'ศิริกัญญา' ชี้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจไม่ชัดเจน ชงใช้ 1 ล้านล้าน เยียวยาอย่างเดียว

'ศิริกัญญา' ชี้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจไม่ชัดเจน ชงใช้ 1 ล้านล้าน เยียวยาอย่างเดียว

"ศิริกัญญา" ชี้ แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจไม่ชัดเจน วัดผลไม่ได้ เสนอใช้ 1 ล้านล้าน เยียวยาอย่างเดียว หากแผนฟื้นฟูไม่ชัด ให้ไปคิดตอนพิจารณางบปกติ

นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล อภิปรายเปรียบเทียบผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ผ่านมา กับผลกระทบจากโควิด-19 ครั้งนี้ กระทบต่อรากหญ้าโดยตรง ตัวเลขคนจนจะเพิ่มขึ้นเป็น 18.9 ล้านคน คนว่างงานเพิ่มขึ้น 2-7 ล้านคน หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นเป็น 14 ล้านบาท หนี้เสียครัวเรือนร้อยละ 10 เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลกที่ประสบปัญหาเดียวกัน


ทั้งนี้ โลกหลังโควิด จะเกิดภาวะชาตินิยมทางเศรษฐกิจ ย้อนกลับไปฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศ เช่น ยุโรปงดส่งออกอุปกรณ์ทางการแพทย์ , เวียดนามและอินเดียห้ามส่งออกอาหาร , จีนดึงเม็ดเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานประเทศต่างๆ มาลงทุนฟื้นฟูประเทศตัวเอง และบทบาทรัฐบาลใหญ่ ขึ้นมีบทบาทเข้าไปอุ้มบริษัทต่างๆ ในประเทศ แต่ในวิกฤตก็ถือเป็นโอกาสในการพลิกฟื้นประเทศไทยได้ โดยเน้นจากเศรษฐกิจในประเทศ แต่หลังจากได้ฟังแผนเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา การพัฒนาการเกษตร กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก และการบริโภคในประเทศ ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่เคยพูดไว้ ไม่ต่างอะไรจากนโยบายปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้รัฐบาลเสียโอกาสพลิกฟื้นขึ้นมาได้


สำหรับแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 400,000 ล้านบาท ยังไม่เห็นความชัดเจน แม้จะเข้าใจว่าให้หน่วยงานต่างๆ ส่งแผนและโครงการเข้ามา แต่ก็ไม่มีเป้าหมายชัด เหมือนกับคิดไปทำไป ไม่ให้เกียรติเจ้าของประมาณซึ่งก็คือประชาชน และคิดว่าคงไม่สามารถทำให้บรรลุเป้าหมายได้ หากไม่มีเป้าหมายในขั้นแรก และจะเสียโอกาสฟื้นฟูให้ประเทศยืนกลับมาได้

นางสาวศิริกัญญา ยังเปรียบเทียบกับปี 2552 ที่รัฐบาลออกแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ 400,000 ล้านบาท ซึ่งจริงแล้วการเบิกจ่ายไม่ถึง มีกรอบนโยบายคล้ายกันทั้งภาคการเกษตร บริการสาธารณะ การท่องเที่ยว เศรษฐกิจสร้างสรรค์ แต่สิ่งที่ต่างกันคือ โครงการไทยเข้มแข็งมีการวางเป้าหมายชัดเจน ว่าตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจหรือ GDP ต้องเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 เพิ่มการจ้างงาน 1.5 ล้านคน เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 1.1 ล้านไร่ ถนนลาดยางไร้ฝุ่น 100 เปอร์เซ็นต์ ต้นทุนโลจิสติกส์ลดลงเหลือร้อยละ 16 ต่อ GDP แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือ GDP เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.5 การจ้างงานเพิ่มขึ้น 102,400 คน ซึ่งเป็นตัวอย่างว่าแม้จะมีเป้าหมายแต่ก็ยังพลาดเป้าได้ แต่แผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน ไม่มีแม้กระทั่งเป้าหมาย จึงไม่สามารถวัดได้ว่าโครงการประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว โครงการไทยนิยมยั่งยืน โครงการช็อปช่วยชาติ หรือโครงการชิมช้อปใช้ของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โครงการเหล่านี้ก็ยังไม่เห็นการประเมินผลที่ชัดเจนมาเผยแพร่ต่อสาธารณะ

การกำหนดวงเงินของ พ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับ 1.9 ล้านล้านบาท อาจไม่เพียงพอ โดยสิงคโปร์ คาดการณ์ว่า GDP จะติดลบร้อยละ 3.5 อัดเม็ดเงินใช้จ่ายทางการคลังไปแล้วสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ อินโดนีเซียแม้จะได้รับผลกระทบน้อยกว่าไทย ก็ยังใช้เม็ดเงินมากถึงร้อยละ 7 ต่อ GDP ส่วนประเทศไทยคิดเป็นร้อยละ 6 ของ GDP เท่านั้นเอง และขออย่ากังวลว่าหนี้สาธารณะชนเพดาน เพราะอีกไม่กี่ปีก็น่าจะขึ้นไปถึงร้อยละ 70 ของ GDP แต่สิ่งที่ควรพิจารณามากกว่า ต้องดูว่าประเทศไทยมีความสามารถจะใช้หนี้คืนได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม จะต้องแก้ปัญหาโดยการปรับโครงสร้างหนี้ก่อนจะเป็นหนี้เสีย เปิดให้มีการล้มละลายโดยสมัครใจสำหรับลูกหนี้รายย่อย โดยให้ครัวเรือนและ SME สามารถฟื้นฟูตัวเองได้ในระยะเวลา 1.5 ปี ใช้มาตรการทางภาษีเช่น คืน VAT ใช้มาตรการที่ไม่ใช่ตัวเงิน เช่นการแก้กฎหมายที่จำเป็น ทบทวนการเข้าร่วมข้อตกลงทางการค้าเช่น CPTPP โดยมีข้อเสนอให้ใช้งบประมาณ 1 ล้านล้านบาท สำหรับการเยียวยา ส่วนการฟื้นฟูฐานเศรษฐกิจ หากยังไม่มีความชัดเจนก็ให้พิจารณาในระบบงบประมาณปกติ หรือพิจารณาร่วมกับร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณ