จีนคลายคุมเข้มเดินทาง ธุรกิจเกาหลีใต้-เยอรมนี

จีนคลายคุมเข้มเดินทาง ธุรกิจเกาหลีใต้-เยอรมนี

จีนเริ่มผ่อนคลายการเดินทางเพื่อธุรกิจจากเกาหลีใต้และเยอรมนี ขณะที่บรรดาบริษัทสัญชาติจีนพยายามฟื้นฟูระบบซัพพลายเชน กระตุ้นยอดขายและเพิ่มความสามารถด้านการผลิต และความสามารถด้านการแข่งขัน

ธุรกิจทั่วโลกกำลังดิ้นรนเพื่อหวนกลับมาดำเนินธุรกิจได้อีกครั้งหลังจากธุรกิจและกิจกรรมทางเศรษฐกิจชะงักงันเพราะมาตรการล็อกดาวน์ที่กินเวลานานหลายเดือน โดยผู้บริหารระดับสูงของบริษัทด้านอากาศยานสัญชาติเยอรมนี2คนเดินทางถึงจีนเมื่อ2-3วันก่อนยิ่งเพิ่มแรงกดดันให้บริษัทคู่แข่งต่างชาติรายอื่นๆหวนกลับมาเดินทางเพื่อทำธุรกิจอีกครั้ง โดยกลุ่มธุรกิจสัญชาติอเมริกันและเหล่าผู้บริหารระดับสูงของบริษัทญี่ปุ่น ต่างกล่าวตรงกันว่าต้องการให้ธุรกิจกลับมาดำเนินการเหมือนปกติอีกครั้ง

ทั้งนี้ รัฐบาลปักกิ่ง อนุญาตให้ผู้จัดการชาวเยอรมนีและครอบครัวประมาณ 500 คนกลับเข้าจีนด้วยเที่ยวบินเช่าเหมาลำ2 ลำของสายการบินลุฟต์ฮันซาในสัปดาห์นี้ โดยเที่ยวบินแรกเดินทางออกจากแฟรงก์เฟิร์ตไปยังเทียนจินในวันเสาร์ (30พ.ค.) ส่วนเที่ยวบินที่2 จากแฟรงก์เฟิร์ตถึงเซี่ยงไฮ้ในวันพุธ

เที่ยวบินต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากมีการเดินทางเพื่อธุรกิจระหว่างเกาหลีใต้และจีนในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่าจีนต้องการหวนกลับมาเปิดเศรษฐกิจอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง และพยายามผลักดันบริษัทจีนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจโลก หลังจากทำโครงการ “ฟาสต์-แทร็ก” กับเกาหลีใต้ จีนก็ดำเนินการลักษณะคล้ายๆกันเพื่อให้บริษัทต่างๆหวนกลับมาเดินทางเพื่อทำธุรกิจในสิงคโปร์และคาดว่าจะมีการประกาศข้อตกลงนี้เร็วที่สุดภายในสัปดาห์นี้ 

เศรษฐกิจส่วนใหญ่ของโลกยังคงบอบช้ำจากกฎระเบียบต่างๆด้านสุขภาพ  ขณะที่บริษัทต่างๆพยายามที่จะสร้างซัพพลายเชนขึ้นมาใหม่ นอกเหนือจากการพึ่งพาผู้ผลิตจากจีน กระตุ้นยอดขายและเพิ่มขีดความสามารถด้านการผลิตของโรงงาน โดยบริษัทสัญชาติเยอรมนี โดยเฉพาะค่ายรถชั้นนำยังคงเดินสายการผลิตที่โรงงานผลิตรถยนต์ในจีนตลอดช่วงที่มีระบาดของโรคโควิด-19  เนื่องจากความต้องการรถเยอรมันในจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ส่วนบริษัทสัญชาติอเมริกันประสบปัญหายอดขายไม่กระเตื้องเพราะความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและจีนที่ตึงเครียดที่สุดในรอบหลายทศวรรษ และการห้ามเดินทางไปยังประเทศฝ่ายตรงข้ามของรัฐบาลจีนและสหรัฐ

“สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาอย่างมากสำหรับบริษัทต่างๆ ผู้บริหารธุรกิจจำนวนมากมีปัญหาที่แท้จริงในการเดินทางกลับประเทศ”  เจค พาร์คเกอร์ รองประธานอาวุโสสภาธุรกิจสหรัฐ-จีน ซึ่งสมาชิกในสภาประกอบด้วยบริษัทอเมริกันที่เข้ามาทำธุรกิจในจีน กล่าว

