'ผู้นำ' จะรอดหรือไม่ ก็ให้ดูที่ 'โควิด-19'

'ผู้นำ' จะรอดหรือไม่ ก็ให้ดูที่ 'โควิด-19'

ส่องผู้นำประเทศต่างๆ กับความสามารถของในการจัดการกับภาวะวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวชี้วัดว่าชะตากรรมของเขาและพรรคพวกว่าจะได้บริหารประเทศต่อไปหรือไม่ ไม่เว้นแม้แต่สังคมประชาธิปไตยหรืออัตตาธิปไตย

วิกฤติไวรัสระบาดคราวนี้เป็นปัจจัยบ่งชี้ความสามารถของผู้นำได้ชัดเจนไม่น้อย ความสามารถในการจัดการกับภาวะวิกฤตินี้เอง ที่ชี้ต่อไปยังความนิยมของผู้นำคนนั้น และอาจบ่งชี้ชะตากรรมของเขาและพรรคพวกว่าจะได้บริหารประเทศต่อไปหรือไม่อีกด้วย ไม่เว้นแม้แต่ในสังคมประชาธิปไตยหรืออัตตาธิปไตย ในที่นี้ดัชนีวัดความสำเร็จหรือล้มเหลว มีได้อยู่ที่ยอดคนตายคนติดเชื้อเท่านั้น แต่อยู่ที่การจัดการเรื่องเศรษฐกิจและสังคมในประเทศอีกด้วย

ตัวอย่างที่ชี้ถึงความสำเร็จที่สุดนับถึงตอนนี้ น่าจะเป็นไต้หวัน เกาะเล็กๆ ที่โดนจีนกดดันทุกด้าน ไม่เว้นแม้แต่เรื่องสาธารณสุขที่จีนยังไม่ยอมให้มีที่ยืนในการประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลก ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าไม่มีอะไรในโลกนี้ที่จะปลอดจากการเมือง แม้แต่ความเป็นความตายร่วมกันของมนุษยชาติก็มีโอกาสที่การเมืองจะเอี่ยวเสมอ

การที่ไต้หวันประสบความสำเร็จในการสกัดกั้นโควิด ส่งผลให้คะแนนนิยมของนาง Tsai In-wen สูงไม่มีตก และทำให้เสียงที่เธอเปล่งออกมาสู่ประชาคมโลกมีพลังมากขึ้นเรื่อยๆ แน่นอนว่าไต้หวันยังไม่มีทีท่าว่าจะประกาศตนเป็นเอกราชก็จริง แต่จุดยืนที่มั่นคงของพรรค Democratic Progressive Party (DPP) ได้ปักหลักลงในใจของคนไต้หวันรุ่นใหม่จำนวนมาก ยิ่งพาให้ไต้หวันห่างจากจีนไปทุกที และโอกาสของการผลิตคนรุ่นใหม่ขึ้นมาท้าทายของพรรคก๊กมินตั๋งก็เลือนรางลงไปทุกทีด้วย

นิวซีแลนด์กับเยอรมนี ชาติที่มีผู้นำหญิงเหมือนกับไต้หวันก็เป็นชาติที่ประสบความสำเร็จ ดินแดนนกกีวีถึงกับประกาศตัวว่าพ้นวิกฤติก่อนใคร ซึ่งนับว่าไม่ง่ายเลย เพราะนิวซีแลนด์ก็เป็นประเทศใหญ่ประเทศหนึ่งของอนุทวีปโอเชียเนีย แต่ความเป็นคนรุ่นใหม่ของ Jacinda Ardern ที่กล้าตัดสินใจและมีลีลาการสื่อสารที่ดีเยี่ยมทำให้คนทั้งประเทศเชื่อใจเธอ ซึ่งต่างกันมากเมื่อเทียบกับนายกรัฐมนตรีของประเทศใหญ่ข้างๆ ช่วงโควิดนี้คะแนนนิยมเธอพุ่งขึ้นกว่าเดิมเสียอีก

ส่วนเยอรมนีของนาง Angela Merkel ยิ่งเหนือชั้นเข้าไปใหญ่ ท่ามกลางความล้มเหลวในการสกัดกั้นไวรัสของชาติอื่นในยุโรปตะวันตก การสั่งการอย่างมีลำดับเวลาที่เหมาะสมของแมร์เคิล ทำให้เยอรมนีสูญเสียชีวิตคนน้อย เศรษฐกิจก็ไม่พังพาบเพราะการแจกเงินมีประสิทธิภาพ ถึงวันนี้กิจกรรมในเยอรมนีกลับมาเดินเครื่องได้ ส่งผลให้การวิจารณ์ของพวกขวาจัดเงียบเสียงลง

