‘กลุ่มทรู-รพ.นพรัตน' ดัน5จี พลิกโฉมการแพทย์ฉุกเฉิน

‘กลุ่มทรู-รพ.นพรัตน' ดัน5จี พลิกโฉมการแพทย์ฉุกเฉิน

“กลุ่มทรู” ผนึก “รพ.นพรัตนราชธานี” นำ 5 จี สร้างมิติใหม่การแพทย์ฉุกเฉิน จุดพลุงานดูแลผู้ป่วยทางไกล เพิ่มความปลอดภัย ลดความแออัด-การสัมผัส ระหว่างผู้ป่วย-บุคลากรทางการแพทย์ วางเป็นโรงพยาบาลต้นแบบเพื่อต่อยอดสู่โรงพยาบาลศูนย์ทั่วประเทศ

นายพิรุณ ไพรีพ่ายฤทธิ์ หัวหน้าคณะทำงานและกรรมการยุทธศาสตร์ 5จี บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า กลุ่มทรูร่วมมือกับโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี พร้อมด้วยฮีโร่ต้นแบบหมอเจี๊ยบลลนา ก้องธรนินทร์  นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการแพทย์เครือข่ายอัจฉริยะทรู 5จี สร้างการแพทย์ฉุกเฉินวิถีใหม่(ER New Normal )

โดยนวัตกรรมด้านการแพทย์ที่นำมาใช้ประกอบด้วยTrue 5G MedTech Ambulanceอุปกรณ์รถพยาบาลฉุกเฉินอัจฉริยะที่ช่วยติดตามและสื่อสารระหว่างโรงพยาบาลกับภายในรถฉุกเฉินโดยไม่มีความหน่วง ทำให้แพทย์ที่อยู่ภายในรถสามารถสื่อสารกับแพทย์ที่อยู่ประจำโรงพยาบาลเพื่อจัดเตรียมการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม่นยำ และทันท่วงที 

“AR Professional Consult Powered by True 5Gระบบการเชื่อมต่ออัจฉริยะเพื่อการสื่อสารเสมือนจริง สำหรับใช้ในการสื่อสารระยะไกลระหว่างแพทย์ฉุกเฉินและแพทย์เฉพาะทาง โดยแพทย์เฉพาะทางจะเห็นภาพในมุมมองเดียวกันจากแว่นที่แพทย์ฉุกเฉินใส่ ทำให้สามารถให้ความเห็นได้อย่างแม่นยำ ช่วยให้ผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที 

“True 5G Temi Connect & CareBotหุ่นยนต์สื่อสารอัจฉริยะ ที่นอกจากจะใช้ในการสื่อสารระหว่างแพทย์และผู้ป่วย เพื่อลดการสัมผัสโดยตรง ยังสามารถช่วยส่งเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ เอกสาร หรือสิ่งของต่างๆ ที่มีขนาดไม่ใหญ่มากนัก โดยสามารถบังคับได้จากระยะไกล 

Nopparat Teleclinic Powered by True 5Gเทคโนโลยี Vhealth Platform แอพพลิเคชั่นสำหรับคัดกรอง ให้คำปรึกษา และวินิจฉัยโรคเล็กๆ น้อยๆ ของโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี โดยผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเดินทางมาโรงพยาบาล สามารถตรวจคัดกรองคนไข้ผ่านคำถามต่างๆ เพื่อเป็นการวินิจฉัยเบื้องต้นก่อนที่จะเข้ามารับบริการที่โรงพยาบาล และสามารถทำนัดกับแพทย์ได้ทันที ตามอาการที่ได้ระบุ หากจำเป็นต้องเข้ามาพบแพทย์ต่อไป

โซลูชั่นเพื่อการแพทย์ทั้งหมดนี้เชื่อมต่อด้วยซิม True 5G-Ready และอุปกรณ์รับสัญญาณ CPE 5G ผ่านเครือข่าย True 5G ที่ได้ขยายสัญญาณไว้รอบโรงพยาบาล รวมทั้งได้ติดตั้งรถ COW 5G (Cell On Wheel) เพื่อขยายสัญญาณเพิ่มเติมในโรงพยาบาลไว้ด้วย

