'เฉลิมชัย' แจง 'มาตรการเยียวยาเกษตรกร' ในสภาฯ

'เฉลิมชัย' แจง 'มาตรการเยียวยาเกษตรกร' ในสภาฯ

"เฉลิมชัย" แจง "มาตรการเยียวยาเกษตรกร" ในสภาฯ ชวนลงพื้นที่สอบถามความพึงพอใจ

วานนี้ 29 พ.ค.63 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขึ้นชี้แจงในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 2 ครั้งที่ 1 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 เป็นพิเศษ วาระเรื่องด่วน เพื่อพิจารณา พ.ร.ก. กู้เงิน 3 ฉบับ สำหรับผลกระทบอันเกิดจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยเฉพาะเรื่องขั้นตอน และวิธีการเยียวยาในส่วนของเกษตรกรที่กระทรวงเกษตรฯ ได้เริ่มดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ยังเปิดโอกาสให้พี่น้องเกษตรได้มาทบทวนสิทธิ์ พร้อมกับการยื่นจดทะเบียนใหม่ในระหว่างวันที่ 1 – 15 พ.ค. โดยไม่เว้นวันหยุดราชการ โดยมีเป้าหมายว่าต้องให้เงินเยียวยาดังกล่าวถึงมือพี่น้องเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนให้มากที่สุด 

“แม้จะได้พยายามทุกทางเพื่อให้เงินเยียวยาถึงมือเกษตรกรแล้ว แต่ก็ต้องยอมรับความจริงว่าในโลกนี้ไม่มีอะไรร้อยเปอร์เซ็นต์ทุกเรื่อง เพราะฉะนั้นจึงมีการเปิดให้มีการอุทธรณ์ในภาคการเกษตร ซึ่งได้ประชาสัมพันธ์ในทุกภาคส่วน โดยเปิดให้อุทธรณ์ถึงวันที่ 5 มิ.ย. 2563 และหลังจากนี้ทางกระทรวงการคลังจะมีมาตรการในการเก็บตกอีกส่วนหนึ่งด้วย ดังนั้นการเยียวยาในภาคนี้ผมมั่นใจว่าไปได้อย่างทั่วถึง และจากเสียงตอบรับที่ผ่านมา เกษตรกรก็มีความพึงพอใจ แม้กระทั่งแรงงานประมง ก็มีการเปิดให้ขึ้นทะเบียนในรอบที่ 2 อีกด้วย” รมต.เกษตร กล่าว

นายเฉลิมชัย กล่าวว่า ในส่วนของการเยียวยาเกษตรกรที่ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาตินั้น มีเงื่อนไขคนละกรณีกับการเยียวยาจากโควิด-19 เนื่องจากเกษตรกรที่ประสบภัยพิบัติ รัฐจะเยียวยาทุกกรณี ขณะที่กรณีการเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 นั้น ข้าราชการบำนาญซึ่งได้รับการดูแลจากภาครัฐอยู่แล้ว จึงไม่ได้รับสิทธิ์นี้  แต่ไม่ใช่ว่ารัฐบาลเยียวยาแล้วจะจบสิ้น เพราะยังมีงบประมาณปกติดำเนินการอยู่ด้วย โดยเฉพาะการเยียวยาเกษตรกรหรือชดเชยความเสียหายที่เกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติก่อนหน้านี้ อาทิ ภัยแล้ง อุทกภัย รัฐบาลก็ได้จัดงบประมาณสำหรับดูแลไว้เช่นกัน อีกทั้งยังมีมาตรการเสริมต่างๆ อาทิ การปล่อยกุ้งก้ามกรามเพื่อสร้างอาหาร ลดภาระค่าใช้จ่ายให้ครอบครัว สร้างรายได้เสริมให้ชุมชน โดยการดำเนินการในส่วนนี้ได้มีการทำประชาคม สำรวจแหล่งน้ำสาธารณะ 

“ที่ผ่านมาทราบว่ามีการปล่อยกุ้งขนาด 3-4 ซม. ท่านที่เลี้ยงกุ้งจะทราบว่าเปอร์เซนต์รอดมันน้อย ผมจึงขอให้เพิ่มเป็นขนาด 5-7 ซม. เพื่อเพิ่มอัตรารอดของกุ้งให้มากขึ้น และมีการตรวจสอบหลังจากปล่อยแล้ว 15 วัน ขรก. กรมประมงต้องไปตรวจสอบว่ามีอัตราการเจริญเติบโตอย่างไรบ้าง เราได้ปล่อยกุ้งให้ชุมชนต่างๆ หากท่านได้เห็นท่านจะรู้ว่าเกษตรกรมีความสุขครับ เขาจัดเวรยามมาลาดตระเวณ มีการชี้แจงทำประชาคมให้พี่น้องในชุมชนได้ทราบว่านี่เป็นสิ่งที่เป็นของทุกคน”

“วันที่ผมมารับตำแหน่งตรงนี้ ผมก็ตั้งปฏิญาณไว้ตั้งแต่วันที่ก้าวเข้าไปรับตำแหน่งว่า ผมมีหน้าที่เข้าไปดูแลพี่น้องเกษตรกรของเราให้ดีที่สุด ตอบสนองความต้องการของพี่น้องเกษตรกรให้มากที่สุด” 

นายเฉลิมชัย ยังได้กล่าวถึงมาตรการคู่ขนานไปกับการเยียวยาเกษตรกรอีกมาตรการคือ การมอบเป็ดไข่ ไก่ไข่ สำหรับให้เกษตรกรเลี้ยงเพื่อบริโภคในครัวเรือน รวมถึงเป็นการสร้างรายได้เพิ่มอีกช่องทางว่า ไม่ใช่นำไก่ ลูกเจี๊ยบตัวเล็กๆ ไปให้เลี้ยง ไม่ใช่เอาไก่ใส่สุ่มใส่ลังไปปล่อยตามยถากรรม แต่มอบไก่ที่มีขนาดที่เมื่อเลี้ยงได้ 1 สัปดาห์ สามารถออกไข่ได้เลย ครัวเรือนละ 10 ตัว พร้อมให้อุปกรณ์การเลี้ยง Starter Kit เช่น ตาข่าย อุปกรณ์ให้อาหารและน้ำ เกษตรกรเพียงหาที่เลี้ยงเป็ด หรือไก่ ดังกล่าวเท่านั้น

“ผมได้สั่งให้ในส่วนราชการที่เกี่ยวข้องต้องรายงานผลกลับมา เพื่อจะนำมารายงานให้ทุกท่านทราบว่างบประมาณที่ดำเนินการนั้นประสบความสำเร็จเท่าไหร่ มีความพึงพอใจของพี่น้องประชาชนแค่ไหน ผมว่า ส.ส. ทุกท่าน ลองไปเช็คถาม หรือจะช่วยเป็นกระบอกเสียงสะท้อนให้อีกเสียงก็ยินดี เพราะการดำเนินการตรงนี้เราตั้งใจจะให้ดีที่สุด เพราะมีเจตนาดูแลพี่น้องเกษตรกร ทั้งในส่วนของพืชพันธุ์ ความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกร”