'โรงไฟฟ้า' พยุง 'ถ่านหิน' BPP & BANPU

'โรงไฟฟ้า' พยุง 'ถ่านหิน' BPP & BANPU

'โควิด-19' ระบาดปั่นป่วนธุรกิจถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ 'ไม่สดใส' ! บ่งชี้ผ่านราคาปรับตัวสู่ระดับต่ำ 'สมฤดี ชัยมงคล' นายหญิง 'บมจ.บ้านปู' เชื่อเห็นภาพการฟื้นตัวครึ่งหลัง 2563 ขณะที่ 'โรงไฟฟ้า' โลดแล่นตามแผน หลังกำลังผลิต 4 โครงการ COD ในปีนี้ !

แม้โชว์ตัวเลขผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2563 ของ บมจ.บ้านปู หรือ BANPU มี 'กำไรสุทธิ' 1,712.67 ล้านบาท เติบโต 90% เทียบกับไตรมาส 1 ปี 2562 ที่มีกำไรสุทธิ 905 ล้านบาท เนื่องจากรับผลบวกจาก 'ธุรกิจโรงไฟฟ้า' และมี 'กำไรอัตราแลกเปลี่ยน' อยู่ที่ 3,300 ล้านบาท แต่หากไม่รวมรายการพิเศษพบว่าผลการดำเนินงานปกติยังขาดทุนสุทธิ !

บงชี้ผ่าน 2 ธุรกิจหลัก 'ธุรกิจถ่านหิน และ ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ' แนวโน้มยัง 'ไม่สดใส' หลังธุรกิจได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) ส่งผลให้ราคาถ่านหินและก๊าธรรมชาติในระยะสั้นยังคงอยู่ใน 'ระดับต่ำ' 

'สมฤดี ชัยมงคล' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บ้านปู หรือ BANPU เล่าให้ฟังว่า บริษัทมีมองแนวโน้มราคาถ่านหินในระยะสั้นยังคงอยู่ในระดับต่ำ แม้ปัจจุบันราคาถ่านหินเริ่มปรับตัวขึ้นมาได้บ้าง ล่าสุด ราคาอยู่ที่ 53 ดอลลาร์ต่อตัน หลังซัพพลายเออร์ตอบรับปรับลดกำลังการผลิตลง โดยเชื่อว่าราคาถ่านหินได้ 'พ้นจุดต่ำสุด' ไปแล้ว

โดยในระยะแรกคาดราคาถ่านหินน่าจะอยู่ที่ 50-60 ดอลลาร์ต่อตัน และในระยะยาวคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 70-80 ดอลลาร์ต่อตัน โดยเชื่อว่าราคาถ่านหินจะยังไม่สามารถกลับขึ้นไปสู่ระดับ 100 ดอลลาร์ต่อตันได้

'ทิศทางราคาถ่านหินในช่วงนี้ยังคงมีความผันผวนอยู่ จากซัพพลายที่มีมากกว่าดีมานด์ ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลง ตามระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวลดลงด้วย'

อย่างไรก็ตาม บริษัทได้วางนโยบายเพื่อต่อสู้กับราคาถ่านหินที่ผันผวน แม้จากเดิมจะมุ่งเน้นในเรื่องของประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนอยู่แล้ว แต่จะมุ่งเน้นให้มากขึ้นกว่าเดิม โดยวางกลยุทธ์เอาไว้ '4 ด้าน' ประกอบด้วย 1.ประสิทธิภาพการผลิต ทั้งในประเทศอินโดนีเซีย , ออสเตรเลีย , จีน โดยบริษัทตั้งเป้ากำลังการผลิตให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้

2.การลดต้นทุน โดยขอให้ทุกหน่วยลดต้นทุนการผลิตลงอย่างน้อย 15% และเน้นให้กลับไปทบทวนถึงแผนการผลิต ทั้งระยะสั้น ระยะยาว โดยพยายามเน้นผลิตในส่วนที่ต้นทุนต่ำที่สุดให้มากขึ้นในช่วงนี้ รวมถึงต้นทุนการบริหารจัดการต่างๆ และพยายามลดระยะทางการขนส่งด้วย โดยเฉพาะในเหมืองที่อินโดนีเซีย

3.ด้านการตลาด เน้นขายไปในประเทศให้มากขึ้น ซึ่งเป็นตลาดที่มีราคาค่อนข้างดีและทรงตัวได้ดีกว่าราคาส่งออก โดยเฉพาะที่ประเทศออสเตรเลีย บริษัทก็มีการทำ fixed price มากขึ้น และ 4.การบริหารเงินสด เน้นลงทุนในสิ่งที่จำเป็น ควบคุมการใช้เงินมากขึ้น เพื่อรักษาระดับเงินสด

