'ล่ารายชื่อ' วิธีรับมือ 'Cyberbully' ของญี่ปุ่น

'ล่ารายชื่อ' วิธีรับมือ 'Cyberbully' ของญี่ปุ่น

นักมวยปล้ำสาวชาวญี่ปุ่นถูกล้อเลียนกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์จนต้องจบชีวิตตนเอง ก่อให้เกิดความโศกเศร้าไปทั่วประเทศ ตามด้วยเสียงเรียกร้องให้มีมาตรการรับมือการกลั่นแกล้งกันบนโลกออนไลน์ (Cyberbully) ที่เข้มงวดยิ่งขึ้น

การฆ่าตัวตายของฮานะ คิมูระ นักมวยปล้ำสาววัย 22 ปี หนึี่งในผู้ร่วมรายการ “เทอร์เรส เฮาส์” เรียลิตีโชว์ทางเน็ตฟลิกซ์ กลายเป็นข่าวดังและสร้างแรงสะเทือนทั้งในญี่ปุ่นและนานาชาติ แฟนคลับเรียกร้องผ่านโซเชียลมีเดียให้รีบแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนพร้อมติดแฮชแท็ก เช่น #knifeofwords (คมคำพูด) และ #slander (การกล่าวร้าย)

เรื่องของเรื่องเริ่มต้นจาก คิมูระ นักมวยปล้ำผมสีชมพู ต้องอยู่ร่วมบ้านกับคนหนุ่มสาวอีก 6 คน ในเรียลิตีโชว์ดังกล่าว แต่มีแฟนรายการแสดงความเห็นประณามหยามเหยียดบนโลกออนไลน์ ถึงขนาดที่ว่า “ทุกคนจะมีความสุขถ้าคุณไปซะได้”

การฆ่าตัวตายของคนดังเพราะถูกไซเบอร์บุลลี (Cyberbully) เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของโลก ปีที่แล้วนักร้องสาวชาวเกาหลีใต้ 2 คน ฆ่าตัวตายเพราะเหตุนี้ เดือน ก.พ. ที่ผ่านมาแคโรไลน์ แฟล็ค พิธีการรายการเรียลิตีโชว์ “เลิฟ ไอส์แลนด์” ของอังกฤษก็ต้องจบชีวิตตนเองเพาะถูกกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ด้วยเช่นกัน จึีงเกิดเสียงเรียกร้องให้ลงโทษผู้แสดงความเห็นล่วงละเมิดบนโลกออนไลน์ให้รุนแรงยิ่งขึ้น

ซานาเอะ ทาคาอิชิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสื่อสารญี่ปุ่น ประณามไซเบอร์บุลลี ว่า “เป็นการกระทำที่อภัยให้ไม่ได้” และว่าคณะผู้เชี่ยวชาญกำลังทบทวนระบบที่ใช้อยู่ เพื่อหาตัวบุคคลที่แสดงความเห็นหมิ่นประมาทบุคคลอื่นทางออนไลน์

ไม่เพียงแต่นักการเมืองรับลูกเท่านั้น ได ทาเมสุ อดีตนักกรีฑาลู่-ลานโอลิมปิคก็ร่วมวงด้วย เขาขอให้ประชาชนเข้าชื่อกันทางออนไลน์เรียกร้องให้ลงโทษแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียและผู้ให้บริการที่ไม่ร่วมมือแก้ปัญหาไซเบอร์บุลลี มีผู้เข้าชื่อสนับสนุนแล้วหลายหมื่นราย

อย่างไรก็ตาม โยเฮอิ ชิมิซุ ทนายความที่ทำคดีแบบนี้มาหลายคดี เผยว่า เหยื่อบางคนรู้สึกยุ่งยาก กระบวนการต้องใช้เวลาราว 10 เดือน และการพิสูจน์ว่าการแสดงความเห็นของชาวเน็ตเป็นภัยคุกคามต่อชีวิตก็ทำได้ยาก

ยูอิจิ นากาซาวะ ทนายความอีกคนหนึ่งกล่าวว่า ธรรมชาติของโซเชียลมีเดียนั้น ยากจะหลีกหนีการถูกข่มเหง

“เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่อ่านความเห็นร้ายๆ โดยเฉพาะถ้าคุณเป็นคนมีชื่อเสียงและมีบัญชีทางการ”

ในฝรั่งเศส เดือนนี้ ส.ส.เห็นชอบร่างกฎหมายห้ามแสดงความเห็นก่อให้เกิดความเกลียดชังบนโซเชียลมีเดีย แต่ร่างกฎหมายนี้ก็เป็นที่ถกเถียงกันมาก นักวิจารณ์มองว่า นี่คือการเซ็นเซอร์ ขณะที่ในญี่ปุ่นการปฏิรูปกฎหมายต่อต้านไซเบอร์บุลลีทำได้ช้ามาก