สงครามจีน-สหรัฐ ใน 3 สมรภูมิ

สงครามจีน-สหรัฐ ใน 3 สมรภูมิ

วิเคราะห์เจาะลึก 3 สมรภูมิรบ ระหว่างจีนและสหรัฐ ใครจะได้เปรียบ ใครจะเสียเปรียบ ทั้งในสนามสงครามการเงิน สงครามเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็น 5G หรือเรื่องของ AI รวมถึงสงครามการค้า

ถือเป็นข่าวที่มาแรง ท่ามกลางบรรยากาศการประชุมใหญ่สภาแห่งชาติจีนที่กำลังดำเนินอยู่ เมื่อรัฐบาลจีนเตรียมที่จะออกกฎหมายด้านความมั่นคง ที่จะทำให้ทางการจีนสามารถบังคับใช้กฎหมายในฮ่องกงได้แบบเข้มข้นขึ้น เลยทำให้ชาวฮ่องกงบางส่วนมองว่า การออกกฎหมายดังกล่าวน่าจะออกมาเพื่อที่จะจัดการกับผู้ประท้วงชาวฮ่องกงที่เคยเกิดขึ้นมาแบบดุเดือดเมื่อปีที่แล้ว

ทางด้านสหรัฐ ภายการนำของโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งก็จ้องหาเหตุผลที่จะดำเนินการทางการเมืองเพื่อคะแนนเสียงในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงอยู่แล้ว เลยถือโอกาสเปิดสงครามกับจีนใน 3 สมรภูมิดังนี้

สมรภูมิแรก ได้แก่ สงครามด้านเงินทุน หรือ Capital เริ่มจากทรัมป์สั่งห้ามกองทุนบำนาญของภาครัฐ ลงทุนในตราสารทางการเงินของจีน นอกจากนี้ยังเตรียมออกกฎหมายใหม่ให้ กลต.สหรัฐสามารถตรวจสอบว่า บริษัทสัญชาติจีนที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐได้รับความช่วยเหลือในรูปแบบใดๆ จากทางการจีนหรือไม่

รวมถึงตรวจสอบว่าบริษัทจีนได้ปฏิบัติตามเกณฑ์ทางบัญชีของสหรัฐหรือไม่ ซึ่งเป็นผลพวงจากการที่ Luckin Coffee มีการบันทึกรายได้ทางบัญชีที่ผิดพลาดเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน โดย กลต.สหรัฐจะสามารถมีอำนาจในการถอดถอน หรือ delist บริษัทสัญชาติจีนให้ออกจากตลาดหุ้นสหรัฐได้ หากกฎหมายดังกล่าวผ่านออกมาในกรณีเข้าเงื่อนไขดังกล่าว ซึ่งน่าจะมองว่าสามารถทำได้ไม่ยาก จากการที่ขึ้นกับดุลยพินิจของหน่วยงานสหรัฐ และก็ไม่แคล้วถูกมองว่าเป็นเรื่องการเมือง

ซึ่งแน่นอนว่าในสนามเงินทุนนี้ สหรัฐถือว่าได้เปรียบจีนชัดเจน หากพิจารณาหุ้นจีนที่เป็นตัวหลักๆ ที่เทรดอยู่ในตลาดหุ้นสหรัฐ จะพบว่าหุ้นอาลีบาบาที่จดทะเบียนแบบ 2 ตลาดนั้นหุ้น Baba ในตลาดฮ่องกงมีพรีเมียมจากหุ้นที่เทรดในสหรัฐค่อนข้างมาก ด้านหุ้นไป้ตู้ก็มีบางกระแสข่าวระบุว่ามีแผนเตรียมจะถอนออกจากตลาดหุ้นสหรัฐเร็วๆ นี้