159068010159

เขากล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้กลุ่มทรูหวังผลักดันให้รพ.นพรัตนฯ เป็นต้นแบบที่สามารถนำไปต่อยอดสู่โรงพยาบาลศูนย์อื่นๆ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพและช่วยเหลือผู้ป่วยได้ทันท่วงที ตั้งแต่ส่งรถพยาบาลฉุกเฉินไปรับผู้ป่วย  คัดกรองผู้ป่วย ประเมินอาการผู้ป่วยที่ฉุกเฉินและไม่ฉุกเฉิน สามารถส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินไปรับการรักษาตามอาการได้ทันเวลา 

หากสามารถทำให้เกิดยูสเคสที่ดี จะเป็นตัวอย่างที่สามารถนำไปขยายผลกับโรงพยาบาลศูนย์อื่นๆ ทั่วประเทศ 5จีไม่ได้เป็นเพียงแค่สัญญาณมือถือ แต่เป็นเครื่องมือสำคัญในการยกระดับศักยภาพการแพทย์ดิจิทัลและสาธารณสุขของประเทศให้เหนือกว่าและยั่งยืนในทุกมิติ เชื่อว่าวงการแพทย์และสาธารณสุขของไทยมีศักยภาพมากพอที่จะก้าวขึ้นไปเป็นผู้นำในระดับโลก”

ที่ผ่านมากลุ่มทรูใช้งบประมาณการลงทุนเทคโนโลยี 5จีเพื่อการแพทย์ไปแล้วมากกว่า 50 ล้านบาท ด้านความพร้อมเครือข่ายทรู 5จี ขณะนี้ในเขตตัวเมืองมีความพร้อมแล้วในทุกจังหวัด และคาดว่าจะสามารถใช้งานได้อย่างครอบคลุมช่วงปลายปีนี้ 

159068010136

159068112611

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การแพทย์วิถีใหม่มุ่งปฏิรูปใน 2 เรื่องคือการรีดีไซน์กระบวนการ โดยเริ่มตั้งแต่ก่อนที่คนไข้จะมาโรงพยาบาล การให้คำปรึกษาแบบทางไกล และอีกด้านที่จะเข้ามาสร้างจุดเปลี่ยนที่สำคัญคือการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและดิจิทัลโซลูชั่นต่างๆ มายกระดับการให้บริการ การดูแลผู้ป่วย โดยการมาของ 5จี รวมถึงความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนจะยิ่งช่วยทำให้เกิดความเป็นไปได้ใหม่ๆ และต่อไปจะมีการถอดแบบและขยายผลไปสู่โรงพยาบาลอื่นๆ ในสังกัดด้วย

นายแพทย์สมบูรณ์ ทศบวร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กล่าวเสริมว่า  แม้มีการพัฒนายกระดับการให้บริการอยู่ตลอดเวลาทว่าเมื่อเกิดวิกฤติโควิด-19 พบว่ายังคงไม่เพียงพอ จำเป็นต้องปรับตัวสู่นิวนอร์มอลเพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับทั้งผู้มาใช้บริการและผู้ให้บริการ ที่สำคัญคือการลดความแออัด การสัมผัส โดยเฉพาะห้องฉุกเฉิน

ที่ผ่านมาเทคโนโลยี 3จี และ 4จี ได้จุดประกายให้เกิดไอเดียใหม่ๆ ทว่าเมื่อนำไปปฏิบัติจริงยังไม่ค่อยตอบโจทย์ แต่สำหรับ 5จี เมื่อทดสอบแล้วพบว่าสามารถตอบสนองทั้งด้านความเร็ว ลดความหน่วง ทั้งยังลดข้อจำกัดด้านการสื่อสารด้วย

โครงการดังกล่าวทางรพ.คาดหวังว่าจะสามารถทำให้ความหนาแน่นของผู้ป่วยระดับ 4 และ 5 ลดน้อยลง สอดคล้องไปกับนโยบายของกรมการแพทย์ที่มุ่งนำเทคโนโลยีมาใช้ในระบบฉุกเฉินวิถีใหม่ เพื่อช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับทั้งผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงญาติของผู้ป่วย ลดความแออัดในโรงพยาบาล ช่วยให้แพทย์สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงที หวังด้วยว่าจะสามารถเป็นต้นแบบในการทำอีอาร์นิวนอร์มอลเพื่อให้โรงพยาบาลอื่นๆ นำไปปรับใช้ต่อไป”

โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี มีขอบเขตการดูแลประชากรในพื้นที่กรุงเทพฯ ตะวันออกประมาณ 2 ล้านคน แต่ละวันละมีผู้ป่วยมาใช้บริการประมาณ 3 พันคน รวมปีละประมาณ 8 แสนคน