กระทรวงเกษตรฯ เคาะปิดบัญชี 'เยียวยาเกษตรกร' กว่า 8 ล้านคน

กระทรวงเกษตรฯ เคาะปิดบัญชี 'เยียวยาเกษตรกร' กว่า 8 ล้านคน

กระทรวงเกษตรฯ เคาะปิดโครงการเยียวยา แค่ 6 กว่าล้านคนวงเงิน 3.1 หมื่นล้าน วิตกอีก 2 ล้านจะตกหล่น สั่งทุกหน่วยงานตรวจสอบ ขณะที่ "คนตาย" ไม่มีสิทธิ์รับเงินเยียวยา

นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยว่า ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องการปิดโครงการรับเงินเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโควิด จากที่มีเกษตรกรขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง รวมกว่า 8 ล้านคน แต่การตรวจสอบความซ้ำซ้อนกับกระทรวงการคลังและระบบประกันสังคม พบว่า เหลือเกษตรกรที่มีสิทธิ์ได้รับการเยียวยาครั้งนี้เพียงกว่า 6 ล้านคน เท่านั้น

ตัวเลขดังกล่าว กระทรวงเกษตรมีความกังวลว่าจะมีเกษตรกรรายใดตกหล่นไม่ได้รับการช่วยเหลือบ้าง จึงให้ทุกหน่วยงานตรวจสอบรายชื่ออย่างรอบคอบ ซึ่งเบื้องต้นยอมรับว่ามีเกษตรกรบางส่วนที่ออกไปประกอบอาชีพอิสระ ที่มีรายได้สูงกว่า ดังนั้นจึงอาจได้รับเงินช่วยเหลือไปแล้ว แต่ทั้งนี้เพื่อให้การช่วยเหลือครั้งนี้เป็นไปอย่างทั่วถึง อยากให้เกษตรกรที่คงเหลืออยู่ไปยื่นอุทธรณ์กับหน่วยงานเจ้าของทะเบียน

สำหรับเกษตรกรที่เสียชีวิตไปแล้ว ในขณะนี้อยู่ระหว่างหารือว่าจะให้สิทธิ์การเยียวยาอย่างไร และพิจารณาจากสิทธิ์ที่ยังคงค้างอยู่หรือไม่ เนื่องจากทะเบียนเกษตรกรที่ใช้อยู่ในขณะนี้ได้อัพเดท ในปี 62 อาจจะมีเกษตรกรที่เสียชีวิตระหว่างนี้อยู่บ้างจึงต้องพิสูจน์กัน

อย่างไรก็ตาม เงินเยียวยาดังกล่าวต้องการช่วยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหรือยังดำรงชีวิตอยู่ ไม่ได้ต้องการช่วยคนตาย ส่วนทายาทที่หลงเหลืออยู่ก็มีสิทธิ์รับเงินเยียวยาอยู่แล้ว ดังนั้นจึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

รายงานข่าวจาก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2563 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้มีหนังสือถึงธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ขอให้ชะลอการโอนเงินให้แก่ข้าราชการที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกร จำนวน 91,426 ราย ดังนั้นขณะนี้จึงยังไม่มีการโอนเงินให้แก่ข้าราชการที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรดังกล่าว ล่าสุดเมื่อ 28 พ.ค. 2563 ธ.ก.ส. สรุปยอดโอนเงินช่วยเหลือเกษตรกร เข้าบัญชีเกษตรกรแล้วตั้งแต่วันที่ 15 – 28 พ.ค. 2563 รวม 11 วัน จำนวน 6,211,592 ราย วงเงินจำนวน 31,057.96 ล้านบาท โดยในวันที่ 28 พ.ค. โอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกร จำนวน 490,818 ราย จำนวนเงิน 2,454.09 ล้านบาท

สำหรับการรับเรื่องอุทธรณ์เยียวยาตั้งแต่วันที่ 19 พ.ค. - 28 พ.ค. 2563 รวมทั้งสิ้น 31,391 รายจำนวน 31,685 เรื่อง จำแนกเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ ได้แก่

1. กรมส่งเสริมการเกษตร 28,890 เรื่อง

2. กรมปศุสัตว์ 1,956 เรื่อง

3. กรมประมง 289 เรื่อง

4. การยางแห่งประเทศไทย 501 เรื่อง

5. สำนักงานคณะกรรมการอ้อย และน้ำตาลทราย 39 เรื่อง

6. กรมหม่อนไหม 7 เรื่อง และ

7. กรมสรรพสามิต (ทะเบียนยาสูบ) 3 เรื่อง

ทั้งนี้ หน่วยงานในระดับพื้นที่ได้แก้ไขปัญหาแล้ว 1,540 เรื่อง อยู่ระหว่างการพิจารณาของหน่วยงานรับผิดชอบ 28,709 เรื่อง และเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาการอุทธรณ์ฯ 1,436 เรื่อง

อย่างไรก็ตาม กรณีที่เกษตรกรไม่มีชื่อ หรือถูกตัดสิทธิ์ สามารถยื่นอุทธรณ์ด้วยตนเองที่หน่วยงานในพื้นที่ดำเนินการรับเรื่องอุทธรณ์เงินเยียวยาจากเกษตรกร และสามารถตรวจสอบสถานะอุทธรณ์ได้ทางเว็บไซต์ www.moac.go.th ซึ่งในการอุทธรณ์เจ้าหน้าที่ส่วนภูมิภาคจะทำการตรวจสอบข้อมูลการอุทธรณ์และส่งให้กับหน่วยงานต้นสังกัดตรวจสอบซึ่งใช้ระยะเวลา 3 วัน และจึงส่งให้คณะกรรมการอุทธรณ์พิจารณาต่อไป