สมรภูมิที่ 2 ได้แก่ สงครามด้านเทคโนโลยี นั่นคือการออกกฎหมายให้หัวเว่ย ซึ่งมีเทคโนโลยี 5G ที่ล้ำหน้ากว่าสหรัฐ ห้ามขายผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของชิ้นส่วนที่ผลิตจากอเมริกาในอุปกรณ์ 5G และโทรศัพท์มือถือ รวมถึงทุกผลิตภัณฑ์ของหัวเว่ย ซึ่งจากเดิมที่สหรัฐเมื่อปีที่แล้วได้ออกกฎห้ามบริษัทอเมริกันทำธุรกรรมหรือห้ามเกี่ยวข้องให้หัวเว่ยใช้ Software ใดๆ จากบริษัทของสหรัฐ แล้วปรากฏว่าไม่ได้ทำให้ยอดขายและกำไรของ Huawei ลดลงแต่ประการใด หนำซ้ำกลับยังสามารถเติบโตได้ไปเสียอีก

นอกจากนี้ หากพิจารณาลงไปในสมรภูมิของ AI ในสาขาต่างๆ จะพบว่ามีอยู่ 4 สาขาหลัก ได้แก่

1.internet AI ซึ่งหมายถึง AI ที่คอยตรวจสอบและสังเกตว่าคุณกำลังทำอยู่ในอินเตอร์เน็ต ตรงนี้หากท่านผู้อ่านเล่นเฟซบุ๊คหรือหาข้อมูลในgoogleน่าจะพบเจอสิ่งนี้อยู่บ่อยๆ สำหรับสมรภูมินี้ในตอนนี้ทั้งจีน-สหรัฐถือว่าสูสีกัน โดยในอนาคตอันใกล้จีนน่าจะเหนือกว่านิดๆ

2.business AI นั่นคือ AI ที่เน้นให้ธุรกิจนำข้อมูลไปใช้งานเพื่อกำไรที่สูงขึ้น สหรัฐถือว่าเหนือกว่าจีนเยอะ โดยในอนาคตอันใกล้สหรัฐน่าจะเหนือกว่านิดๆ

3.perception AI หมายถึง AI ที่เฝ้ามองโลกภายนอกโดยในตอนนี้ทั้งจีนเหนือกว่าสหรัฐนิดๆ โดยในอนาคตอันใกล้จีนน่าจะเหนือกว่ามากขึ้น

4.autonomous AIหรือ AI ที่สามารถโต้ตอบกับมนุษย์เราได้ ในสมรภูมินี้สหรัฐถือว่าเหนือกว่าจีนเยอะ โดยในอนาคตอันใกล้สหรัฐน่าจะเท่าเทียมกับจีน โดยยังมองไม่เห็นคู่แข่งอื่นที่ใกล้เคียงกับทั้งคู่ในเร็วๆนี้

โดยสรุปสำหรับสนามเทคโนโลยีมีแนวโน้มว่า ท่าทีล่าสุดของสหรัฐต่อหัวเว่ยกลับกลายว่าจะเข้าเนื้อตัวเอง จากการที่บริษัทอื่นๆ ทั่วโลกแทนที่จะย้ายฐานการผลิตเข้าสหรัฐอย่างที่ล่าสุดแม้ TSMC บริษัทชิพขนาดใหญ่ของไต้หวัน สร้างโรงงานผลิตชิพอิเล็กทรอนิกส์ที่รัฐอริโซน่าด้วยเม็ดเงินกว่า 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์ ก็จะทำให้ต่างอยากไปตั้งฐานผลิตนอกสหรัฐกันหมด จึงมองไม่ยากว่าสนามเทคโนโลยีจีนได้เปรียบอย่างชัดเจน ในส่วนของ 5G และยังค่อนข้างสูสีกันในส่วนของ AI ในตอนนี้ อย่างไรก็ดี ในระยะยาว จีนก็ถือว่าน่าจะได้เปรียบสหรัฐเช่นกัน

สมรภูมิที่ 3 สงครามการค้า ล่าสุดสหรัฐจะใช้เหตุกฎหมาย Security Law ของรัฐบาลจีนในการบังคับใช้กฎหมายที่ให้ฮ่องกงต้องมีอิสระในการปกครองตนเอง ซึ่งผ่านสภาคองเกรสเมื่อปีที่แล้วเพื่อเลิกสถานะพิเศษด้านการค้ากับฮ่องกง รวมถึงน่าจะมีการเริ่มตั้งกำแพงภาษีรอบใหม่กับจีนในอีกไม่นานนี้ และรุนแรงขึ้นเมื่อเข้าใกล้ช่วงการเลือกตั้งในไตรมาส 4 ของปีนี้ 

