สทท.ชี้ธุรกิจท่องเที่ยวรายเล็กส่อติดบ่วงหนี้นอกระบบ

สทท.ชี้ธุรกิจท่องเที่ยวรายเล็กส่อติดบ่วงหนี้นอกระบบ

“สทท.” หวั่นธุรกิจท่องเที่ยวรายเล็กติดบ่วงหนี้นอกระบบ กู้หมุนสภาพคล่อง ระหว่างลุ้นผลซอฟท์โลนหมื่นล้านออมสิน ชี้แม้รัฐคลายล็อกท่องเที่ยวในประเทศ เดินทางข้ามจังหวัดได้ แต่ผู้ประกอบการไม่มีเงินสดเพียงพอเดินหน้าธุรกิจ

นายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวขนาดเล็กหลายรายประสบปัญหาไม่สามารถกู้ยืมเงินในระบบเพื่อนำมาเพิ่มสภาพคล่องแก่ธุรกิจได้ ทำให้หลายรายจำเป็นต้องหันไปกู้หนี้นอกระบบที่อัตราดอกเบี้ย 5-20%ต่อเดือนในช่วงที่ยังรอความช่วยเหลือมาตรการทางการเงินจากรัฐบาล หลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา

“ผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวขนาดเล็กหลายรายจำเป็นต้องกู้หนี้นอกระบบเอาเงินสดมาหมุนก่อน ระหว่างรอลุ้นผลยื่นกู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ตามนโยบายของรัฐบาล เช่น โครงการซอฟท์โลนสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19ของธนาคารออมสินวงเงิน10,000ล้านบาท เพื่อนำมาโปะคืนหนี้นอกระบบอีกที แต่กลับยังไม่ได้ตามต้องการ”

ส่วนเรื่องที่ สทท.ได้ขอให้เร่งผ่อนปรนหลักเกณฑ์ยื่นกู้ซอฟท์โลนจากโครงการดังกล่าว ล่าสุดยังไม่มีความคืบหน้า ทั้งที่มีการประชุมร่วมกันระหว่าง สทท. ธนาคารออมสิน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประนีประนอมหาทางออกร่วมกันมาหลายครั้งแล้ว จึงอยากขอร้องให้ภาคธนาคารช่วยปรับแนวคิดใหม่ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ เพราะนี่ไม่ใช่เหตุการณ์ปกติ แต่เป็นเหตุการณ์ที่ไม่สามารถทำมาหากินได้ ไม่เช่นนั้นจะกระทบต่อแรงงานในภาคท่องเที่ยวซึ่งมีกว่า 4 ล้านคน

“แม้รัฐบาลจะคลายล็อกท่องเที่ยวในประเทศ อนุญาตให้มีการเดินทางข้ามจังหวัดได้ แต่ปัญหาของผู้ประกอบการตอนนี้คือไม่มีเงินสดเพียงพอสำหรับการมาเปิดกิจการต่อ”

นายชัยรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากทางสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มีแนวคิดสนับสนุนผู้ประกอบการท่องเที่ยวด้วยการแจกคูปองท่องเที่ยว สทท.มองว่าอยากให้กลุ่มธุรกิจอื่นๆ ในภาคท่องเที่ยว เช่น บริษัททัวร์ ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก รถนำเที่ยว แหล่งท่องเที่ยว และอื่นๆ ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มโรงแรม ได้รับประโยชน์จากการสนับสนุนครั้งนี้อย่างครอบคลุม

ก่อนหน้านี้นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. กล่าวว่า หลังจากได้รับโจทย์จากกระทรวงการคลังให้จัดทำแพ็คเกจกระตุ้นท่องเที่ยวในประเทศ เป้าหมายคือให้เงินเข้าถึงผู้ประกอบการท่องเที่ยว ผ่านการสร้างกิจกรรมท่องเที่ยว จึงอยู่ระหว่างคิดแพ็คเกจว่าจะเป็นการแจกคูปองหรือใส่เงินเข้าในระบบด้วยรูปแบบใด แต่สิ่งสำคัญคือจะสนับสนุนธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้มาตรฐานตามแนวปฏิบัติที่ดีในการจัดการความปลอดภัยและสุขอนามัย (Safety & Health Administration :SHA)โดยเตรียมนำหารือกับคลังอีกครั้งในสัปดาห์หน้า เพื่อนำเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ ก่อนเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ ให้สามารถดำเนินการในช่วง 4 เดือน ตั้งแต่ ก.ค.-ต.ค.2563