"Hapybot" หุ่นยนต์ลดภาระแพทย์ รับมือโควิด-19

"Hapybot" หุ่นยนต์ลดภาระแพทย์ รับมือโควิด-19

ม.มหิดล ผนึกสวทช. และเน็ตเบย์ เปิดตัวหุ่นยนต์ทางการแพทย์ Hapybot 3 ตัวแรก ระบุนวัตกรรมจากคนไทย ต้นทุนต่ำกว่านำเข้าจากต่างประเทศ 50% พร้อมฟั่งก์ชันการใช้งาน ช่วยแบ่งเบา ลดภาระบุคลากรทางการแพทย์ รับมือในช่วงวิกฤตโควิด-19

ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้บุคลากรทางการแพทย์มีงานล้นมือ ถือเป็นทัพหน้าในการเผชิญกับการแก้ไขปัญหาระดับโลก ต้องปฏิบัติหน้าที่ควบคุมสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง หลายภาคส่วนต่างๆต้องหาทางรับมือกันอย่างหนัก การใช้ เทคโนโลยีทางด้านวิศวกรรมก็มีส่วนช่วยแบ่งเบาภาระบุคลากรทางการแพทย์ได้อย่างมาก "เทคโนโลยีหุ่นยนต์ด้านการแพทย์" จึงถูกนำมาใช้ในโรงพยาบาล ให้ทำงานร่วมกับมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

วันนี้ (29 พ.ค.) มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช)และบริษัท เน็ตเบย์ จำกัด (มหาชน) แถลงข่าวความสำคัญของเทคโนโลยีการใช้หุ่นยนต์ทางการแพทย์ และนโยบายของมหาวิทยาลัยมหิดล ในการสนับสนุนการใช้ Robot ในสถานการณ์ปัจจุบัน

"ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล" กล่าวว่ามหาวิทยาลัยมียุทธศาสตร์ที่จะช่วยขับเคลื่อนและร่วมพัฒนาประเทศ เมื่อเกิดปัญหาการแพร่กระจายของโควิด -19 หรือ Covid- 19 ไปทั่วประเทศและทั่วโลก มหาวิทยาลัยพร้อมที่จะนำองค์ความรู้ต่าง ๆ และจัดทีมบุคลากรทางการแพทย์ มาให้ความ ช่วยเหลือสนับสนุน รวมทั้งสร้างความร่วมมือกับทั้งภาครัฐและเอกชนในการต่อยอดผลงานวิจัยต่าง ๆ เพื่อช่วยบรรเทาปัญหา

"หุ่นยนต์ทางการแพทย์" ได้ถูกพัฒนาไปใช้ประโยชน์ด้านการแพทย์ในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น การผ่าตัด แบ่งเบาภาระการทำงานของทีมแพทย์-พยาบาลในการดูแล รักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อ ช่วยลดการสัมผัสผู้ป่วยติดเชื้อ สามารถใช้ในการติดตามคนไข้บนหอผู้ป่วย ใช้ในการดูแล และการพยาบาล ใช้ขนส่งอาหาร อุปกรณ์ทางการแพทย์ และเวชภัณฑ์ยา สิ่งเหล่านี้ คือ เหตุผลความความสำคัญ และความจำเป็นเร่งด่วนของการที่ต้องนำหุ่นยนต์เข้ามาช่วยงานมากขึ้น

"ภายใต้การเกิด covid -19 ทำให้เกิดวิกฤตและความวิตกกังวลอย่างมาก แต่หากมองอีกมุมหนึ่ง covid -19 ได้ทำให้เกิดสิ่งดีๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือ การเปิดใจกว้างของผู้คนมากขึ้น การ ให้คุณค่าของทุกฝ่ายทั้งการแพทย์ วิศวะ เกิดโปรดักส์ นวัตกรรมมากมาย และทำให้ทุกคนมีความใส่ใจผู้อื่น"ศ.นพ.บรรจง กล่าว

ที่ผ่านมาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล ได้ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะเวชศาสตร์เขตร้อน และคณะอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในการผลิตหุ่นยนต์ทางการแพทย์ ซึ่งผลการทดลองใช้ พบว่ามีประสิทธิภาพสูง แต่เนื่องจากมหาวิทยาลัยมีโรงพยาบาลในสังกัดหลายแห่ง การได้รับการสนับสนุนจาก ภาคเอกชนจึงถือเป็นความร่วมมือช่วยเหลือการปฏิบัติงานของทีม บุคลากรทางการแพทย์อีกทางหนึ่ง

มหาวิทยาลัยได้รับความร่วมมือจากบริษัทเน็ตเบย์ จากัด (มหาชน) ภาคเอกชน ในการสนับสนุนมอบหุ่นยนต์ Hapybot จำนวน 3 ตัว ให้แก่ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน เพื่อนำไปใช้ในภารกิจดูแลผู้ป่วย ซึ่งจะส่งผลต่อประสิทธิภาพที่ดีในการรักษาพยาบาล และ สร้างความปลอดภัยให้แก่บุคลากรทางการแพทย์

ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ประธานคณะกรรมการวิชาการและเทคนิคเพื่อรองรับสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID- 19) กล่าวว่า จากการแพร่ระบาดของโรค สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยร่วมมือกันได้อย่างดีมาก โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทยที่ต้องได้รับคำชมเชยในการเสียสละ ซึ่งเมื่อโควิด-19 หลายๆ คนวิตกกังวลทาง สวทช. หน่วยงานวิจัยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และมีนักวิจัยมากมาย ได้เปิดให้นักวิจัยทั้งภาครัฐ และเอกชนเข้ามาช่วยคิดค้น พัฒนานวัตกรรม บริษัท เน็ตเบย์ ได้มาเสนอ Hapy Bot ซึ่งมีมาตรฐานด้านความปลอดภัย และสามารถช่วยลดภาระให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ได้อย่างแท้จริง

บริษัท เน็ตเบย์ ได้มีแนวทางในการจะทำประโยชน์เพื่อสังคมด้วยการสร้างสรรค์นวัตกรรมและอุปกรณ์ต่างๆในการขนส่งอาหาร ซึ่งเมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 ทำให้เกิดความเสียหายไปทั่วโลก ในฐานะบริษัทเอกชนและคนไทยที่อยากจะช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ ทีมวิจัยและทีมทำงานได้พัฒนาหุ่นยนต์ Hapybot เพื่อช่วยแบ่งเบา ลดภาระให้แก่อุปกรณ์ทางการแพทย์

นายพิชิต วิวัฒน์รุจิราพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เน็ตเบย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าเบื้องต้นจะผลิตทั้งหมด 10 ตัว ซึ่ง 3 ตัวที่มอบให้แก่ทางโรงพยาบาลในมหาวิทยาลัยมหิดล ถือเป็น 3 ตัวแรกที่เป็นนวัตกรรมโดยคนไทย และได้รับมาตรฐานทางการแพทย์ และยอมรับจากแพทย์ในประเทศ  รวมถึงมีต้นทุนในการผลิตต่ำกว่านำเข้าจากต่างประเทศ ถึง 50%

ถือเป็นโอกาสของคนไทยในการคิดค้น นวัตกรรมอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพราะที่ผ่านมาเป็นการนำเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งหุ่นยนต์ดังกล่าวมีฟังก์ชั่นการใช้งานที่หลากหลายและมีความรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็น การขนส่ง การสื่อสาร การนำทางต่างๆ ดังนั้น วิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ อยากเป็นส่วนหนึ่งในการผลิตนวัตกรรมเพื่อช่วยเหลือประเทศ