สธ.กำชับโรงเรียนยึดแนวปฏิบัติ 6 มิติ เตรียมพร้อมก่อนเปิดเทอม

สธ.กำชับโรงเรียนยึดแนวปฏิบัติ 6 มิติ เตรียมพร้อมก่อนเปิดเทอม

สธ.กำชับโรงเรียนยึดแนวปฏิบัติ 6 มิติ เตรียมพร้อมก่อนเปิดเทอม จำเป็นต้องจัดการเรียนรู้แบบผสมผสาน เผยห้องเรียนที่เหมาะสมจำนวนนักเรียน 20-25 คน

เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข ในการแถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมก่อนเปิดเทอม ขณะนี้มีคู่มือการปฏิบัติสำหรับสถานศึกษา โดยดูใน 6 มิติเพื่อการเฝ้าระวังป้องกันโรคในโรงเรียน ประกอบด้วย 1. ความปลอดภัยจากการลดการแพร่เชื้อโรค จุดคัดกรองในตอนเช้า วัดไข้และอาการเสี่ยงต่างๆก่อนเข้าโรงเรียน นักเรียนสวมหน้ากากตลอดเวลา ให้มีจุดล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์อย่างเพียงพอ จัดให้มีการเว้นระยะห่างโดยเฉพาะในห้องเรียน ซึ่งจะมีเด็กเฉลี่ย 40 คน แต่จากการคำนวณขนาดห้องเรียนที่มีการเว้นระยะห่าง 1 เมตร จำนวนนักเรียนต่อห้องที่เหมาะสมคือ 20-25 คน แสดงว่าจะต้องมีเด็กอีกครึ่งหนึ่งที่ไม่สามารถใช้ห้องเรียนในเวลาเดียวกันกับเพื่อนได้


โรงเรียนจะต้องพิจารณาถึงทางเลือกต่างๆ เช่น ทำพื้นที่ชั่วคราวเพื่อให้เกิดการเรียนแบบคู่ขนานกัน หรือจำนวนหนึ่งต้องเรียนแบบออนไลน์ที่บ้าน หรือผลัดกันมาเรียน ซึ่งโรงเรียนจะต้องพิจารณารูปแบบที่เหมาะสมและดำเนินการได้ การทำความสะอาด มุ่งเน้นจุดผิวสัมผัสทั้งหมดและพื้นที่ที่เด็กจำเป็นไปใช้ร่วมกัน และจัดกลุ่มชั้นเรียนและหมุนเวียน ลดความแออัด ไม่จัดกิจกรรมที่มีการสัมผัสร่วมกัน


2.การเรียนรู้ มีความจำเป็นต้องจัดการเรียนรู้แบบผสมผสาน อาจต้องจัดทำรูปแบบสำหรับเด็กที่จะมีทั้งการเรียนที่ห้องเรียน ออนไลน์และเด็กทุกคนจะถูกฝึกให้ดูแลตนเองในภาวะโควิด 3.การครอบคลุมถึงเด็กด้อยโอกาส ซึ่งโรงเรียนมีระบบดูแลช่วยเหลือและประวัติของนักเรียนทุกคน คุณครูต้องวางแผนร่วมกับโรงเรียนในการดูแลเด็กที่มีความต้องการพิเศษ และเด็กที่จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือต่างจากเด็กคนอื่น เช่น ไม่มีอุปกรณ์ป้องกันโรคสำหรับตนเองที่เพียงพอ ก็ต้องเตรียมการพิเศษสำหรับกรณีนี้เพื่อให้เด็กมีโอกาสมาโรงเรียนได้โดยปกติ

4. คุ้มครองและสวัสดิภาพของเด็ก เน้นกรณีเด็กป่วยเกิดขึ้นในโรงเรียนโดยเฉพาะโรคโควิด หรือสมาชิกในครอบครัวป่วย เพื่อให้นักเรียนคนอื่นๆได้รับความเข้าใจ ผู้ป่วยไม่ถูกรังเกียจจากอาการป่วยโควิด 5.นโยบาย เน้นในทุกจังหวัดพื้นที่ จะต้องออกแบบถึงระดับโรงเรียน ในการบริหารจัดการจัดชั้นเรียนใหม่ เติมอุปกรณ์ที่จำเป็นให้เด็กเพิ่มเติม จัดจุดล้างมือเพิ่ม โรงอาหารทำฉากกั้นเพื่อให้เด็กใช้งานได้ และ6.การบริหารการเงิน เพราะมีการต้องจัดชั้นเรียนใหม่ และการเติมอุปกรณ์จำเป็นที่มากขึ้นด้วย จึงต้องวางแผนบริหารทรัพยากรก่อนเปิดเรียน


“ขอให้โรงเรียนเข้าไปประเมินตนเองในแพลตฟอร์ม thaistopcovidของกรมอนามัย จากนั้นกรมจะประเมินประมวลผล และจัดกลุ่มโรงเรียนว่ามีความพร้อมหรือไม่อย่างไร โดยจะส่งคืนข้อมูลไปที่จังหวัดเพื่อใช้ข้อมูลร่วมกันในการออกแบบวางแผนการเปิดเรียนต่อไป”พญ.พรรณพิมลกล่าว


นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในมิติของการควบคุมโรค กรณีมีเด็กป่วยเกิดขึ้นแม้จะ 1 ราย ก็จะต้องแยกเด็กลุ่มที่ป่วยออกจากกลุ่มไม่ป่วย และเด็กที่มีการสัมผัสใกล้ชิดต้องได้รับการดูแล พิจารณาปิดห้องเรียน ชั้นเรียนเดียวกัน อาคารเดียวกันหรือปิดโรงเรียน รวมถึง การทำความสะอาดในห้องเรียน และพื้นที่ส่วนกลาง เช่น ห้องสุขา โรงอาหาร หรือจุดที่รวมกันของเด็ก สำรวจคัดกรองเด็กในชั้นเรียนอื่นๆว่ามีความเสี่ยงหรือไม่ เพราะเด็กอาจจะไปเล่นด้วยกัน และสอบสวนโรคเพื่อหาแหล่งแพร่โรคในการเข้าไปดำเนินการจัดการป้องกันควบคุมโรคต่อไป