กรมพัฒนาที่ดินเล็งโอนงาน 'วิเคราะห์-ตรวจสอบ' ให้เอกชนดูแล

กรมพัฒนาที่ดินเล็งโอนงาน 'วิเคราะห์-ตรวจสอบ' ให้เอกชนดูแล

กรมพัฒนาที่ดิน เล็งโอนการวิเคราะห์-ตรวจสอบ”ดิน น้ำ พืช ปุ๋ย”ให้เอกชนกับมหาวิทยาลัย แต่ห้ามเก็บเงินกับเกษตรกรและงานวิจัย

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมพัฒนาที่ดิน (พด.) เตรียมการถ่ายโอนภารกิจด้านการวิเคราะห์ ตรวจสอบ และให้คำปรึกษาเกี่ยวกับดิน น้ำ พืช ปุ๋ย และอื่นๆ ให้แก่ภาคเอกชนหรือมหาวิทยาลัยต่างๆ ดำเนินการแทน โดยยกเว้นค่าใช้จ่ายให้เฉพาะเกษตรกรและงานวิจัยที่มาขอใช้บริการ เพื่อเป็นการขยายโอกาสให้เกษตรกรพัฒนาอาชีพและรายได้อย่างยั่งยืนต่อไป หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 26 พ.ค. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติพัฒนาที่ดิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ

ทั้งนี้ การแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติพัฒนาที่ดิน พ.ศ.2551 เนื่องจากบทบัญญัติเกี่ยวกับการอนุรักษ์ดินและน้ำ ไม่ครอบคลุมการพัฒนาและเก็บรักษาน้ำในดินและน้ำบนดิน รวมถึงองค์ประกอบของคณะกรรมการพัฒนาที่ดิน ไม่ครอบคลุมหน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องทรัพยากรน้ำ และปัญหาการถ่ายโอนการบริการวิเคราะห์ตรวจสอบตัวอย่างดิน น้ำ พืช ปุ๋ย หรือสิ่งปรับปรุงดิน ไปยังภาคเอกชนหรือมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งทำให้เกษตรกรต้องเสียค่าบริการ ก่อให้เกิดปัญหาในการบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่เกษตรกรรมและการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายการพัฒนาที่ดิน

 

 

สำหรับ ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มีสาระสำคัญ คือ 1.แก้ไขบทนิยาม “การอนุรักษ์ดินและน้ำ” ให้ครอบคลุมถึงการพัฒนาและเก็บรักษาน้ำในดินและน้ำบนดิน 2. แก้ไของค์ประกอบของคณะกรรมการพัฒนาที่ดินให้ครอบคลุมถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องทรัพยากรน้ำ โดยเพิ่มเติมให้อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล และเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นกรรมการ และแก้ไขให้คณะกรรมการพัฒนาที่ดินมีอำนาจหน้าที่ในการออกระเบียบเกี่ยวกับคำขอให้วิเคราะห์ตรวจสอบตัวอย่างดิน น้ำ พืชปุ๋ย หรือสิ่งปรับปรุงดิน คำขอให้ปรับปรุงดินหรือที่ดิน คำขอให้อนุรักษ์ดินและน้ำ คำขอให้บริการแผนที่ ข้อมูลทางแผนที่

3.เพิ่มหน้าที่กรมพัฒนาที่ดินในการทำสำมะโนที่ดิน การพัฒนาและเก็บรักษาน้ำในดินและน้ำบนดินเพื่อการเกษตร ตลอดจนการให้บริการ สาธิต ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการพัฒนาที่ดิน ให้สอดคล้องกับภารกิจของกรมพัฒนาที่ดิน 4.แก้ไขให้เกษตรกรสามารถยื่นคำขอใช้บริการวิเคราะห์ตรวจสอบตัวอย่างดิน น้ำ พืช ปุ๋ย หรือสิ่งปรับปรุงดิน ต่อหน่วยงานพัฒนาที่ดินในท้องที่ซึ่งที่ดินนั้นตั้งอยู่ ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยงานพัฒนาที่ดินครบทุกจังหวัดแล้ว จากเดิมในบางจังหวัดที่ไม่มีหน่วยงานพัฒนาที่ดิน จะต้องยื่นคำขอต่อเขตหรือที่ว่าการอำเภอ

5.แก้ไขให้เกษตรกร ผู้วิจัย และประชาชนที่ต้องการให้กรมพัฒนาที่ดิน ปรับปรุงที่ดิน อนุรักษ์ดินและน้ำ บริการแผนที่ ข้อมูลทางแผนที่ สามารถยื่นคำขอต่อหน่วยงานพัฒนาที่ดินในท้องที่ซึ่งที่ดินนั้นตั้งอยู่ โดยการเสียค่าใช้จ่ายเป็นไปตามกฎกระทรวง