เธอ บอกต่อว่า สำหรับ 'ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ' ในช่วงที่ผ่านมา ราคาก๊าซในสหรัฐฯ ได้ 'ปรับตัวลง' ไปค่อนข้างมาก เนื่องจากมีซัพพลายออกมาค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับดีมานด์ที่ผ่านมา แต่ปัจจุบันราคาเริ่มฟื้นตัวขึ้นแล้ว จากกรณีที่หลายแหล่งที่ผลิตก๊าซธรรมชาติในสหรัฐฯ มีการปิดหลุมผลิตลง โดยกำลังการผลิตที่มีแนวโน้มจะลดลง ทำให้นักวิเคราะห์ต่างคาดการณ์ว่าราคาก๊าซน่าจะดีดกลับขึ้นมาได้ในช่วงปลายปี 2563 นี้

สอดคล้องได้จากราคาซื้อขายก๊าซล่วงหน้าของสหรัฐฯ ในช่วงปลายปี 2563 ถึงต้นปี 2564 ราคาปรับขึ้นมาอยู่ที่ 3 เหรียญต่อล้านบีทียู จากราคาปัจจุบันที่อยู่ที่ 1.7 เหรียญต่อล้านบีทียู ทำให้คาดว่าได้ว่าในไตรมาส 1 และ 2 นี้ ราคาก๊าซธรรมชาติที่อยู่ในระดับต่ำน่าจะยังคงกดดันผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2563 อยู่ แต่ในช่วงที่เหลือของปีน่าจะปรับตัวดีขึ้น ตามแนวโน้มราคาก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวขึ้น

'ราคาก๊าซธรรมชาติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ผลิตก๊าซที่สหรัฐฯ ทยอยลดกำลังการผลิต เพราะทั่วโลกมีความต้องการที่ลดลง ประกอบกับแหล่งผู้ผลิตน้ำมัน เช่น เชลออยล์ ในสหรัฐฯ ได้ปิดหลุมการผลิตน้ำมันเนื่องจากขณะนี้ราคาน้ำมันอยู่ในระดับต่ำ จึงส่งผลให้หลุมก๊าซธรรมชาติที่เป็นผลผลิตพลอยได้จากน้ำมันลดลงตามไปด้วย จึงทำให้เกิดความสมดุลระหว่างการผลิตและความต้องการ' 

นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนที่จะนำรถยนต์ไฟฟ้าให้บริการผ่านแอพลิเคชัน รวมถึงเดินหน้าผนึกความร่วมมือกับ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เปิดตัวโครงการการบริหารจัดการมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเพิ่มศักยภาพการขนส่งพัสดุให้สะดวก รวดเร็ว ทั้งยังประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ขณะเดียวกัน บริษัทยังคงเดินหน้ามองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ที่สามารถตอบสนองทุกความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกค้าตอบโจทย์ New Normal ที่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมทั้งก้าวไปพร้อมกับเทรนด์ด้านพลังงานแห่งอนาคต ไม่ว่าจะเป็นระบบกักเก็บพลังงานเพื่อเป็นแหล่งสำรองไฟฟ้า ระบบไมโครกริดเพื่อช่วยลดค่าไฟฟ้า โมไบล์แอปสำหรับตรวจสอบการทำงานของแผงโซลาร์เซล การใช้เทคโนโลยีเอไอในการวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ และการพัฒนาแพลตฟอร์มซื้อขายแลกเปลี่ยนพลังงานโดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน เป็นต้น

ด้าน 'กิรณ ลิมปพะยอม' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บ้านปู เพาเวอร์ หรือ BPP เล่าทิศทางธุรกิจโรงไฟฟ้าให้ฟังว่า บริษัทยืนยันสามารถ 'จำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์' (COD) ในโครงการโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างดำเนินการได้ตามแผนปีนี้ กำลังการผลิตรวม 424 เมกะวัตต์ (MW) แบ่งเป็น 1.โรงไฟฟ้าซานซีลู่กวง (Shanxi Lu Guang) ประเทศจีน กำลังผลิต 396 เมกะวัตต์ คาดจะ COD ได้ในไตรมาส 4 ปี 2563 จากปัจจุบันก่อสร้างไปแล้ว 76%

2.โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่น จำวน 2 โครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ยามางาตะ กำลังการผลิต 20 เมกะวัตต์ คาด COD ได้ในไตรมาส 3 ปี 2563 ปัจจุบันก่อสร้างไปแล้ว 96% และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ยาบูกิ กำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์ คาด COD ในไตรมาส 4 ปี 2563 คืบหน้างานก่อสร้างไปแล้วราว 46%

และ 3.โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมซอกจาง (Soc Trang) เฟส 1 ประเทศเวียดนาม กำลังการผลิตรวม 30 เมกะวัตต์ คาดจะสามารถ COD ในไตรมาส 4 ปี 2563

'อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะสามารถรับรู้รายได้และกำไรจากโครงการดังกล่าวได้อย่างชัดเจนในปี 2564'