ในส่วนนี้ถือว่าจีนได้เปรียบ เนื่องจากสหรัฐเสียความได้เปรียบเชิงการแข่งขันด้านการค้าต่อญี่ปุ่นและจีนมาตั้งแต่ยุค 1980 และ 1990 ตามลำดับ แม้ว่าทรัมป์จะพยายามใช้นโยบายการนำโรงงานต่างๆ กลับมาที่สหรัฐก็ตาม ทว่ายังทำได้ค่อนข้างน้อยมาก

หันมาพิจารณาฝั่งจีนกันบ้าง เริ่มจาก รมต.ต่างประเทศหวางอี้ ถือว่าได้ตอบโต้สหรัฐค่อนข้างแรงกว่าที่เคย โดยกล่าวว่าสหรัฐอย่าได้ใช้ ‘ไวรัสทางการเมือง’ มาเป็นชนวนในการเกิดสงครามเย็นรอบใหม่ โดย 2 เหตุผลที่การปะทะคารมของทั้ง 2 ฝั่งออกมาแรงกว่าที่เคย ได้แก่ 1.การที่นายไมค์ ปอมปิโอ รมว.ตปท.สหรัฐ กล่าวหาว่าไวรัสโควิด-19 แท้จริงแล้วมาจากห้องทดลองของจีง ซึ่งต้องบอกว่าไม่ค่อยมีใครคล้อยตามสักเท่าไหร่ และ 2.แทบจะทุกครั้งในระหว่างการประชุมสภาแห่งชาติประจำปี ผู้นำของจีนมักจะมีจุดยืนต่อสหรัฐ ในประเด็นการเมืองค่อนข้างหนักแน่นกว่าช่วงเวลาปกติ เนื่องจากท่าทีของผู้นำจีน

ด้านผลกระทบต่อตลาดหุ้นโลก ผมมองว่า

1.ในมิติสงครามด้านตลาดทุนระหว่างจีน-สหรัฐ น่าจะมีผลที่จำกัดเฉพาะหุ้นจีนที่จดทะเบียนในสหรัฐอย่างอะลีบาบา เทนเซ้นท์ ไป้ตู้ และอาจรวมถึง LuckinCoffee รวมถึงฟันด์โฟลว์ในเชิงลบจากกองทุนบำนาญภาครัฐของสหรัฐ ซึ่งมีอยู่ราวเกือบ 1 หมื่นล้านดอลลาร์ น่าจะอยู่ในระดับที่ไม่ส่งผลกระทบมากนักต่อตลาดหุ้นจีน

2.ในมิติสงครามเทคโนโลยี ด้านหัวเว่ย คงจะโดนผลกระทบจากสงคราม 5G ของสหรัฐและจีนโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงการเลือกตั้งสหรัฐในปลายปีนี้ส่วนบริษัทเทคโนโลยีอื่นๆน่าจะพยายามหาแหล่งผลิตหรือ Supplier ที่นอกเหนือจากจีนและสหรัฐ เพื่อลดผลกระทบเชิงลบจากสงครามนี้ของทั้งคู่

3.ในมิติสงครามการค้า คาดว่าน่าจะรุนแรงขึ้นตามลำดับจนไปสูงสุดก่อนเลือกตั้งใหญ่สหรัฐ โดยระยะแรกๆ ตลาดหุ้นจีนอาจโดนผลกระทบจากกำแพงภาษีมากกว่า จากนั้นเมื่อใกล้เข้าช่วงเลือกตั้งสหรัฐ ทางการจีนน่าจะเร่งตอบโต้เพื่อลดคะแนนเสียงของทรัมป์

ในส่วนตลาดหุ้นไทยนั้น แน่นอนว่าในช่วงสั้นๆ ที่เกิดสงครามทั้ง 3 มิตินี้ แนะนำให้เลี่ยงหุ้น Cyclical อย่างหุ้นขนาดใหญ่ในกลุ่มพลังงานแล้วเข้ามาพักในหุ้น Defensive อย่างกลุ่มโทรคมนาคมและกลุ่มโรงไฟฟ้า โดยตลาดหุ้นไทยในช่วงต่อไป สิ่งที่ต้องจับตาคือสถานการณ์โควิด-19 หลังผ่อนคลายการล็อกดาวน์ครับ