทั้งทำงานยาก ไม่คล่องตัว จนเกิดปัญหา ‘สับราง’ เวลาไม่ทัน และเกิดข้อครหา เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน รับเงินเดือนสองทาง

 ‘ประธานชวนเคยสะท้อนหลักการที่ยึดถือ คือ ประชาธิปไตย ความโปร่งใส-สุจริต และ หลักประหยัด เป็นแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ดังนั้นในอนาคตจึงไม่ควรบรรจุตำแหน่งผบ.เหล่าทัพ เป็น ส.ว.แต่ควรใช้ระบบอื่นคัดเลือกเข้ามา

ขณะที่งานของ ผบ.เหล่าทัพเองก็ล้นมือ การบริหารจัดการภายใต้หมวกแต่ละใบที่สวมอยู่ ก็ทำได้ไม่ครอบคลุม เช่น “บิ๊กกบ” พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผบ.ทสส. นั่งเป็น หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) ของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 (ศบค.) 

หรือ “บิ๊กแดง” พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ในฐานะผู้บัญชาการหน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ (ผบ.ฉก.ทม.รอ. 904)

แม้ ผบ.เหล่าทัพจะพร้อมใจกัน ไม่รับและ คืนเงินเดือนส.ว.ทั้งหมด ไปจนกว่าจะเกษียณอายุราชการ เพื่อเป็นบรรทัดฐานให้ ผบ.เหล่าทัพรุ่นต่อไปยึดถือปฏิบัติ แต่ก็ไม่สามารถลดทอนแรงกดดันจากฝ่ายการเมืองได้

และเชื่อกันว่า ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะครองเก้าอี้นายกรัฐมนตรี นับจากนี้ไปอีก 5 ปี เท่ากับวาระ ส.ว.ที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญคราวละ 5 ปี

นั่นหมายความว่า ปัญหาตำแหน่งที่ล้นพ้นเวลาทำงาน จนสับรางไม่ทันของ ผบ.เหล่าทัพ รุ่นต่อรุ่น จะเป็น จุดอ่อนที่ดิสเครดิตทางการเมือง พล.อ.ประยุทธ์ ไม่จบไม่สิ้น