ทั้งนี้ แผนการลงทุนต่างๆ ในปีนี้ เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 บริษัทได้มีการระมัดระวังการลงทุนมากขึ้น และพยายามบริหารจัดการต้นทุนให้ดียิ่งขึ้น ขณะที่แผนการลงทุนโรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติที่สหรัฐฯ และเวียดนาม ยอมรับว่าการศึกษามีความล่าช้าออกไป เนื่องจากทั้งสองประเทศได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะที่ประเทศสหรัฐฯ

ท้ายสุด 'สมฤดี' ทิ้งท้ายไว้ว่า จากเหตุการณ์วิกฤติโควิด-19 ในครั้งนี้ ทำให้เราตระหนักถึงความสำคัญของการเตรียมความพร้อมรับมือกับวิกฤติการณ์และ New Normal ต่าง ๆ เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืนในอนาคต

โบรกฯ ฟันธง 'ถ่านหิน' พ้นจุดต่ำสุด

'ดนัย ตุลยาพิศิษฐ์ชัย' นักวิเคราะห์การลงทุนด้านหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟิลลิป ระบุว่า บมจ.บ้านปู หรือ BANPU ประกาศกำไรสุทธิ 1.7 พันล้านบาท ซึ่งกำไรดีกว่าที่ตลาดคาดมาจากกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 3.3 พันล้านบาท หากไม่รวมรายการพิเศษนี้ ผลดำเนินงานปกติมีขาดทุน 1.5 พันล้านบาท โดยธุรกิจถ่านหินลดลงจากเหมืองที่อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย ส่วนธุรกิจก๊าซลดลงตามราคาก๊าซธรรมชาติ มีเพียงธุรกิจไฟฟ้าดีขึ้นจากโรงไฟฟ้าที่ลาว ฉะนั้น ภาพรวมกำไรยังลดลง

สำหรับ แนวโน้มผลประกอบการน่าจะ 'ต่ำสุด' ในไตรมาส 2 ปี 2563 และทางบริษัทคาดการฟื้นตัวในครึ่งปีหลัง 2563 สถานการณ์ธุรกิจหลัก (ถ่านหิน/ก๊าซธรรมชาติ) น่าจะดีขึ้นตามการคลี่คลายของ COVID-19 ขณะที่ ธุรกิจไฟฟ้าน่าจะมีแรงหนุนลุ้นเปิดโรงไฟฟ้าใหม่ที่จีนช่วงไตรมาส 4 ปี 2563 สะท้อนภาพรวมการดำเนินงานน่าจะฟื้นตัวในครึ่งปีหลัง ซึ่งทางฝ่ายคาดทั้งปีขาดทุน 3.2 พันล้านบาท โดยมองผลดำเนินงานปกติต่ำสุดในไตรมาส 2 ปี 2563

'แนวโน้มของธุรกิจถ่านหินยังคงไม่สดใสนักในระยะสั้น-กลาง โดยผลการดำเนินงานของ BANPU จะถูกพยุงด้วยธุรกิจโรงไฟฟ้า' 

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)บัวหลวง (BLS) ระบุว่า คาดว่าอัตรากำไรขั้นต้น (GM) ของโรงไฟฟ้า CHP ในประเทศจีนมีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้นทั้งเทียบกับช่วงเดียวปีก่อน และไตรมาสก่อน ซึ่งในไตรมาส 2 ปี 2563 BPP คาดว่าโรงไฟฟ้า SLG ในจีนจะดำเนินงานได้ตามแผนภายในปี 2563

สำหรับธุรกิจถ่านหินของ BANPU การแพร่ระบาดของ COVID-19 กดดันแนวโน้มอุปสงค์ถ่านหินทั่วโลก แต่ในทางกลับกันราคาถ่านหินที่ต่ำมากได้ส่งผลให้อุปทานถ่านหินลดลงด้วยเช่นกัน แนวโน้มต้นทุนการผลิตถ่านหินต่อหน่วยในออสเตรเลียน่าจะปรับลดลงในช่วงไตรมาสที่เหลือของปี 2563 นอกจากนี้ BANPU ได้มีการแก้ไขสัญญาในการเข้าซื้อ Barnett อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มของธุรกิจถ่านหินยังคงไม่สดใสนักในระยะสั้น-กลาง โดยผลการดำเนินงานของ BANPU จะถูกพยุงด้วยธุรกิจโรงไฟฟ้า (BPP) ทั้งนี้ ในปัจจุบัน BPP ถูกซื้อขาย Valuation ที่ต่ำ และเงินปันผลในระยะสั้นถึงระยะกลางสูงที่สุดในกลุ่มโรงไฟฟ้าที่เราให้คำแนะนำ เราจึงยังคงคำแนะนำ 'ขาย' ต่อ BANPU และ 'ซื้อ' ต่อ BPP ด้วยราคาเป้าหมาย ณ สิ้นปี 2564 อยู่ที่ 21 บาท