อปท. 30 จังหวัด จัดซื้อส่อทุจริต - ประสาน สธ. แจ้งความแก๊งหักหัวคิวโรงแรมกักตัว

อปท. 30 จังหวัด จัดซื้อส่อทุจริต - ประสาน สธ. แจ้งความแก๊งหักหัวคิวโรงแรมกักตัว

ป.ป.ท. พบ 16 พฤติการณ์ส่อทุจริต จัดซื้อจัดจ้างอุปกรณ์ป้องกันโควิด-19 ใน "52 อปท." พื้นที่ 30 จังหวัด ส่วนกรณีขบวนการเรียกเก็บหัวคิวโรงแรมกักตัว รอง ผบ.ตร. สั่งประสาน สธ. แจ้งความเอาผิด

พ.ต.ท.วันนพ สมจินตนากุล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.) เปิดเผยวานนี้ (29พ.ค.)ว่า สำนักงาน ป.ป.ท. ในฐานะฝ่ายเลขานุการศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ดำเนินการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กรณีการจัดซื้อจัดจ้างอุปกรณ์ป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่มีลักษณะที่ไม่โปร่งใส หรืออาจส่อไปในทางทุจริต อันจะเกิดผลเสียหายต่อทางราชการ เพื่อใช้เป็นฐานในการตรวจสอบเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ

รวมถึงเพื่อเป็นข้อเสนอแนะและแนวทางให้หน่วยงานต่างๆ ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างอย่างถูกต้องตามระเบียบของ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 จึงได้แต่งตั้งชุดปฏิบัติการ จำนวน 15 ชุด ออกตรวจสอบข้อเท็จจริงทั่วประเทศ และได้บูรณาการร่วมกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบในกรณีดังกล่าว

ขณะนี้ชุดปฏิบัติการฯ ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่มีผู้แจ้งเบาะแส รวม 52 อปท. รวม 30 จังหวัด พบพฤติการณ์ความผิดปกติในการจัดซื้อจัดจ้างเพิ่มเติม รวมเป็น 19 แห่ง ซึ่งได้ส่งสำนักงาน ป.ป.ช. ไปแล้ว จำนวน 3 แห่ง และยกเลิกการจัดซื้อจำนวน 5 แห่ง โดยพบข้อสังเกตในความผิดปกติ จำนวน 16 รูปแบบ ดังนี้

1. ราคาจัดซื้อสูงเกินจริง เมื่อเทียบกับราคาหรือคุณสมบัติของพัสดุในสถานการณ์ขณะนั้น 2. ไม่ปรากฏหลักฐานการสืบราคาให้ตรวจสอบ 3.ร้านคู่เทียบยืนยันว่า ไม่ได้เป็นผู้เสนอราคาตามเอกสารจัดซื้อจัดจ้าง 4. นำพัสดุชิ้นใหม่มาสับเปลี่ยนกับที่ได้ตรวจรับไปแล้ว 5. ยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างในราคาที่ผ่านการต่อรองแล้ว และไปจัดซื้อใหม่ในราคาที่สูงกว่าเดิม

6. ผู้รับจ้างและคู่เทียบไม่ใช่ผู้ประกอบการที่มีอาชีพขายหรือรับจ้างโดยตรง 7. จัดซื้อกับผู้ประกอบการต่างท้องที่ ทั้ง ๆ ที่ราคาสูงกว่าผู้ประกอบการในท้องที่ 8. จัดซื้อเกินวงเงินที่มีอำนาจอนุมัติ 9.จัดซื้อในปริมาณที่มากเกินความจำเป็น 10. มีชื่อร้านคู่เทียบเพื่อสืบราคา แต่ไม่มีราคาในการนำเสนอ

11. คู่สัญญาและร้านคู่เทียบ มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน 12. เจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้จัดหาสินค้าเอง โดยจ่ายเงินให้กับบริษัท/ร้านค้า เพื่อขอนำชื่อบริษัท/ร้านค้านั้นมาเป็นคู่สัญญาแทนตน 13. คณะกรรมการตรวจรับ ไม่ได้ทำการตรวจรับจริง แต่มีเจ้าหน้าที่นำเอกสารการตรวจรับมาให้ลงลายมือชื่อ

14. มีการซื้อขายกับรัฐวิสาหกิจบางแห่งที่ทำหน้าที่เป็นคนกลางจัดหาสินค้า ทั้งที่หน่วยงานดังกล่าวไม่มีวัตถุประสงค์ในการขายสินค้าประเภทที่มีการจัดซื้อ เพื่อหลีกเลี่ยงการสืบราคา
15. ผู้บริหารท้องถิ่น มีการจ่ายเงินค่าซื้อพัสดุอุปกรณ์ป้องกันโควิด โดยสั่งจ่ายเป็นเช็คเข้าบัญชีตนเอง และ 16. อปท. จำนวน 5 แห่ง ทำการยกเลิกการจัดซื้อเมื่อถูกหน่วยงานของรัฐตรวจสอบ

ส่วนกรณีมีกระบวนการแอบอ้างเรียกเก็บค่าหัวคิวผู้ประกอบการโรงแรม กรณีใช้เป็นสถานที่กักตัวคนไทยกลับจากต่างประเทศ วันเดียวกันนี้ (29พ.ค.) พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(รองผบ.ตร.)เปิดเผยว่า จากการสืบสวนสอบสวนของกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 พบมีการกระทำความผิดเกิดขึ้นจริง และกำลังประสานกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการที่ได้รับความเสียหายจากการถูกบุคคลกล่าวอ้างว่า สามารถใช้วิธีการใด ๆ ว่าทำให้โรงแรมได้รับสิทธิ์ในการกักตัว ข้อหาหมิ่นประมาท

ส่วนผู้กล่าวอ้างจะมีความสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่รัฐหรือเป็นเพียงการกล่าวอ้างนั้น ยังต้องรอการสืบสวนจากตำรวจภูธรภาค 2 พร้อมยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่พบเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดแต่อย่างใด

ในส่วนของข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เชื่อว่ามีการรายงานให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีรับทราบแล้ว ยืนยันว่าตำรวจดำเนินการไปตามพยานหลักฐาน และในการสืบสวนไม่กังวลเรื่องตัวบุคคล โดยนายกฯ ให้นโยบายชัดเจนว่า ใครที่เกี่ยวข้องและกระทำผิดก็ต้องดำเนินคดีทั้งหมด ไม่ไว้หน้าใครทั้งนั้น แต่วันนี้ยังไม่พบว่ามีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง และขณะนี้ยังไม่พบผู้เสียหายจากการถูกหลอกลวง จนเสียเงิน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มี ส่วนจะมีการกระทำแบบขบวนการหรือไม่ ทั้งหมดยังต้องรอการสืบสวนขยายผลต่อไป