กสทฯ ส่งแพลตฟอร์มชิงตลาดการศึกษาออนไลน์

กสทฯ ส่งแพลตฟอร์มชิงตลาดการศึกษาออนไลน์

กสทฯ จับมือพันธมิตรพัฒนาแพลตฟอร์มการศึกษาออนไลน์ ตอบโจทย์การเรียนวิถีใหม่ ย้ำจุดเด่นฟังก์ชันการสอนแบบอินเทอร์แอคทีฟ พร้อมระบบบริหารจัดการการเรียนการสอนเต็มรูปแบบ มุ่งเจาะกลุ่มสถาบันกวดวิชา โรงเรียนเอกชน และติวเตอร์อิสระ

นายวงกต วิจักขณ์สังสิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจดิจิทัล บมจ.กสท โทรคมนาคม กล่าวว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ตลาดการเรียนการสอนออนไลน์มีแนวโน้มการเติบโตที่ดี มีหลักสูตรหลากหลายให้ผู้เรียนได้เลือกเรียนในลักษณะออน ดีมานด์ และด้วยในสภาวะที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทำให้จำเป็นต้องมีการสร้างแพลตฟอร์มที่มีประสิทธิภาพสูงมารองรับ แต่ที่ผ่านมา การเรียนออนไลน์ส่วนใหญ่เป็นการสอนแบบสื่อสารทางเดียวที่ผู้สอนบันทึกการสอนไว้ล่วงหน้า ผู้เรียนไม่สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับผู้สอนได้ ซึ่งอาจจะไม่เหมาะกับการเรียนการสอนในบางวิชาที่ผู้เรียนต้องการคำแนะนำหรือคำปรึกษาจากผู้สอนในขณะที่เรียน ในขณะที่การเรียนการสอนออนไลน์แบบอินเทอร์แอคทีฟ มักใช้แพลตฟอร์มห้องประชุมออนไลน์ เช่น zoom, skype ซึ่งช่วยให้นักเรียนสามารถสามารถสนทนากับครูได้ แต่ระบบการประชุมออนไลน์ทั่วไป ยังขาดเครื่องมือสนับสนุนด้านการเรียนการสอนโดยตรง

ดังนั้น กสทฯจึงพัฒนาระบบ Aculearn Online เพื่อให้เป็นแพลตฟอร์มสำหรับการศึกษาออนไลน์แบบอินเทอร์แอคทีฟเต็มรูปแบบ สามารถรองรับอุปกรณ์ทั้งคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟน โดยระบบมีฟังก์ชันต่าง ๆ ช่วยอำนวยความสะดวกทั้งผู้เรียนผู้สอน เช่น ระบบจัดการเอกสารประกอบการเรียน ระบบจัดการตารางสอน ระบบฐานข้อมูลผู้เรียนผู้สอน ระบบการมอบหมาย/ส่งการบ้าน เป็นต้น โดยระบบถูกพัฒนาขึ้นบนคลาวด์ ช่วยให้โรงเรียน สถาบันกวดวิชา หรือ ผู้สอนทั่วไปสามารถเปิดคอร์สการเรียนการสอนออนไลน์เต็มรูปแบบใกล้เคียงการสอนในห้องเรียนจริงมากที่สุด ช่วยลดค่าใช้จ่ายของทั้งผู้เรียนและผู้สอน ไม่ต้องเสียต้นทุนค่าเช่าสถานที่เพื่อเป็นห้องเรียน ทำให้สามารถคิดค่าเรียนที่ต่ำลงได้ ในขณะที่ผู้เรียนเพียงใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนสามารถเชื่อมต่อเข้าถึงห้องเรียนผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันได้อย่างสะดวก

เขา เปิดเผยว่า ตลอดปีที่ผ่านมา กสทฯได้ร่วมกับสมาคมการศึกษาและเรียนรู้อย่างอิสระเพื่อความยั่งยืน (AILES) ซึ่งมีสมาชิกเป็นกลุ่มสถาบันกวดวิชา ติวเตอร์ และ สถาบันการศึกษาภาคโรงเรียนเอกชน ทำการทดสอบระบบจนปัจจุบันแพลตฟอร์มมีความพร้อมกว่า 90% และกำลังเตรียมขยายการทดสอบการให้บริการกับสถาบันการศึกษา 10 แห่งที่แสดงความสนใจเข้ามาเพื่อเตรียมเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการภายในไตรมาส 3 ของปีนี้ โดยช่วงแรกจะเน้นการให้บริการกับสถาบันกวดวิชา ก่อนจะขยายต่อไปยังโรงเรียนเอกชน มหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษาอื่น ๆ รวมถึงติวเตอร์อิสระต่อไป

“ในอนาคตหากระบบการศึกษาออนไลน์ได้รับการพิสูจน์ว่าสามารถเสริมหรือทดแทนการเรียนในห้องเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาจจะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐมากขึ้นและยกระดับเป็นวิถีใหม่ของการจัดระบบการศึกษาของประเทศที่ให้ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่ดีและต้นทุนต่ำ ซึ่ง กสทฯเชื่อมั่นว่าระบบดังกล่าวจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยผลักดันให้เกิดการเรียนการสอนออนไลน์ที่มีคุณภาพสอดรับกับนิว นอร์มอลที่เกิดขึ้น"