“ในกรณีของกลุ่มบริษัทสหรัฐในจีนที่ประสบปัญหาล่าช้าในการหวนกลับมาดำเนินธุรกิจอีกครั้ง เกิดจากปัญหาการเมืองระหว่างสหรัฐและจีน ประกอบกับปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ในสหรัฐยังไม่สามารถควบคุมได้ ส่วนจีนและประเทศอื่นๆ สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้แล้วจึงเป็นเหตุผลให้สหรัฐลังเลที่จะเปิดประเทศเต็ม100% และเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่ระบาดระลอก2” สก็อตต์ เคนเนดี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนจากศูนย์กลยุทธ์และศึกษาระหว่างประเทศในวอชิงตัน  ให้ความเห็น

หอการค้าอเมริกันในจีนพยายามล็อบบี้บริษัทจีนและเจ้าหน้าที่สหรัฐเพื่อให้บริษัทสมาชิกกลับมา ในการสำรวจความเห็นสมาชิกจำนวนกว่า 1,000 แห่งเมื่อสองสัปดาห์ก่อน บ่งชี้ว่าผู้บริหารธุรกิจกว่า 750 คน และบริษัทต่างๆ80 แห่งระบุว่าพวกเขารอดูสถานการณ์อยู่นอกจีน

“เราได้มีการหารือกันอย่างใกล้ชิดกับบรรดาหน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่นและหน่วยงานรัฐบาลกลางของจีน รวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐ เพื่อให้บริษัทสัญชาติอเมริกันได้กลับมาทำธุรกิจในจีนได้อีกครั้ง”อลัน บีบี  ประธานแอมแชม กล่าวและว่า มีสัญญาณจากรัฐบาลปักกิ่งเมื่อไม่นานมานี้บ่งชี้ว่าสหรัฐและจีนอาจจะตกลงกันได้ และภาคธุรกิจอเมริกันอาจจะกลับมาดำเนินธุรกิจในจีนได้เหมือนเดิมอีกครั้ง

“สัญญาณหนึ่งที่บ่งชี้ชัดเจนว่า ปักกิ่งพร้อมเริ่มเปิดเศรษฐกิจคือการที่กระทรวงต่างประเทศของจีนใช้มาตรการฟาสต์-แทร็กและเพิ่มความสะดวกสบายในการออกวีซ่าให้แก่ผู้โดยสารทุกคนที่มากับเที่ยวบินของเยอรมนี”เจนส์ ฮิลเดแบรนด์ หัวหน้าผู้แทนสภาหอการค้าเยอรมนีในปักกิ่ง กล่าว

ฮิลเดแบรนด์ กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะช่วยให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนและเยอรมนี กลับมาอยู่ในที่ในทาง และหวังว่าสิ่งนี้จะทำหน้าที่เป็นเหมือนพิมพ์เขียวเพื่อนำนักลงทุนต่างชาติกลับมาลงทุนในจีนมากขึ้น

เมื่อปลายเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา จีนปิดพรมแดนไม่รับชาวต่างชาติ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อบรรดาผู้บริหารธุรกิจทั้งที่อยู่ในจีนอยู่แล้วและผู้บริหารธุรกิจที่ต้องพึ่งพาวีซ่าธุรกิจ การหวนกลับมาเดินทางเพื่อธุรกิจในจีนได้อีกครั้งจึงทำให้ผู้บริหารธุรกิจบางประเทศเกิดอาการตระหนก  โดยนักธุรกิจจากญี่ปุ่น คู่แข่งหลักของเยอรมนีและเกาหลีใต้ ต้องถูกกักตัวเป็นเวลานาน 2สัปดาห์เมื่อเดินทางกลับประเทศ โดยญี่ปุ่นห้าม11ประเทศเข้าประเทศ ในจำนวนนี้ เกือบครึ่งเป็นบริษัทที่เป็นหุ้นส่วนสำคัญกับจีน และคาดว่าคำสั่งห้ามนี้จะมีไปจนถึงสิ้นเดือนมิ.ย.

“ตอนนี้เราอยู่ครึ่งทางของการเป็นประเทศที่โดดเดี่ยวตัวเอง และแน่นอนว่า ข้อห้ามเดินทางเพื่อธุรกิจส่งผลลบต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในทุกมิติ ”ฮิโรอากิ นากานิชิ ประธานกลุ่มไคดันเรน กลุ่มธุรกิจชั้นนำของญี่ปุ่นซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานบริหารบริษัทฮิตาชิ จำกัด ด้วย  กล่าว

เมื่อวันจันทร์ (25พ.ค.)นายกรัฐมนตรีชินโซ อะเบะของญี่ปุ่น บอกว่า กำลังศึกษาผ่อนคลายมาตรการต่างๆอย่างค่อยเป็นค่อยไป และรัฐบาลญี่ปุ่นมีแผนที่จะผ่อนคลายแก่ภาคธุรกิจก่อนนักเรียน นักศึกษาและนักท่องเที่ยว แต่ก็ยังเห็นว่า เป็นการเร็วเกินไปที่จะทำการเปลี่ยนแปลงใดๆ