ประเทศอย่างจีน เกาหลีเหนือ ลาว กัมพูชานั้น ยากที่ใครจะรู้ชัดว่ามีคนติดเชื้อหรือตายขนาดไหนแน่ แต่ผู้นำของประเทศเหล่านี้ก็ไม่ทำให้สถานะของตนอยู่ในสภาวะเสี่ยง พวกเขาแสดงภาพลักษณ์ประเทศว่าจัดการวิกฤติได้ด้วยการให้ประเทศกลับมาดำเนินกิจกรรมปกติ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจึงเกื้อหนุนกัน เพราะประชาชนก็เชื่อฟังผู้นำ การรับมือกับวิกฤติก็ง่าย ปัญหาทั้งทางสาธารณสุขและทางเศรษฐกิจจึงไม่หนักหน่วงเท่าประเทศที่มีผู้นำที่ไม่เหมาะกับภาวะวิกฤติ

สหรัฐน่าจะเป็นประเทศที่ล้มเหลวที่สุดในสถานการณ์ไวรัสระบาดคราวนี้  ลำพังประชาชนที่เชื่อมั่นในสิทธิของตัวเองจนเกินไปและความดื้อรั้นไม่เข้าใจความรุนแรงของสถานการณ์ก็ทำให้คนติดเชื้อคนตายพุ่งขึ้นอย่างมหาศาล ยังมีประธานาธิบดีอย่าง Donald Trump ที่ชวนทะเลาะกับหลายฝ่ายทั้งในประเทศและนอกประเทศ จนทำให้การจัดการต่างๆ ปั่นป่วนไป เมื่อแรกเกิดวิกฤติ ทรัมป์อาจมีความหวังว่าการเป็นประธานาธิบดียามศึกนั้นน่าจะทำให้เขาชนะขาดในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีปลายปีนี้ แต่เมื่อเขาแก้ไขปัญหาไม่ได้ ดำเนินการใดๆ ด้วยความสะเปะสปะ ตอนนี้เขาจึงกำลังเป็นรองฝั่งเดโมแครตส์ไปเสียแล้ว

การมีผู้นำที่ดื้อดึง สุดโต่งและไม่เชื่อมั่นในวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทำให้ประเทศขนาดใหญ่และมีความแตกต่างกันมากของชนชั้นอย่างบราซิล กลายเป็นอีกประเทศที่ประสบกับหายนะในศึกโควิด  ลำพังประธานาธิบดี Jair Bolsonaro ก็มีศัตรูมากในประเทศของตัวอยู่แล้ว งานนี้ยิ่งเปิดช่องให้ปรปักษ์โจมตีมากเข้าไปใหญ่ โบลโซนาโรอาศัยความห้าวและประกาศจะกวาดล้างคอรัปชั่นแบบถอนรากถอนโคนทำให้ได้ใจประชาชนจนได้เป็นประธานาธิบดีเมื่อ 2 ปีก่อน แต่หลังจากนั้นความหัวรุนแรงไม่ฟังใครของเขาทำให้มีปัญหากับหลายฝ่าย แนวทางของเขาคล้ายกับทรัมป์ และนำประเทศไปสู่ความโกลาหลเช่นเดียวกัน

สำหรับไทย ต้องยอมรับว่ารัฐบาลสมควรได้เครดิตในด้านการความควบคุมการระบาดไม่มากก็น้อย แม้ว่าหลายฝ่ายจะให้ยกนิ้วให้กับการทุ่มเทของแพทย์และความเกรงกลัวต่อไวรัสจนป้องกันตนเองอย่างเต็มที่ของประชาชนมากกว่าก็ตาม แต่ปัญหาที่ดูเหมือนจะถูกจับตามากกว่าความสำเร็จในการกดยอดผู้ติดเชื้อลงต่ำ ก็คือการจัดการกับผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากมาตรการที่เข้มงวดของรัฐ ต้องยอมรับเช่นกันว่ารัฐยังดำเนินการตรงนี้ได้ไม่สมคาดหวัง ถ้ารัฐยังไม่สามารถทำให้การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบและการผ่อนคลายทางเศรษฐกิจ เป็นไปอย่างราบรื่นและเป็นธรรม ปัญหาอื่นที่เคยคุมได้ ไม่ว่าจะเป็นทางสาธารณสุขหรือทางการเมือง ก็ไม่แน่ว่าจะคุมได้เหมือนกัน